posttoday

"เฟกนิวส์และเฮตสปีช" วิชามารของฤดูเลือกตั้ง

02 มกราคม 2562

ข่าวปลอม และ ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง กำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างภัยทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง

ข่าวปลอม และ ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง กำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างภัยทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง

*****************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ผู้ที่ท่องโลกออนไลน์เป็นประจำ ย่อมเคยสัมผัสกับ เฟกนิวส์ (Fake News) หรือข่าวปลอม และเฮตสปีช (Hate Speech) หรือการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง ไม่มากก็น้อย

แม้ความสนใจของผู้คนในทั้งสองสิ่งในโลกออนไลน์ อาจจะมีอยู่ในระยะสั้นๆ เหมือนความสนใจในข่าวสารทั่วๆ ไป แต่ผลลัพธ์ที่ทั้งสองสิ่งฝากไว้นั้นชัดเจน ว่าใครที่เคยตกเป็นเหยื่อของทั้งสองสิ่งที่กล่าว ย่อมรู้ถึงพิษสงแห่งการทำร้ายทำลายดี และเมื่อทั้งสองสิ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง ทั้งสองสิ่งก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือ สร้างภัยทางการเมืองอย่างแน่นอน

สมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ที่ผ่านมาทั้งเฟกนิวส์ และเฮตสปีช ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่า ถือเป็นภัยของสังคมยุคใหม่ โดยปกติโลกออนไลน์นั้น สามารถใช้เป็นทั้งทางบวกทางลบได้ ซึ่งทางบวกคือใช้สื่อสารกับประชาชน

ขณะที่ในเชิงลบมักจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า เป็นวิชามาร ก็คือการเผยแพร่สิ่งที่เป็นข้อมูลเท็จหรือข้อความที่ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง กับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

“วิธีการดังกล่าวก็สามารถกระทำได้โดยง่ายและจับมือใครดมไม่ค่อยได้ เพราะผู้เผยแพร่ข่าวมักจะเป็นแหล่งที่ไม่เปิดเผยไม่สามารถตรวจสอบกลับไปได้ว่าเป็นใคร แม้กระทั่งการโพสต์ในเฟซบุ๊ก บางครั้งก็ไม่สามารถตรวจสอบกลับไปได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ เพราะว่าไม่ได้ใช้ชื่อจริง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโพสต์จากที่ไหนในโลก นี่คือปัญหาที่จะจัดการกับแหล่งข่าวที่เป็นแหล่งข่าวเท็จหรือแหล่งข่าวที่มุ่งให้เกิดความเกลียดชัง” อดีต กกต.กล่าว

สมชัย ระบุอีกว่า ในช่วงใกล้การเลือกตั้งจะมีปรากฏการณ์จากทั้งสองสิ่งเกิดขึ้นมากมาย เพราะว่าคนก็จะรักชอบพรรคการเมืองและนักการเมืองแตกต่างกัน รักก็จะเชียร์ ไม่ชอบก็เขียนข้อความที่ใส่ร้ายและทำให้เกิดผลเสียกับนักการเมืองนั้นหรือผู้สมัครคนนั้น

ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่า กกต.จะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์จากสองสิ่งได้ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้เองว่าใครเป็นผู้เผยแพร่ข่าว สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการห้ามบุคคลที่จะแชร์ต่อ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระจายข่าวสารออกไปและจำกัดวงของความเสียหายไม่ให้แพร่กระจายออกไป

“ทีนี้ก็จะมีกฎหมายที่จะไปปรามผู้แชร์ เพียงแต่ว่าการจะดำเนินการทางกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องกระทำอย่างไม่เลือกข้าง ไม่ใช่มุ่งไปจัดการแต่คนที่แชร์ข่าวที่เป็นผลเสียต่อพรรคหนึ่งแต่ก็ไม่ได้จัดการกับอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นการจัดการก็ต้องจัดการอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า

ในต่างประเทศก็กำลังเกิดปัญหา ไม่สามารถป้องกันทั้งสองสิ่งได้ หลายต่อหลายครั้งก็ทำให้ผลของการเลือกตั้งเปลี่ยนไปในอีกทิศทางหนึ่ง โดยกลับมาเสียใจกันภายหลังว่าไม่น่าเชื่อข่าวปลอม ยกตัวอย่างเช่น การแยกตัวจากอียูของประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกว่า เบร็กซิต ที่มีเฟกนิวส์ออกมามากมายและทำให้คนอังกฤษโหวตออกมาว่าต้องแยกจากอียู แล้วความจริงต่างๆ มาถูกเปิดเผยว่า หลายเรื่องไม่เป็นจริง ก็ทำให้คนอังกฤษรู้ว่าการลงคะแนนเสียงภายใต้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เราเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้” สมชัย กล่าว

สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น กกต.จะมีบทบาทสำคัญมากในการรับมือกับ เฟกนิวส์ และเฮตสปีช ขณะที่สื่อทั้งหลายก็จะมีบทบาทมากเช่นกัน แต่ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวสื่อหลัก เพราะมีตัวตนผู้รับผิดชอบ
และมีโทษที่ค่อนข้างชัดเจน

“ความแยบยล เฟกนิวส์ และเฮตสปีช ที่ถูกส่งผ่านทางความเป็นสังคมออนไลน์นั้นน่ากลัวตรงที่ เหมือนคุณไปดูรองเท้ายี่ห้อหนึ่ง แล้วระบบก็จดจำพฤติกรรมการท่องโลกออนไลน์ของคุณ หลังจากนั้นคุณไปอ่านเรื่องอื่นๆ ก็จะเห็นโฆษณารองเท้าโผล่ออกมาข้างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นในสื่อแบบโบราณที่เป็นกระดาษ และเมื่อมันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องระวัง เพราะกฎหมายที่ใช้จัดการเรื่องนี้ มีอยู่ก็แค่เพียงพอรับมือกับปัญหาในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับปัจจุบันเพราะปัญหาเริ่มแยบยลกว่าวิธีกำกับดูแล

อย่างในสหรัฐอเมริกาที่ชื่นชมประชาธิปไตยนี่พอมีคนใช้วิธีนี้มาเป็นประธานาธิบดีแล้วมันไม่ได้เอาลงกันได้ง่ายๆ มันต้องมีการสอบสวน ตามหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม พิสูจน์ข้อเท็จจริงออกมา กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งก็ดำรงตำแหน่งไปเกินครึ่งสมัยแล้ว” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าว

สุรัตน์ กล่าวอีกว่า เฟกนิวส์ และเฮตสปีชนั้น ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือที่แยบยลจนสามารถทำให้คนเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้จริงๆ และผลิตซ้ำเนื้อหาตอกย้ำ การรับรู้อย่างสุดขั้ว จนที่ผ่านมาสามารถทำให้สังคมแตกแยกให้เห็นแล้วทั่วโลก และต้องไม่ลืมว่า นักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ ข่าวปลอม และวาทะความเกลียดชัง จนทำให้ได้มาซึ่งอำนาจ ขณะที่ประชาชนเองก็ไม่ทันฉุกคิดว่า ประชาธิปไตยที่คิดว่าจะได้มาแล้ว ท่ามกลางกลไกของสองสิ่งนี้ อาจจะถูกบิดเบือนไปจากเจตจำนงเดิมอย่างแนบเนียน n