posttoday

"พรรคประชาชาติ เพื่อทุกชาติพันธุ์" เปิดใจ"วันมูหะมัดนอร์ มะทา"

24 ธันวาคม 2561

ส่องวิสัยทัศน์ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติที่หวังให้พรรคเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน และเป็นพรรคเพื่อคนทุกชาติพันธุ์

ส่องวิสัยทัศน์ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติที่หวังให้พรรคเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน และเป็นพรรคเพื่อคนทุกชาติพันธุ์

****************************

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่น่าจับตาไม่น้อยสำหรับพรรคประชาชาติ ภายใต้การนำของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรค ซึ่งสั่งสมประสบการณ์การเมืองมาอย่างโชกโชน อีกทั้งยังมีดีกรีถึงอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรชาวมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

วันนอร์ เท้าความความเป็นมาถึงการก่อกำเนิดพรรคว่า หลังจากปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งช่วงนั้นไม่มีพรรคการเมือง แต่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่และเปิดโอกาสให้ตั้งพรรคการเมือง ประชาชนในพื้นที่จึงมาหาตนกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค

“เพื่อความมั่นใจผมกับคุณทวีลองทำโพลดูว่า ถ้ามีการตั้งพรรคการเมืองใหม่กับพรรคการเมืองเก่า ประชาชนต้องการแบบไหน โดยเฉพาะ 3-4 จังหวัด รวมถึง จ.สงขลา มีความเห็นว่าควรตั้งพรรคการเมืองใหม่ น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่มากกว่า ซึ่งเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 60% กว่าๆ ที่เหลือไปนิยมพรรคเก่า เช่น ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และพรรคอื่นๆ”

หัวหน้าพรรค เล่าต่อว่า เลยลองตั้งพรรคและเชิญชวนผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา และอื่นๆ อีกหลากหลาย และมอบให้ พ.ต.อ.ทวี รับผิดชอบเรื่องนโยบายพรรค ว่าแนวโน้มถ้าพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นควรประกอบด้วยอะไรบ้างที่ไม่ใช่พรรคของ 3 จังหวัดภาคใต้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นพรรคของทั่วประเทศ

“ท่านทวีก็ระดมนักวิชาการจากหลายสถาบันชั้นนำของประเทศ โดยใช้เวลา 5-6 เดือน เพื่อจะเห็นพรรคการเมืองที่น่าจะเป็นทางออกใหม่ ไม่เหมือนพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว แต่อันใหม่ที่เราเห็นว่ามีพี่น้องประชาชนในประเทศนี้ยังตกสำรวจอยู่เยอะ เช่น คนชายขอบ ชาติพันธุ์ทั้งหลาย หรือพวกมีวัฒนธรรม ภาษาที่แตกต่าง ยังอยู่ชายขอบที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ”

อย่างไรก็ตาม พรรคจึงได้เน้นเรื่องดังกล่าว แม้กระทั่งชื่อพรรคก็เน้นว่า “ชาติ” ซึ่งเป็นของประชาชนที่มีความหลากหลาย และใช้หลัก “พหุสังคม” ไม่ว่าใครจะมาจากเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม เพื่อมาร่วมเป็นพลังสร้างชาติ นี่คือหลักการของพรรค

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นวันนอร์เห็นว่าจำเป็นเนื่องด้วยเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญซ่อนเงื่อน ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่มาก ถ้าไม่แก้จะเกิดปัญหาวิกฤตในด้านการปกครอง เช่น มาตรา 272 กำหนดว่าเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้สมาชิก 2 สภา แน่นอนมี สว.สนับสนุน 250 เสียง และไปเอา สส.เพียง 125 เสียง ก็ได้เป็นนายกฯ

นอกจากนี้ ถ้านายกฯ คนนั้นเสียงในสภาผู้แทนฯ ไม่เกินครึ่งหนึ่ง รัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ อภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเสนอกฎหมาย ต้องเสนอโดยสภาผู้แทนฯ จะเห็นว่าได้นายกฯ แต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ดังนั้น ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

“สว.ไม่น่าจะมายุ่งเกี่ยวกับการเลือกผู้บริหารประเทศ ควรจะเป็นผู้กลั่นกรองกฎหมาย ถ้าไม่แก้ไขจะมีปัญหาพอกพูน เมื่อมีปัญหาบ้านเมือง คือ ได้นายกฯแต่ไม่มีศักยภาพบริหารประเทศ แน่นอนการแก้ปัญหาไม่ว่าเป็นความสงบภาคใต้ เศรษฐกิจ ย่อมทำได้ลำบาก นี่เป็นเพียงมาตราเดียว แต่รัฐธรรมนูญนี้มีปัญหา 10 กว่ามาตรา”

วันนอร์ ขยายความต่อว่า แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนให้แก้ยาก เช่น ถ้ามีฝ่ายค้านเกินกว่า 10% ไม่เห็นด้วยก็แก้ไม่ได้ ทางออก คือ เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ยืนยันด้วยประชามติ 16 ล้านเสียง ก็ควรให้ประชาชนทำประชามติอีกครั้ง เพื่อถามว่าจะแก้หรือไม่ ถ้าประชาชนมีมติให้แก้ก็ดำเนินการตามแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือ ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและนักวิชาการมาช่วยกันแก้

“ผมไม่ได้เห็นรัฐธรรมนูญ 2540 มันดีเลิศวิเศษ แต่มันดีกว่าทุกฉบับ แต่มันมีอะไรที่ยังบกพร่อง รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่ว่าไม่ดีทั้งหมด ดังนั้น เอาความดีของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับและของฉบับปัจจุบันเอามาใส่ มันก็จะได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดีกว่าใช้ไปทั้งๆ ที่รู้ว่าบกพร่อง”

วันนอร์ กล่าวต่อว่า แม้จะเคยอยู่มาหลายพรรคการเมือง แต่ข้อดีการมาอยู่พรรคเล็ก คือ ไม่แบ่งฝ่ายจนเกินไป สามารถสร้างความเป็นเอกภาพได้ แต่พรรคต้องดำเนินการในการสร้างนโยบายที่ชัดเจน แล้วต้องฟังเสียงของประชาชน และเห็นอย่างยิ่งว่าถึงเวลาที่ต้องพัฒนาพรรคการเมือง

“ผมอยู่มาหลายพรรคการเมือง เป็นประธานรัฐสภา ผมเห็นว่าฝ่ายบริหาร ตุลาการ ค่อนข้างมีการพัฒนาไปตามลำดับ แต่สภาไม่ค่อยจะเห็นสมาชิกรัฐสภาหรือบทบาทของสภาในทางพัฒนามากนัก ดังนั้นเราอยากเห็นฝ่ายของสภามีการพัฒนาไปในทางประชาธิปไตย แล้วสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน”

สำหรับปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้งรอบนี้หากเทียบกับปี 2544 และ 2548 ที่เน้นในเรื่องนโยบาย วันนอร์ ขยายความว่า อยากให้เป็นข้อสังเกตเพื่อติดตาม เพราะอาจเคยชาชินกับการเลือกตั้งในประเทศไทย บางทีซ้ำๆ เดิม คือ แยกเผด็จการกับประชาธิปไตยไม่ออก แล้วนำไปสู่วงจรอุบาทว์

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตการเลือกตั้งในเมียนมา เห็นว่าคาดไม่ถึงที่ฝ่ายประชาธิปไตยของอองซานซูจีจะชนะถล่มทลาย 80% แม้รัฐธรรมนูญเอื้อต่อทหาร ซึ่งทหารเข้ามา 25% แต่ไม่มีความหมาย เพราะประชาชน 80% เทคะแนนให้ถล่มทลาย หรือมาเลเซีย พรรครัฐบาลอัมโนของนาจิบ ราซัค เป็นรัฐบาลใช้ประชานิยม ช่วงใกล้เลือกตั้งมีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพิ่มเงินบำนาญ ให้ปุ๋ยฟรีกับเกษตรกร ดูแลราคาพืชผล ให้ทุนการศึกษา แต่พอเลือกตั้ง มหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนะ

“ผมอยู่ใกล้ชายแดน นึกไม่ถึงว่าพรรคมหาเธร์ ซึ่งเคยแพ้เลือกตั้งจะชนะพรรคที่มีอิทธิพล แม้วันเลือกตั้งกลับเลือกวันปกติ เพราะคาดว่าฝ่ายค้านจะไปใช้สิทธิน้อย แต่คำเดียวที่มหาเธร์พูด คือ คราวนี้ประชาชนต้องจับมือกัน เพื่อล้มล้างการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลให้หมดสิ้นไป แล้วเริ่มต้นให้ประเทศสร้างเศรษฐกิจ

ผมคิดว่าไม่แน่ ที่เราคาดๆ เพราะเราคิดเอาเอง เราไม่เข้าในหัวใจประชาชน ไม่รู้ว่าประชาชนทนกับความลำบาก หรือไม่พอใจ ในการถูกบริหารจากอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งแล้วทำท่าสืบต่ออำนาจ เขาคิดอย่างไร ถ้าเขาไม่เอาเรื่องการสืบทอดอำนาจ เขาจะหันหลังและมุ่งหน้าไปว่าไม่เอาสืบทอดอำนาจ แล้วต้องการประชาธิปไตย เงินจะไม่มีความหมาย อิทธิพลก็อาจไม่กลัว ไม่รู้ได้เห็นหรือไม่ เพราะผมก็อยากเห็น”

\"พรรคประชาชาติ เพื่อทุกชาติพันธุ์\" เปิดใจ\"วันมูหะมัดนอร์ มะทา\"

วันนอร์ ย้ำว่า ที่ผ่านมากำลังวิเคราะห์สูตรเดิมของประเทศไทย เพราะคิดว่าประชาชนยังอยู่ที่เดิม วันนี้ประชาชนอาจไปเกินเมียนมา มาเลเซีย แต่สิ่งสำคัญคือ ช่วยเชียร์ว่าการแข่งขัน นักการเมือง คือ ผู้เล่น ประชาชน คือ ผู้ดู กรรมการ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งคราวนี้มีคุณภาพ ไม่เอาปริมาณ 80% คนมาใช้สิทธิ ทำให้ไม่มีการทุจริต ซื้อสิทธิ ขายเสียง หรือใช้อิทธิพล แล้วไม่มีการโกง

“ถ้า กกต.ทำได้ ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการเมือง แต่เราจะปฏิรูปไม่ได้ ถ้าเลือกตั้งสกปรก เพราะถ้ายังมีแบบนั้นอยู่ การถอนทุน โกง จะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น ตัวกลางสำคัญ คือ ทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการถอนทุนคนทำได้ คือ กกต. 7 คน ถ้าใจไม่ถึง อย่าเป็น กกต. ให้เสียเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท แถมเสียเวลาคนไปเลือก”

วันนอร์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญ ถ้าเปลี่ยนโดยประชาชนพร้อมใจกัน พรรคการเมืองที่ประชาชนเปลี่ยนนั้น ต้องบริหารประเทศอย่างระมัดระวังและโปร่งใส แต่ถ้าพรรคเข้ามาด้วยความเหิมเกริมไม่ระวังตัว สักพักก็มีคนต่อต้าน กลับไปอย่างเดิมอีก และคิดว่าบทเรียนที่ผ่านมา 10 ปี มันสอนพรรคการเมืองเยอะ ว่าชนะไม่ใช่เด็ดขาด โอกาสล้มมันมี

“อยู่ที่ประชาชนจะต้องคอยตักเตือน ปราม ขณะเดียวกันต้องใจเย็นด้วยใช่ว่าไม่พอใจแล้วมาเดินกลางถนน ควรรอสุดท้าย และในที่สุดผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนสอนนักการเมืองเลวๆ พรรคการเมืองที่คิดว่าขอให้ได้เสียงข้างมาก ใช้เงินลงทุนซื้อเสียง ซื้อนักการเมือง ถอนทุนแน่

และสิ่งสำคัญที่สุด คือ จิตสำนึกประชาชน ถ้าเหมือนมาเลเซีย ไม่รู้พร้อมใจอย่างไร ทำให้ชนะได้ รวมถึงสื่อมวลชนก็สำคัญ เพราะต้องเฝ้าทั้งกรรมการและผู้เล่นแล้วปรามประชาชน แต่ประเทศไทยไม่เหมือนเพื่อน รอบประเทศเราไม่มีปฏิวัติแต่เรายังมีอยู่”

คาด 25 ที่นั่งบวกลบ

“วันนอร์” ได้ประเมินเสียงที่พรรคประชาชาติจะได้รับหลังการเลือกตั้งว่า เป้าหมายพรรคอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไม่มากนัก ซึ่งน่าจะประมาณ 20 บวก ลบ อาจจะ 25 หรือ 15 ที่นั่ง เพราะถือเป็นพรรคใหม่เพิ่งเริ่มตั้ง และพรรคมี
นโยบายชัดเจนคือ เอาคนอุดมการณ์ตรงกันมาร่วมกันทำ ไม่ใช้วิธีการดูดหรือเสนออะไรให้กับผู้สมัคร ต้องการเป็นพรรคค่อยๆ โตขึ้นอย่างมั่นคง

“ภาคใต้มี 11 เขต พรรคคิดว่าน่าจะได้ สส.เขต 6-7 คน แล้วอีก 5 คน อาจจะปริ่มๆ หรืออาจได้มากกว่านั้น แต่พรรคต้องทำงานอย่างหนัก ทว่าทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเราจะเน้นส่งในพื้นที่ 3 จังหวัดให้เต็มที่ ตอนนี้เราส่งพื้นที่ชาวเขา ชาวม้ง ชาวจีนฮ่อ 6-7 เขต ซึ่งการส่งเพราะต้องการให้เห็นว่าให้โอกาสทุกฝ่าย และคิดว่าน่าจะได้คะแนนดีพอสมควร”

อดีตประธานรัฐสภาวิเคราะห์ว่าหลังเลือกตั้งพรรคใหญ่มี สส. เกินร้อย 2-3 พรรค พรรคมี สส. เกิน 50 อาจจะหลายพรรค และพรรคเกิน 10 หรือต่ำกว่า 10 ตามกันมาอีกหลายพรรค เพราะการส่งเลือกตั้งจะมีพรรคการเมืองไปจดจัดตั้งทั้งเก่าและใหม่รวมกว่า 100 พรรค แต่จะส่งผู้สมัครไม่น่าจะเกิน 30-40 พรรคเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะการส่งผู้สมัครต้องทำไพรมารีโหวต มีกรรมการสรรหา ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาและคน สมมติส่งไป 30-40 พรรคการเมืองที่จะได้ สส.อาจครึ่งหนึ่งหรืออาจไม่ได้