posttoday

ความหวังนโยบายสิ่งแวดล้อม วัดใจพรรคกล้านำเสนอ สลัดกลุ่มทุนครอบ

16 ธันวาคม 2561

แม้หลายพรรคการเมืองจะเริ่มเปิดนโยบายออกมาให้สังคมได้รับรู้เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ทว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว ยังไม่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายออกมาอย่างชัดเจน

แม้หลายพรรคการเมืองจะเริ่มเปิดนโยบายออกมาให้สังคมได้รับรู้เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ทว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัว ยังไม่มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายออกมาอย่างชัดเจน

*****************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เรียกว่าคึกคักสำหรับพรรคการเมืองในประเทศไทย ที่กำลังเตรียมพร้อมเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 หลายพรรคเริ่มปูทางชูนโยบายหวังยึดคะแนนเสียงจากประชาชนกันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ความมั่นคง แต่ยังมีเรื่องจากฝั่งในแวดวงคนสิ่งแวดล้อมห่วงใย หลายพรรคไม่มีใครกล้าชูนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ทั้งที่ปัจจุบันถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกที

จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนว่า เรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทุกคนต้องเปลี่ยนแผนแล้ว หากจะคิดว่าค่อยเป็นค่อยไปคงไม่ได้อีกต่อไป เพราะอุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จากเดิมที่ทั่วโลกตั้งเป้าหมายไว้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส นั่นทำให้เราต้องหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน

“วันนี้สื่อไม่มีการนำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อม มีเพียงแต่เรื่องของการเลือกตั้ง การย้ายพรรคการเมือง ใครเป็นหัวหน้าพรรค จนไม่มีใครสนใจข่าวสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แม้แต่นักการเมืองเองเช่นกันก็ไม่สนใจ สนใจเพียงว่าจะอยู่พรรคใด เพราะกลัวตกรุ่นไป ทำให้ไม่มีใครสนใจในนโยบายสิ่งแวดล้อม ที่จะทำความแปลกใหม่ แตกต่าง และเป็นความหวังให้ประชาชนได้บ้าง นั่นสะท้อนให้เห็นว่าทุกคนดูปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว ถือว่ามีสายตาสั้นมาก”

ยิ่งตอกย้ำภาพความน่ากลัวทางสิ่งแวดล้อม เมื่อเสียงระฆังดังเตือนขึ้นในเวทีระดับโลกแล้วว่า ถ้าเรามัวแต่อยู่เฉยๆ เช่นนี้ โลกของเราไม่รอดอย่างแน่นอน หลังจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยโลกร้อน ระบุชัดว่า มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส น้ำแข็งละลายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลเพิ่มระดับตามขึ้นไป แต่หลายคนยังคิดว่าไม่มีผลกระทบใด ประชาชนยังดำเนินกิจวัตรที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมดั่งเดิมปกติ ทั้งการขับรถแรลลี่ต่างๆ ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

จิรพล ระบุด้วยว่า การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจนับแสนล้านก็จะไม่รอดถ้าหากสถานการณ์โลกยังเป็นเช่นนี้ ในขณะที่ต่างประเทศต่างขานรับกับการปรับตัวเตรียมรับและเข้าใจสถานการณ์ เช่น เรื่องอาหาร เรื่องภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าอุณหภูมิสูงไปกว่านี้ แต่ประเทศไทยกลับไม่สนใจ สนใจเพียงเรื่องหุ้น เรื่องการเลือกตั้ง โดยไม่มีใครคำนึงถึงว่าประชาชนจะอยู่รอดกันอย่างไร ระบบนิเวศจะฟื้นฟูได้หรือไม่

“ต้องมีการคิดในระยะยาวว่าอนาคตในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ปรับตัวอย่างไร ทุกวันนี้ตัวอย่างเห็นชัดเจน ประชาชนตามหมู่บ้านจัดสรรใน จ.สมุทรปราการ โดนน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ที่สำคัญเป็นน้ำเค็มจากทะเล ส่งผลให้การสัญจร การจอดรถเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ต้องมีการอพยพหนีน้ำเค็ม มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วและใกล้ตัวจริง” นักวิชาการ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

จิรพล กล่าวว่า เรื่องขยะถูกยกปัญหาเป็นโอกาสสร้างรายได้ สร้างโอกาสทางการเมือง นำมาหาเสียง โดยไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ระดับการเมืองท้องถิ่นจนการเมืองขนาดใหญ่ ใช้ขยะมาหาเสียงเป็นแหล่งรายได้เพื่อความอยู่รอด เพียงนำมาโฆษณาว่าจะแก้ปัญหาเรื่องขยะได้

ขณะที่ฟากกลุ่มนักอนุรักษ์อย่าง ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุ่งเป้าที่พรรคการเมืองทันทีว่า ธรรมชาติของพรรคการเมืองมุ่งเน้นเรื่องคะแนนเสียงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กและใหญ่ ดังนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ถ้าหากพรรคการเมืองใดชูนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นประเด็นในการหาเสียงถือว่ามีความ “กล้าหาญ” ทางการเมืองอย่างมาก เพราะจะไม่ค่อยได้คะแนนเสียงอย่างแน่นอน

“ปัจจุบันยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนแต่รวมประเด็นสิ่งแวดล้อมไว้กับเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่โดดเด่น ทำให้การรับรู้ไม่แผ่กว้าง”

ธารายังเชื่อว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคใหม่ๆ ที่คิดทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ไม่ได้ชูนโยบายให้โดดเด่น ซึ่งเป็นการคิดแบบบูรณาการมากกว่า เช่น ขยะพลาสติก นโยบายจะทำอย่างนี้ การทำประมง ต้องสนับสนุนประมงพื้นบ้าน จึงคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หัวข้อหลักในนโยบายใหญ่ แต่อยู่ในองค์ประกอบของนโยบายใหญ่อีกระดับมากกว่า

“ถ้านโยบายสิ่งแวดล้อมชัดเจนเกิดรูปธรรมมาก บางครั้งอาจไปกระทบหรือสวนทางกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ธุรกิจ เช่น พรรคการเมืองใหญ่บอกว่าจะแบนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำไม่ได้แน่นอน มันจะแย้งกับแหล่งทุนที่สนับสนุนพรรค ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องหากำไรจากการผลิตพลาสติก เชื่อว่าพรรคการเมืองใหญ่มีความคิดในนโยบายสิ่งแวดล้อม แต่ไม่กล้าหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก” ธารา สะท้อน

ผู้อำนวยการกรีนพีซฯ ระบุด้วยว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมจึงไม่น่ากลายเป็นแรงผลักดันให้พรรคการเมืองได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามกรอบกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว