posttoday

'จาตุรนต์'ถอดรหัสเลือกตั้งปี'62 ครั้งนี้จะเหนือความคาดหมาย

30 ธันวาคม 2561

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยรักษาชาติ ถอดรหัสเลือกตั้งครั้งนี้จะเหนือความคาดหมาย

โดย...ปริญญา ชูเลขา
        
นับถอยหลังศึกเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 เข้มข้นมาทุกขณะ จาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ยอมฝืนใจเดินจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อมานำคนรุ่นใหม่ไฟแรงสายพันธุ์ "พรรคไทยรักไทย" รุ่นจิ๋ว ประกาศจุดยืนว่า ทษช.ขออาสาเป็นหัวหอกฝ่ายประชาธิปไตยที่จะสกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

แม่ทัพใหญ่แห่ง ทษช. พูดถึงกลยุทธ์และแนวทางต่อสู้ของ ทษช.ที่วางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งไว้ 3 เรื่อง คือ 1.ทษช. คือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย 2.ทษช. ต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ 3.ทษช. คือ สายพันธุ์แท้ของพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ที่จะกลับมาผงาดชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์อีกครั้งในยุคที่ ทรท.เคยประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนทุกระดับ

จาตุรนต์ กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายหลายอย่าง แม้จะยังประเมินไม่ได้ว่าแต่ละพรรคจะได้ที่นั่งเท่าไร เพราะต้องรอดูหลังวันเปิดรับสมัคร สส.เขต และบัญชีรายชื่อก่อนว่าแต่ละพรรคส่งใครเข้าประกวด จึงจะประเมินได้ แต่สิ่งสำคัญขณะนี้ คือ ทำให้ประชาชนรู้จัก เพราะเป็นพรรคใหม่ สำหรับจุดขายของพรรคที่จะทำให้ได้รับคะแนนเสียง คือ 1.ทษช.รวมบุคลากรที่หลากหลายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และความทันสมัยมีความรู้ความสามารถและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานบริหารมาเป็นกำลังหลักของพรรค

2.นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์จากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และ พรรคเพื่อไทย เดิมมาร่วมงาน จึงเป็นการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ และคนมีประสบการณ์ทางการเมืองสูงมาผสมผสานกัน ที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าพรรคการเมืองที่มี "สายพันธุ์ไทยรักไทย" มารวมกับคนรุ่นใหม่สามารถบริหารหรือทำนโยบายให้ประสบความสำเร็จ ดังเช่นที่นักการเมืองสมัยไทยรักไทยเคยสร้างปรากฏการณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้สำเร็จ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเทคะแนนเสียงให้อย่างถล่มทลาย จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะสามารถทำนโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศไว้กับประชาชนได้จริง

"อีกจุดขายหนึ่ง คือ ความชัดเจนของ ทษช.ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.หรือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะพรรคต้องการสร้างประชาธิปไตยขึ้นใหม่ และระหว่างทางไปถึงวันเลือกตั้ง เมื่อประชาชนได้รู้ถึงความชัดเจนของ ทษช.ย่อมจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ" จาตุรนต์ กล่าว

สำหรับกลยุทธ์ในการเจาะพื้นที่เพื่อเอาชนะในการแข่งขันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ ลักษณะภูมิศาสตร์ทางการเมืองคล้ายคลึงกัน คือ ประชาชนนิยมเลือกพรรค เพราะกระแสมีความสำคัญมาก จึงต้องเน้นสร้างความนิยมต่อพรรค โดยจะสร้างความตระหนักรู้ถึงตัวผู้สมัคร นโยบายพรรค หรือว่าที่นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพรรคเพื่อไทย โดยการจัดส่งผู้สมัคร สส.เขต หรือบัญชีรายชื่อ อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นและประเมินคู่แข่งในพื้นที่ ก่อนจะสรุปรายชื่อส่งให้คณะกรรมการสรรหาตัดสิน โดยจะส่งผู้สมัครให้มากที่สุด ยิ่ง ทษช.เป็นพรรคใหม่ การจะส่งให้ครบทุกเขตคงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราจะไม่ต้องการส่งผู้สมัคร "โนเนม" เพราะประชาชนจะตำหนิเอาได้

"การเลือกตั้งในอดีตไม่มีอะไรแน่นอน ผู้สมัครเก่า หรือพรรคเก่า จะได้รับการเลือกตั้งเสมอไป เช่น เพิ่งยุบสภาไป แต่พอเลือกตั้งใหม่กลับสอบตก 30% แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ห่างกันมากราวๆ 8 ปี ฉะนั้นจะไม่มีใครรู้ว่าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเก่าลงแล้วจะชนะหรือไม่ แม้ ทษช.จะมีอดีต สส.อยู่น้อยแต่ก็ว่าไม่แน่ เพราะขนาดอดีตนักการเมืองรุ่นเก๋าๆ ยังแพ้ให้กับนักการเมืองหน้าใหม่ ที่เรียกว่าปรากฏการณ์นกแล เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยเคยชนะเลือกตั้งต่อนักการเมืองรุ่นเก๋ามาแล้วทั้งแบบบัญชีรายชื่อและยกเขตมาแล้ว"  จาตุรนต์ กล่าวปัจจัยและเงื่อนไขที่ "จาตุรนต์" มั่นใจว่าจะทำให้ชนะการเลือกตั้ง คือ กระแสไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะอดีต สส.หรือนักการเมืองหน้าใหม่ไปสังกัดพรรคไหน เพราะขณะนี้การเมืองมีการแบ่งขั้วกันชัดเจน โดยการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หากบางพื้นที่ต้องแข่งกับ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกิดกระแสตีกลับจากนโยบาย ลด แลก แจก แถม มากๆ ด้วยการโยงพรรคเข้ากับนโยบายรัฐบาลด้วยการอาศัยโครงการแจกไม่อั้น จนเกิดกระแสตีกลับ ประชาชนปฏิเสธการกระทำแบบนี้ และเกิดกระแสไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ย่อมจะทำให้ตัวแทน ทษช.ชนะได้ จึงมั่นใจว่ากระแสไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทาง ทษช.ย่อมชนะแบบยกเขต หรือยกจังหวัดได้แน่นอน

หรือแม้แต่การแข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หากเกิดกระแสความเชื่อว่า ปชป.จะไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ถึงเวลานั้น ทษช.จะได้คะแนนมากขึ้น เพราะขณะนี้เกิดกระแสความต้องการรัฐบาลพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวแทน ดังนั้นในช่วงที่มีการเปิดรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี ประชาชนจะได้เรียนรู้ว่าจะเลือกแนวทางใด

"ตอนนี้ประเมินยาก เพราะไม่รู้ถึงพฤติกรรมการเลือกของประชาชน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้บัตรใบเดียว แต่พอประเมินได้ว่า ภาคเหนือ อีสาน และใต้ หรือ กทม. ประชาชนจะให้น้ำหนักกับกระแสพรรคมากกว่าตัวผู้สมัคร แต่ครั้งนี้มีอีกตัวแปรอีกอย่างที่น่าจับตา คือ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวชี้วัดผลเลือกตั้งด้วย" จาตุรนต์ กล่าว

จาตุรนต์ กล่าวว่า การเลือกตั้งในอดีตนับแต่วันรับสมัคร จนถึงวันเลือกตั้งจริงๆ อาจเกิดความแตกต่างคลาดเคลื่อนได้ไม่น้อย และครั้งนี้ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า แต่สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารกับประชาชนให้ดีว่าเศรษฐกิจที่หนักหนาอยู่ขณะนี้เกิดจากการบริหารผิดพลาดจากการเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ จึงไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ ยอดรายได้จากการท่องเที่ยวตกลง หรือการลงทุนในประเทศน้อยมาก โครงการลงทุนขนาดใหญ่ๆ ก็ล่าช้า ยิ่งเกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจายแพร่กว้างไปทั่ว ประชาชนจึงไม่มีรายได้และไม่มีเงินในกระเป๋าเดือดร้อนกันถ้วนหน้าไปหมด เพราะการปกครองแบบไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รัฐบาลเข้าสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจโดยอ้างความมั่นคง และกลับเห็นข้อเรียกร้องของประชาชนเป็นเรื่องความวุ่นวายและน่ารำคาญจนกระทั่งบริหารประเทศไปแบบผิดทิศผิดทาง

ที่สำคัญ เอื้อประโยชน์ต่อทุนขนาดใหญ่ด้วยการดึงเข้ามาร่วมโครงการรัฐ หรือให้โครงการใหญ่ๆ ของรัฐไปแบบง่ายๆ ปราศจากการแข่งขัน สภาพอย่างนี้ถ้าประชาชนรู้ว่าจะเลือกรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตย

"แม้จะชัดเจนระดับหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงว่าที่นายกรัฐมนตรี เว้นแต่จะเปลี่ยนใจ แต่หากลงจริงในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จะวางตัวอย่างไร ที่สำคัญถ้าประชาชนไม่สนับสนุนเกิดกระแสต้าน พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ ว่าควรพอได้แล้ว ยิ่งจากนี้ไป กระแสไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จะแรงกว่าและแรงมากขึ้นเรื่อยๆ"

จาตุรนต์ ฟันธงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีลักษณะเป็นการเลือกว่าจะให้รัฐบาลนี้อยู่ต่ออีกหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ โดยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้วจะต้องเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จากนั้นจะมีการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแต่ละพรรคว่า พรรคใดมีนโยบายดีกว่ากัน ที่จะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ โดยทุกพรรคย่อมจะเป็นพันธมิตรกัน คือ ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ ดังนั้นเชื่อว่าประชาชนจะเลือกพรรค เพราะเป็นพรรคที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และผนึกกำลัง กับนักการเมืองยุคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ที่ต้องสู้มายาวนาน รวมถึงการต่อสู้ในเกมนี้ แม้รู้ว่าเป็นกับดัก โดยจะอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจ ประชาชนย่อมจะเลือก ทษช.อย่างแน่นอน

จาตุรนต์ กล่าวปิดท้ายว่า เรื่องใหญ่วันนี้ คือเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว ดังนั้นกระแสว่าที่นายกรัฐมนตรีและพรรคการเมือง ทั้งสองอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน คนไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือ ประชาชนให้ความสำคัญพรรคการเมืองมากขึ้น และบวกรวมกับว่าที่นายกรัฐมนตรี สุดท้ายการเลือกตั้งจะไปขมวดรวมกันว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกหรือไม่ เหมือนกับการเมืองในหลายๆ ประเทศ คือ เลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นอยู่เดิมจะรักษาแชมป์ได้หรือไม่

"ตามคาดหมายและคาดหวังจากต่างประเทศ เมื่อคืนอำนาจให้ประชาชน จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากประชาชนมาบริหารประเทศ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะทำในสิ่งตรงกันข้าม ผิดจากความคาดหวังจากนานาประเทศ เพราะต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะถูกปกครองโดยกองทัพ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสิ่งที่นานาชาติไม่ให้การยอมรับ" จาตุรนต์ กล่าว