posttoday

สมการใหม่หากยุบทษช. อยู่ที่'เพื่อไทย'จะแก้เกม

12 กุมภาพันธ์ 2562

จุดเปลี่ยนสำคัญหากมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากกระทำการที่ไม่บังควร อาจทำให้เครือข่ายระบอบทักษิณได้รับผลกระทบในการเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

จุดเปลี่ยนสำคัญหากมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) อันเนื่องจากกระทำการที่ไม่บังควร อาจทำให้เครือข่ายระบอบทักษิณได้รับผลกระทบในการเลือกตั้ง แต่กรณีนี้คนทางไกลอาจแก้เกมได้ เพราะมีพรรคเพื่อไทยเป็น "พรรคสำรอง" รองรับจำนวน สส.ที่อาจสูญเสียไปได้

เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรณีพรรคการเมืองใดทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดยกฎหมายกำหนดไว้ในวงเล็บสองที่ระบุว่า "การ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

เจษฎ์ กล่าวว่า สิ่งที่หมายถึง "อาจ" ก็ต้องเข้าไปดูในประกาศพระราชโองการสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ระบุไว้ว่า "การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" ส่วนนี้อาจตีความได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสำนักงาน กกต.ต้องพิจารณาดำเนินการ ส่วนจะดำเนินการอย่างไรขึ้นอยู่กับทาง กกต.ต่อไป

"เขาให้นายทะเบียนก็คือเลขาธิการ กกต. จากนั้นส่งต่อให้กับทางคณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นแล้วว่ายุบก็คือยุบ ไม่ยุบก็คือไม่ยุบ ทั้งนี้ควรเป็นการพิจารณาก่อนการเลือกตั้งดีที่สุด" นักวิชาการด้านกฎหมายฯ กล่าว

สำหรับจุดเปลี่ยนทางการเมืองหลังจากนี้ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ว่าจุดเปลี่ยนของพรรค ทษช.มีอยู่แน่นอน ต้องดูว่าถ้า ทษช.ยังเดินต่อไป คะแนนที่ประชาชนจะเลือกอาจลดน้อยลงไปหรือไม่  โดยแยกวิเคราะห์ได้ 2 ทาง 1.อาจมีคะแนนตีกลับความรู้สึกของประชาชนที่สนับสนุน ทษช.ที่รู้สึกว่าอาจผิดหวัง 2.มีความรู้สึกว่ายิ่งต้องสนับสนุนพรรคต่อไป ซึ่งนั่นมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทางในกรณีที่ ทษช.ยังอยู่

นักวิชาการด้านกฎหมายฯ กล่าวว่า ส่วนกรณีหากพรรค ทษช.ถูกยุบก็ไม่ต้อง พูดถึงพรรคนี้แล้ว ประชาชนอาจเบนทิศทางไปพูดถึงพรรคการเมืองอื่นที่เป็นเครือข่ายของพรรคเดิมว่าจะเป็นอย่างไร อาจเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือประชาชนไม่เอา ไม่ให้การสนับสนุนแล้วเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ และอีกทางคือแบบนี้ยิ่งต้องสู้ต้องให้คะแนนพรรคการเมืองนี้ โอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทางเช่นกัน เพราะเมื่อเลือกพรรค ทษช.ไม่ได้ ก็ต้องไปเลือกพรรคการเมืองในกลุ่มเครือข่ายแทนได้

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการ ผู้ชำนาญการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากก่อนหน้านี้ที่มีชื่อของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. ทำให้กระแสของพรรคดีขึ้นเห็นได้จากการส่งผู้สมัคร สส.เพิ่มจาก 150 คน เป็น 175 คน แต่พอหลังมีพระราชโองการกระแสก็ลดลง และเมื่อไม่มีการเสนอชื่อนายกฯ ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน ยังไม่รวมกับสถานภาพความไม่แน่นอนของพรรคที่สุ่มเสี่ยงจะถูกยุบพรรคอีก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีการไม่มีอยู่ของพรรค ทษช.ย่อมส่งผลต่อทิศทางการเมืองและการจับขั้วกันในอนาคตโดยเฉพาะกับ 100 เขตของพรรค ทษช.ที่พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร หากคำนวณดูจากเลือกตั้ง 2554 จะเป็นฐานเดิมของเพื่อไทย 3 ล้านคะแนน หรือ 40-50 ที่นั่ง ซึ่งเชื่อว่าจะกระจายไปยังฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์น้อยกว่าฝั่งกลุ่มที่เรียกตัวเองฝ่ายประชาธิปไตย อย่างเสรีรวมไทย เพื่อชาติ อนาคตใหม่

สติธร กล่าวว่า ในแง่ของความเสี่ยงที่อาจเป็นเหตุให้ยุบพรรค ทษช.ได้นั้น หากพรรคยังเลือกที่จะสู้เต็มตัวแล้วในอนาคตเกิดไปถูกยุบทีหลัง ก็อาจกระทบกับคะแนนที่ได้ไม่ว่ากรณีชนะได้ที่หนึ่งในเขตเลือกตั้งหรือได้ที่สองที่สาม ซึ่งจะทำให้คะแนนตรงนั้นสูญหมด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับขั้วการเมืองที่ตัวเองสนับสนุน ดังนั้นอาจต้องยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ มองเป้าหมายถอนตัวเองออกไป

ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีสมมติหากมีการยุบพรรค ทษช. ย่อมทำให้ตัวแสดงในการแข่งขันหายไปร้อยกว่าคน ขณะที่พรรคที่หายไปก็จะกระทบกับพรรคพันธมิตร รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล และการต่อรองทางการเมือง ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยต้องอ่อนกำลังลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนจะทำให้เกิดกระแสตีกลับคนหันไปเลือกพรรคเพื่อไทยมากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้อาจต้องไปดูต่อว่าคำอธิบายเรื่องการยุบพรรคนั้นสมเหตุสมผลแค่ไหน รวมทั้งต้องดูจังหวะเวลาของการยุบพรรค ถ้ายุบก่อนเลือกตั้งก็อาจเกิดกระแสตีกลับได้ แต่ถ้ายุบหลังเลือกตั้งก็คงจะไม่เกิดกระแสเห็นใจ แต่คนที่ปวดหัวก็คือ กกต. เพราะคะแนนที่ประชาชนลงคะแนนแล้วจะคิดอย่างไร

ศ.ไชยันต์ กล่าวว่า กรณีการยุบพรรคก็อาจทำให้ฝ่ายเพื่อไทยได้คะแนนน้อยลงและทำให้ฝั่งตรงข้ามได้คะแนนมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยว่าจะแก้เกมอย่างไรให้ดึงคะแนนส่วนนั้นกลับมาได้ ไม่กระจายไปยังฝั่งตรงข้าม เพราะกรณีพรรคที่ถูกยุบไปนั้นแต่คะแนนเสียงของ ทษช.ในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่ อยู่ที่ว่าจะดึงกลับมาได้แค่ไหน เพราะคนกลุ่มนี้ก็คงไม่หันไปเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา