posttoday

คนรุ่นใหม่ตัวแปรชี้ขาด กกต.ต้องคุมให้ยุติธรรม

20 ธันวาคม 2561

จากการวิเคราะห์ อิงกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 75% แต่ครั้งนี้หากมาใช้สิทธิถึง 80-85% ทุกอย่างจะเปลี่ยนหมด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิมาก่อน

หมายเหตุ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง "เลือกตั้ง กุมภาฯ 62 ฟรีและแฟร์ สำหรับใคร" เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการวิเคราะห์มุมมองการเลือกตั้ง สส.ที่จะมีขึ้นใน วันที่ 24 ก.พ. 2562

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาค วิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปลี่ยนกระสุนให้เป็นบัตรเลือกตั้ง ตามกระบวนการสันติวิธีที่สุด โดยส่วนตัวมองหวังว่าหลังการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลที่เคารพเสียงของประชาธิปไตย แต่โจทย์ใหญ่ของสังคมไทย คือ หลังการเลือกตั้งเราจะปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ระบอบอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นทาง 3 แพร่ง ได้แก่ 1.มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นทิศทางที่ค่อนข้างสลัว และต้องการ พลังของประชาชนจำนวนมาก ผ่านการเลือกตั้ง 2.ยังเดินอยู่ในเขาวงกตทางความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการตอกย้ำความไร้เสถียรภาพทางการเมือง 3.เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ ซึ่งการจัดการเลือกตั้งนั้นต้องเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม

สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า โพลของสถาบันพระปกเกล้าพบว่า ประชาชนประมาณ 30% จำไม่ได้ว่ามี สส.แบ่งเขต และบัญชีรายชื่อกี่คน ซึ่งตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะระบบบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว อย่างไรก็ดีระบบดังกล่าวไม่ปิดโอกาสให้สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ หากพรรคไหนได้รับคะแนนเสียง จากประชาชนเกิน 50% หรือชนะการเลือกตั้งระดับเขตให้เกิน 251 เขต ในทางหลักการนั้นสามารถเป็นไปได้ยังสามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้

ปัญหาที่เกิดคำถามมากที่สุด คือ กระบวนการปรุงแต่งภายใน อย่างเรื่องอำนาจ กกต. ซึ่งหาก กกต.มีอิสระในการใช้อำนาจบังคับใช้เท่าเทียมกับทุกฝ่าย มีโอกาสที่การเลือกตั้งครั้งนี้เท่าเทียมกันทุกฝ่าย แต่หากมีการให้ใบเหลือง ใบส้ม และใบแดง โดยเลือกปฏิบัติ ในแต่ละพื้นที่รับรองว่ามีปัญหาแน่ เพราะเรื่องนี้สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้เลย แม้โทษจะไม่รุนแรงเท่าใบแดงเดิม แต่ก็สามารถปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้เช่นกัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้ง ครั้งนี้จะเป็นตัวตัดสินในการขยับจากอำนาจนิยมไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งในอาเซียนประเทศที่เป็นโมเดลของความเป็นประชาธิปไตย คือ อินโดนีเซีย ที่ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคคู่แข่งของรัฐบาลยอมรับความพ่ายแพ้โดยสันติวิธี ขณะที่เป็นโมเดลตรงข้ามของอินโดนีเซีย คือ ประเทศมาเลเซีย และกัมพูชา ช่วงก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ยอมจัดการเลือกตั้ง แต่พยายามใช้ทุกวิธีที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลชนะ อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของกัมพูชา ที่มีการเชิญผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่พวกเขาเหล่านั้นปฏิเสธเพราะรู้อยู่แล้วว่า ฮุนเซน ชนะแน่ๆ จากการพยายามเอาชนะทุกทาง

ขณะที่มาเลเซีย มีการกำหนด การเลือกตั้งในวันพุธ ออกกฎยุบยิบเรื่องการหาเสียง เช่น ห้ามพรรคของ มหาเธร์จดทะเบียน ห้ามใช้รูปมหาเธร์หาเสียงเลือกตั้ง มีการออกกฎหมายควบคุมสื่อช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลต้องการ เพราะประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลทำมากเกินไป ทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิมากขึ้น หลายบริษัทให้ลูกจ้างหยุดงานเพื่อไปเลือกตั้ง จนทำให้รัฐบาลของพรรคอัมโนแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยเสียงของประชาชน

"ขณะนี้การวิเคราะห์ของนักวิชา การ สื่อ พรรคการเมือง อิงกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และอิงกับจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 75% แต่ครั้งนี้หากมาใช้สิทธิถึง 80-85% ทุกอย่างจะเปลี่ยนหมด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิมาก่อน นั่นเป็นส่วนที่ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย"

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง หากมีรัฐบาลผสม คาดว่ารัฐบาลจะอยู่ ไม่ครบ 4 ปี จากความขัดแย้งที่น่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ผสมกันไม่ได้มาจากอุดมการณ์เดียวกัน

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคม วิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้ง ครั้งนี้เป็นแนวปะทะใหญ่ ระหว่างเครือข่ายอนุรักษนิยม กับความท้าทายใหม่ แต่ขณะนี้พรรคการเมืองที่มีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรคจะลงเลือกตั้งด้วย ได้ออกนโยบายของรัฐบาลเพื่อมัดใจคนระดับล่าง โดยการหว่านเม็ดเงินลงไป อย่างนโยบายประชารัฐ

ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรี ก็เปิดเผยแล้วว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัว แต่ก็ ไม่ยอมลาออก อีกทั้งยังมีกฎหมายพรรคการเมือง ประกาศและคำสั่งของ กกต.และ คสช. บวกกับการดูดอดีต สส.จากพรรคใหญ่ หรือการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในการเอาผิดพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามทางโลกออนไลน์