posttoday

"ลดใช้รถส่วนตัว" ไม่เสี่ยงฝุ่นพิษ เลี่ยงปัญหาสุขภาพ

16 มกราคม 2562

นักวิชาการแนะการลดใช้รถยนต์ในเมืองหลวงเป็นอีกหนึ่งทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

นักวิชาการแนะการลดใช้รถยนต์ในเมืองหลวงเป็นอีกหนึ่งทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

***************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

จากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ไมครอน เริ่มทำลายสุขภาพประชาชนและกำลังขยายวงกว้างกระทบกับสุขภาพคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนกำลังแก้ปัญหา จนมาสู่เวที “จุฬาฯ ฝ่าวิกฤต รับมือฝุ่น PM 2.5” เพื่อหาทางออกปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มี 2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว คือ 1.การเผาไหม้ เช่น คมนาคม ภาคการขนส่ง อุตสาหกรรม ฯลฯ และ 2.ปัจจัยธรรมชาติ ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชน

สำหรับปัจจัยธรรมชาติ คือเรื่องของ “สภาพอากาศปิด” ที่เราไม่สามารถควบคุมจัดการได้ รวมถึงสภาพอากาศที่ปิดจึงเกิดเป็นวิกฤต ทำให้ไม่สามารถระบายในทิศทางแนวดิ่งได้ เนื่องจากสภาพเมืองที่มีตึกสูงจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้การระบายของอากาศไม่สะดวก

ยอมรับว่าเรื่องของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้วสาเหตุจราจร เผาไหม้ สภาพอากาศปิด แต่เราเพิ่งมาให้ความสนใจกับปัญหานี้ ผนวกกับหลักฐานในการตรวจเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราตื่นตัวกับปัญหาฝุ่นละอองขึ้นมา มาตรการทางออกควรมีมาตรการล่วงหน้า เนื่องจากต้องใช้เวลานาน ถ้ารถยนต์ 10 ล้านคันออกจากกรุงเทพฯ ปัญหาฝุ่นละอองอาจลดลงรวดเร็วเหมือนช่วงปีใหม่”ศิริมา กล่าว

ศิริมา ระบุด้วยว่า การทำฝนเทียมสามารถช่วยได้แต่ต้องอาศัยความชื้น ส่วนการใช้เครื่องฉีดน้ำต้องฉีดให้เป็นละอองฝอยที่เล็กกว่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ทั้งนี้หากต้องการให้ฝุ่น 60 ไมครอนลดลงเหลือ 50 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต ต้องใช้เครื่องฉีดน้ำ 3 หมื่นตัวพร้อมกันจึงจะลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้

กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ อธิบายว่า ข้อถกเถียงที่ว่าโรงไฟฟ้าเป็นต้นกำเนิดฝุ่นละอองอาจไม่ใช่ขนาดนั้นทั้งหมด ทั้งนี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ใช้กระบวนการเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหลัก มีผลกระทบเรื่องฝุ่นละอองไม่มาก ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่พบมากและอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่กลุ่ม “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่ดำเนินการโดยการเผาไหม้ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคกลาง ตรงนี้น่าเป็นห่วงมากควรมีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่จำนวนมากต้องมีการเข้าไปตรวจสอบว่ามีการดักจับฝุ่นด้วยหรือไม่

"ลดใช้รถส่วนตัว" ไม่เสี่ยงฝุ่นพิษ เลี่ยงปัญหาสุขภาพ

มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ระบุว่า ภาคการขนส่งมีผลกระทบต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่บรรยากาศช่วงนี้ตรงกับช่วงสภาพอากาศปิด ผสมกับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเก่ามาก ยิ่งเฉพาะกลุ่มรถเครื่องยนต์ดีเซลที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดฝุ่นละอองได้

การแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น เช่น ในยุโรป ที่พยายามยกมาตรฐานให้สูงขึ้น ถึงน้ำมันยูโร 5-6 แต่ประเทศไทยอยู่ที่ ยูโร 4 เท่านั้น คาดว่าต้องใช้เวลานานพอสมควรในการเปลี่ยนแปลงเหมือนยุโรป แต่สิ่งที่ภาครัฐทำได้คือรณรงค์ให้ประชาชนเดิน ขี่รถจักรยาน ส่งเสริมการใช้รถสาธารณะ โดยสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ออกมาตรการที่ส่งเสริมเกิดการใช้ เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อเข้าสู่เดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปีจะเกิดปัญหาแบบเดิม

ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายกับรถควันดำไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอย่างจริงจัง แม้จะจับปรับ แต่ยังไม่มีมาตรการระยะยาวมาแก้ไข เรื่องการลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการเผาไหม้ลงได้ก็ไม่คืบหน้า แล้วเราจะทำอย่างไร ปัจจุบันการรณรงค์เรื่องการใช้บริการระบบรางที่มีอยู่อาจยังไม่สมบูรณ์ต้องเชื่อมโยงให้ครอบคลุม ส่วนระบบขนส่งทางรถเมล์พบว่ายังไม่น่าใช้บริการ ที่สำคัญรถเมล์ก็มีปัญหาเรื่องการเผาไหม้อย่างมาก ต้นตอทำให้เกิดฝุ่นละออง ทั้งนี้ มาตรการให้หยุดเรียนถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเด็กวัยเรียน

นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงผลกระทบทางสุขภาพว่า ระยะสั้นจะเกิดอาการแสบ เคือง แดง ผื่น คัน เจ็บคอ ไอ ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ เสี่ยงต่อปอดอักเสบอย่างมาก ฝุ่นจะเข้าไปทำลายระบบภูมิป้องกันของทางเดินหายใจ ทำลายสายพันธุกรรมของเซลล์ หากระบบซ่อมแซมผิดพลาดจะเกิดเป็นมะเร็งได้ ที่น่าห่วงคือกลุ่มทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อเรื่องการพัฒนาการทางสมอง ปอด ของทารกได้เช่นกัน