posttoday

ระดมทุนพปชร. ปมอลวน 650 ล้าน

21 ธันวาคม 2561

การจัดระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่19ธ.ค.ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะสามารถระดมทุนได้กว่า 650 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การจัดระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม ฮอลล์ เมื่อ วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย เพราะสามารถระดมทุนได้กว่า 650 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ "ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะแม่งานการจัดงานระดมทุน ระบุว่า  มีการจองโต๊ะไว้ครบทั้ง 200 โต๊ะ ซึ่งบางโต๊ะบริจาคเงินให้พรรคเกินกว่า 3 ล้านบาท ทำให้ยอดการบริจาคได้มากเกินกว่าเป้าที่เราตั้งไว้ที่ 600 ล้านบาท คาดว่าได้เกือบ 650 ล้านบาท

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" แกนนำพรรค พปชร. ควักกระเป๋าซื้อบัตร 30 โต๊ะ รวมแล้ว 90 ล้านบาท ส่วน "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย บอกว่า ซื้อไว้ 2 โต๊ะ รวม 6 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ภายหลังการระดุมทุนได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม ทั้งข้อกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงจะมีความผิดและในแง่ความเหมาะสมต่อการระดมทุนครั้งนี้

ไม่ว่าจะเป็น "พรรคเพื่อชาติ" ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ในงานซึ่งมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินหลายกลุ่มจะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 ข้อ 3 หรือไม่

โดยมาตรา 73 ได้ระบุไว้ว่า ไม่ให้กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่นด้วยวิธีการต่อไปนี้ โดย (3) ระบุว่า ทำการโฆษณาหาเสียงโดยจัดให้มีมหรสพหรืองานรื่นเริงต่างๆ

ถัดมาที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.   และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การระดมทุนดังกล่าวสามารถทำได้หลังปลดล็อกทางการเมืองแล้ว แต่ต้องไปพิจารณาต่อไปว่าคนที่มาร่วมงานดังกล่าวมาเพราะอะไร มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีเข้าไปบีบบังคับขอร้องหรือไม่

ทั้งนี้ จะเห็นว่าจากข้อมูลที่ปรากฏมีทั้ง "ททท." ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท "คลัง" 20 โต๊ะ 60 ล้านบาท ก็ต้องไปดูรายละเอียดว่าเงินดังกล่าวมีที่มาจากไหน หากมาด้วยความเกรงใจก็อาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เหมาะสมได้

"เรื่องเหล่านี้พิสูจน์ได้ยาก เพราะคนมาก็ต้องเต็มใจมา แต่จะมาเพราะรัฐมนตรีขอมาหรือมาเพราะเกรงใจ หรือไม่ได้มองแค่ประโยชน์ปัจจุบัน แต่มองไปถึงประโยชน์ในอนาคตหรือไม่ รวมถึงประเด็นคนที่เป็นรัฐมนตรีใช้ตำแหน่งไปขอร้องหรือไม่อย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกัน" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า อีกมุมหนึ่งคือต้องไปดูว่าหน่วยงานอย่าง ททท. หรือคลังนั้น หากเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เขานำเงินจากไหนมา หากเป็นเงินของราชการหรือรัฐวิสาหกิจก็จะยิ่งไม่เหมาะสม เป็นความผิดสองทาง

ประเด็นเหล่านี้ กกต.ต้องเข้าไปตรวจสอบแม้ไม่มีผู้ใดยื่นเรื่องร้องเรียน แต่เรื่องนี้เป็นความที่ปรากฏต่อสาธารณะ กกต.ควรสนใจไปดูรายละเอียด ไม่ต้องรอให้มีคนร้อง และไม่เกี่ยวข้องกับมีกฤษฎีกาเลือกตั้งหรือไม่ เพราะ กกต.มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ตั้งแต่ก่อนมีกฤษฎีกาเลือกตั้งและหลังกฤษฎีกาเลือกตั้ง

อีกด้านหนึ่ง  วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า งานระดมทุนโต๊ะจีนตกที่นั่งละ 3 แสนบาท ต้องตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการที่มาร่วมงานนั้นซื้อบัตรมาร่วมงานเองหรือมีผู้ใดออกเงินให้

ทั้งนี้ หากคนอื่นออกเงินให้ก็จะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีรับของขวัญมีมูลค่าเกิน 3,000 บาท หากบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าร่วมงานอ้างว่าซื้อบัตรเข้าร่วมงานเองก็ต้องเอาใบเสร็จมาแสดง

ขณะที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บอกว่า การจะจัดระดมทุนจะเป็นโต๊ะจีนหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ หากผู้ที่บริจาคเงินเกินถ้าจำไม่ผิดคือ 1 แสนบาท หรือตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป จะต้องเปิดเผยชื่อตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่บอกว่าผมจัด 200 โต๊ะ แล้วก็ขายบัตร โดยไม่รู้ใครมาซื้อบัตร แล้วมีเงินมา 600 ล้านบาท อย่างนี้ทำไม่ได้ ต้องมีการแสดงว่าใครเป็นคนที่ซื้อโต๊ะ ซึ่งถือเสมือนเป็นผู้บริจาค เขาต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาค สื่อก็ไปตรวจสอบได้ว่าใครไปนั่งกินบ้าง กรณีของ พปชร.มีประเด็นว่า ต้องให้มั่นใจด้วยว่าไม่มีการเอาตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลไปใช้ในการระดมทุน

"จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำพรรคเพื่อชาติ มองว่า การจัดงานระดมทุนแบบนี้ เห็นกระดานกันหมดแล้ว การจัดแบบนี้เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมือง มันสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งนี้ รายนามผู้บริจาคกี่คน คนละเท่าไรนั้น ก็ควรจะมีการเปิดเผยต่อประชาชน เพื่อให้เห็นความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอะไรทับซ้อน ไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เป็นไปได้หรือไม่หากมีการจัดงานในลักษณะแบบนี้อีก ขอให้มีการแสดงรายชื่อรายนามผู้ซื้อโต๊ะ ส่วนคนที่จัดไปแล้วก็แถลงมา กกต.ก็นำมาเผยแพร่กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากงานระดมทุนทางพรรคจะเข้าไปตรวจสอบอีกทีว่าเงินมาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและระเบียบของ กกต.