posttoday

เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดทาง พระบรมวงศานุวงศ์เข้าสู่การเมือง

24 กุมภาพันธ์ 2562

การเข้าสู่การเมืองของเจ้านายราชสกุลมิได้เป็นไปโดยไร้หลักเกณฑ์ แต่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

การเข้าสู่การเมืองของเจ้านายราชสกุลมิได้เป็นไปโดยไร้หลักเกณฑ์ แต่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

**********************

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นหลักแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากใช้มาร่วม 14 ปี ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ มากมาย กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากอำนาจ คณะราษฎรสายพลเรือน ซึ่งมี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำก็ขึ้นมามีอำนาจแทน โดยปรีดีได้ดำริที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นความพยายามของกลุ่มปรีดีที่จะหาทางประนีประนอม ลดข้อขัดแย้งกับทุกฝ่าย อาทิ กลุ่มเจ้านาย ขุนนางเก่ากับคณะราษฎร หรือแม้แต่สายทหารและพลเรือนภายในคณะราษฎรเอง

นอกจากการกำหนดให้มีพฤฒสภา ซึ่งถือเป็นวุฒิสภาชุดแรกของไทย จำนวน 80 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรอง ให้คำแนะนำปรึกษา และยับยั้งการใช้อำนาจของสภาผู้แทนโดยเฉพาะในด้านนิติบัญญัติ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญที่โดดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นี้คือ ในบทเฉพาะกาลมาตรา 90 และ 91 เกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกพฤฒสภาและ สส. ระบุว่า ให้ยกเว้นข้อห้ามตามมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475

มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง”

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22/2489 วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญัติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 วันที่ 12 เม.ย. 2489 ว่า

“...เหตุว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ก็ย่อมจะมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เหตุผลที่ให้ในกรรมาธิการรัฐธรรมนูญนั้น ก็คือ การที่ไม่มีมาตรา 11 ไว้ จะเป็นการทำให้เจ้านายทรงเล่นการเมือง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนไปสู่องค์พระมหากษัตริย์ได้ นั่นเป็นเหตุผลครั้งกระโน้น ต่อมาเหตุผลก็คล้ายๆ กันและได้คลายความสำคัญลงไปเป็นลำดับ”

“...เพราะฉะนั้นในการที่เราจะเสนอเหตุผลที่จะอ้างว่า การที่จะเอามาตรานี้ไว้เพื่อป้องกันพระเกียรติยศของเจ้านายก็คลายความสำคัญลงไป และก็เป็นความดำริของเจ้านายแต่ละองค์ที่จะทรงคิดเองว่าจะทรงเล่นการเมืองหรือไม่ เมื่อเล่นแล้วจะมีการกระทบกระเทือนประการใดก็เป็นไปตามวิธีทางการเมือง และเหตุผลประการสำคัญก็คือว่า หลักในเรื่องเสรีภาพในทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นการสมควรที่จะเขียนบังคับเอาไว้ เพราะเหตุว่าบรรดาเจ้านายต่างๆ นั้นก็เป็นประชาชนชาวไทยเหมือนกัน ด้วยเหตุผลหลายประการดังที่ได้แจ้งมานี้ คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่าไม่สมควรที่จะมีบทบัญญัติในทำนองมาตรา 11 นี้ไว้ จะจำกัดไว้ในมาตราใดก็ตาม แต่เห็นว่าไม่สมควรไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่นี้อีกต่อไป”

การยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ข้อห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เพียงฉบับเดียวเท่านั้น

เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดทาง พระบรมวงศานุวงศ์เข้าสู่การเมือง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ / ภาพ กรมศิลปากร

หลังการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนอิสริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2489

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า เหตุที่พระองค์วรรณดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ก็เนื่องจากเป็นอิสริยยศในพระอนุวงศ์ เป็นหม่อมเจ้าแต่กำเนิด แต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าในภายหลัง ไม่ใช่พระบรมวงศ์ ซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิดของพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวก็มีส่วนถูกต้อง เพียงแต่หลักสำคัญซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ คือไม่มีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญเช่นก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งซ่อมสส.พระนครศรีอยุธยา เดือน ส.ค. 2489 ม.จ.นิตยากร วรวรรณ ก็ได้รับเลือกตั้งแทน ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลาออก ขณะที่ ม.จ.นนทิยาวัด สวัสดิวัตน์ สส.ชลบุรี ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.ต่างประเทศในรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ช่วงเดือน ส.ค. 2489-พ.ค. 2490

เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดทาง พระบรมวงศานุวงศ์เข้าสู่การเมือง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ / ภาพจาก princechak.com

 

เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดทาง พระบรมวงศานุวงศ์เข้าสู่การเมือง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย / ภาพ wikipedia

หลังรัฐธรรมนูญ 2489 รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือฉบับชั่วคราวปี 2490 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 97 ก็บัญญัติให้ยกเว้นการห้ามตามมาตรา 11 รัฐธรรมนูญ 2475 ด้วยเช่นกัน โดยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วย ม.จ.เฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต ม.จ.ชัชวลิต เกษมสันต์ ม.จ.วัฒยากร เกษมศรี พล.ท.ม.จ.เสรฐศิริ กฤดากร ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ พล.ต.ม.จ.ปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล ม.จ.ดิศานุวัตร ดิศกุล ม.จ.สฤษดิ์เดช ชยางกูร ม.จ.พรปรีชา กมลาศน์ และ ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล ต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี ก็มีการจับสลากออกครึ่งหนึ่ง โดย ม.จ.วิมวาทิตย์ รพีพัฒน์ ได้รับแต่งตั้งเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง

ในส่วนของคณะรัฐมนตรี ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ (ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.คลังต่อเนื่องในช่วงปี 2490-2494

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เป็น รมว.เกษตราธิการ ช่วงปี 2490-2491

พล.ต.ม.จ.ปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล เป็น รมว.ต่างประเทศ ช่วงปี 2491-2492

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็น รมว.ต่างประเทศ ช่วงปี 2495-2500 และเป็น รองนายกรัฐมนตรีช่วงปี 2502-2512

และ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนอิสริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ช่วง พ.ค. 2517-ก.พ. 2518

จะเห็นได้ว่าการเข้าสู่การเมืองของเจ้านายราชสกุลมิได้เป็นไปโดยไร้หลักเกณฑ์ แต่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้เหตุผลการบัญญัติตัวบทจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งยุคสมัย ตามสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลง แต่หลักปฏิบัติคือการยึดตามกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหลักสำคัญที่บัญญัติไว้ในช่วงเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมาโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นั่นคือ “พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดทาง พระบรมวงศานุวงศ์เข้าสู่การเมือง พล.ต.ม.จ.ปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล / ภาพ wikipedia