posttoday

"มหาวิทยาลัย"ต้องมุ่งตลาดออนไลน์ หนีวิกฤตยุคเปลี่ยนผ่านดิสรัปชั่น

04 กุมภาพันธ์ 2562

มหาวิทยาลัยไทยจำเป็นต้องผลิตเนื้อหาให้รองรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป

มหาวิทยาลัยไทยจำเป็นต้องผลิตเนื้อหาให้รองรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป

***************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ปัญหาจำนวนผู้เรียนที่ลดลงจนที่นั่งเรียนเหลือจากการสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ถึง 1.2 แสนที่ ซึ่งจะมีผลลัพธ์ตามมา คือ คณะวิชาของมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นแรงดึงดูด จะไม่ได้ตัวเลขผู้เข้าเรียนตามเป้าที่วางไว้ และจะทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งผลิตคนไม่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานยุคใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก

พฤติกรรมของการเรียนส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปจากอดีต คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เลิกยึดติดกับวุฒิการศึกษาจากสถาบันมีชื่อ เพราะเห็นแล้วว่าการเรียนรู้หรือความรู้ที่นำไปใช้งานจริง ไม่จำเป็นต้องมาสถาบันการศึกษา ความรู้หลายเรื่องสามารถแสวงหาได้รอบตัว อย่างไม่จำกัดเวลาสถานที่ จึงหันไปเรียนหลักสูตรที่จบง่าย พึ่งพาการเรียนรู้จากโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะตรงกับความต้องการ ค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่สูง รวมถึงกรณีที่มีบริษัทเอกชนเริ่มหาทางออกให้ตัวเอง จากที่พบว่านักศึกษาที่จบใหม่ไม่มีคุณภาพ ขาดคุณสมบัติที่ต้องการ ทำงานไม่เป็น จึงหันไปผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนเอง

แน่นอนว่า ยังมีปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดกลายเป็นคำเตือนให้สถาบันอุดมศึกษาปรับตัวแข่งกับเวลา โดยเฉพาะของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแรงเหวี่ยงของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ซึ่งหากพุ่งเป้าข้อสงสัยไปที่ศักยภาพและเงื่อนไขที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ก็น่าสงสัยว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ จะมีความพร้อมแค่ไหน

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับยุคสมัยที่หลายสิ่งจะถูกดิสรัปชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี ที่ใช้ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์รุกเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ แทนที่มนุษย์ ซึ่งเห็นชัดแล้วว่าเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ใครจะคาดการณ์ได้หรือเปลี่ยนแปลงแบบชนิดหักศอก

“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก อย่างแทบจะไม่เปิดโอกาสให้ปรับตัวแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปด้วยซ้ำไป แม้บุคลากรในแวดวงอุดมศึกษาของประเทศไทยจะเก่ง มีความสามารถหลากหลายไม่แพ้ใครในโลก แต่เมื่อไม่ได้ปรับตัวมานานก็จะเกิดปัญหา ต้องหันไปดูอย่างสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวทุกด้านพร้อมๆ กัน และทำล่วงหน้าเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 10 ปี อย่างเรื่องของการเรียนการสอนออนไลน์ วันนี้เราอาจจะมีความเร็วอินเทอร์เน็ตพอๆ กับมหาวิทยาลัยในประเทศชั้นนำ แต่การผลิตเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ยังช้ากว่าเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ

แต่การผลิตเนื้อหาให้รองรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ทันที มีข้อแตกต่างจากการสอนในชั้นเรียน การสะกดจิตผู้เรียนให้อยู่กับเนื้อหาหน้าจอเป็นเรื่องยาก ต้องมีเนื้อหาน่าสนใจ กระชับ มีภาพเคลื่อนไหว มีการนำเสนอที่ผ่านการคิด ออกแบบ จัดการมาแล้ว อาจารย์ก็ต้องนำเสนอสิ่งที่สอนอย่างน่าสนใจ และต้องยอมรับว่าตอนนี้เรามีเนื้อหาแบบที่ว่ามาไม่เพียงพอ” ประธาน ทปอ. กล่าว

อธิการบดี สจล. กล่าวอีกว่า หากจะเปิดหลักสูตรออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ เรียนจบ มีใบปริญญารับรอง เป็นเรื่องที่ทั้งมหาวิทยาลัยและรัฐบาลต้องออกมาแสดงความพร้อมให้เห็นร่วมกัน

รัฐจะต้องพร้อมรับรองปริญญาจากการเรียนออนไลน์ และมหาวิทยาลัยต้องพิสูจน์ทุกองคาพยพของตัวเองที่มี ให้สังคมเห็นว่า พร้อมที่จะผลิตเนื้อหาเพื่อตอบโจทย์โลกออนไลน์ร่วมกัน ลำพังอธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรืออาจารย์เพียงบางคนผลักดันให้เกิดขึ้นไม่ได้ อาจจะต้องเห็นความสำคัญในการผลิตเนื้อหาออนไลน์ซึ่งแม้จะยากก็ต้องทำ เชื่อว่าในปัจจุบัน หลายแห่งเริ่มระบุไว้ในคุณสมบัติในการรับอาจารย์ใหม่ๆ มาสอนว่าต้องผลิตเนื้อหาออนไลน์ได้ด้วยซ้ำไป และอย่าลืมว่าในอนาคตอันใกล้ มหาวิทยาลัยไทยที่เหลือรอดจากวิกฤตผู้เรียนลดลง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าสู่การแข่งขันการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบและจะไม่ได้แข่งกันเองในประเทศอีกต่อไป แต่จะต้องแข่งกับการสอนออนไลน์ระดับโลกที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด” สุชัชวีร์ กล่าว

ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ไม่ว่ามหาวิทยาลัยไทยพร้อมหรือไม่ แค่ไหนเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ แต่โลกออนไลน์ก็ไม่หยุดและกำลังสร้างแรงกดดันด้วยการผลิตเนื้อหา หลักสูตรต่างๆ ออกมายึดพื้นที่ตลาดการศึกษาออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างดังกล่าวพบได้จากการเปิดการสอนหลักสูตรออนไลน์ของเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “มาสเตอร์คลาส” เว็บไซต์ดังกล่าวเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ โดยจ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงในทุกวงการมาสอน ผู้เรียนเสียค่าลงทะเบียนเพียงปีละ 180 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถเรียนได้หลายร้อยหลักสูตร เรียนการแสดงจากนักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังอย่าง ซามูเอล แอล. แจ็กสัน เรียนการกำกับจากประสบการณ์การทำงานของผู้กำกับหนังชื่อดังอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี หากอยากเรียนรู้เรื่องเทคนิคการเล่นเทนนิส ก็ได้เรียนกับนักเทนนิสระดับโลก อย่าง เซเรนา วิลเลียมส์ อยากเรียนดนตรี เรียนกีตาร์ ผู้ที่ถูกเชิญมาสอนก็เป็นนักดนตรีระดับโลกอย่าง คาร์ลอส ซานตานา เรียนทำอาหารจากเชฟชื่อดัง กอร์ดอน แรมซี่

“ผมลองลงทะเบียนเข้าไปเรียนหลักสูตรนี้แล้ว มีมืออาชีพ บุคคลมีชื่อเสียงมาสอน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทุกหลักสูตรที่อยากเรียน และสอนอย่างสนุกสนานน่าติดตาม ทำกันขนาดนี้ แบบนี้มหาวิทยาลัยที่ไหนจะเหลือ วันนี้ใครเข้าเว็บไซต์ MIT จะเห็นเลยว่าหน้าแรกมหาวิทยาลัยเขาโฆษณาเชิญชวนให้เรียนออนไลน์ แบบนี้เราจะอยู่อย่างไรถ้าไม่คิดสู้กับเขา ยังไม่ยอมรับว่าถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ประธาน ทปอ. กล่าว