posttoday

ผังแม่บทจุฬาฯ‘ยุทธวิธีฝังเข็ม’ มหา’ลัยต้องไม่น่าเบื่อ ดูดคนเข้าเรียน

29 พฤศจิกายน 2561

จุฬาฯนำเสนอโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 “ปรับ-เปลี่ยน-เปิด” เพื่อออกแบบสภาพแวดล้อมทางการศึกษา กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่ให้จุฬาฯ สามารถแข่งขันมหาวิทยาลัยระดับโลก

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 “ปรับ-เปลี่ยน-เปิด” เพื่อออกแบบสภาพแวดล้อมทางการศึกษา กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่ให้จุฬาฯ สามารถแข่งขันมหาวิทยาลัยระดับโลก

บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอนาคตจุฬาฯ ยังคงต้องเชื่อมโยงกับสังคมภายนอก โดยระหว่างทางอาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกมาก ซึ่งการออกแบบต้องถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับยุคสมัยตามไปด้วย ผังแม่บทจุฬาฯ ก็เช่นเดียวกัน การออกแบบไม่ได้ดูเฉพาะในพื้นที่การศึกษาหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นการออกแบบเพื่ออนาคตจะต้องทำงานให้ดีที่สุดภายใต้ข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสืบทอดต่อไปยังคนรุ่นใหม่

นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า ต้นทางของการเรียนรู้แห่งอนาคตมีความมุ่งมั่นให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นแนวคิดเรื่องการศึกษาในอนาคตจะเน้นเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้กับชุมชนไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นพื้นที่ขัดเกลาความรู้

ทั้งนี้ คณะทำงานได้วางผังแม่บทโดยตั้งโจทย์เริ่มต้นว่ามหาวิทยาลัยมีไว้เพื่ออะไร คำตอบคือ พื้นที่ให้ผู้เรียนสามารถค้นพบตัวเองและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และถ้าจะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนศาสตร์ที่หลากหลาย ดังนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดการผสมข้ามศาสตร์ ปรับเปลี่ยนนโยบายลงทะเบียน และปรับเปลี่ยนกายภาพเพื่อกำหนดวัฒนธรรม พฤติกรรมของผู้เรียน จึงเห็นได้ว่าทิศทางของสถานที่เรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกกำลังทำให้บรรยากาศแตกต่างไปจากห้องเรียนน่าเบื่อ

จากการศึกษาพบว่า พื้นที่การเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการแลกเปลี่ยน ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้หลากหลาย เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยนวัตกรรมของอนาคตต้องทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงการศึกษาได้ จากนั้นเรื่องหลักสูตรควรออกแบบตามความสนใจของผู้เรียน และจบการศึกษาออกไปต้องทำงานได้จริง รวมถึงเปิดโอกาสให้อาจารย์หลายมหาวิทยาลัยเชื่อมโยงถึงกันทางด้านงานวิจัยได้

ผังแม่บทจุฬาฯ‘ยุทธวิธีฝังเข็ม’ มหา’ลัยต้องไม่น่าเบื่อ ดูดคนเข้าเรียน

อย่างไรก็ตาม หากการออกแบบเกิดจากศาสตร์ที่หลากหลายนั้นจะต้องทำให้ รั้วและกำแพงที่มีการปิดเปิดตามเวลาราชการ เปลี่ยนเป็นพื้นที่เปิดอิสระ ทำให้ผู้คนเข้ามาได้หลากหลายเชื่อมโยงถึงกันง่าย ผลที่ตามมาคืองานวิจัยจะเพิ่มขึ้น นิสิตอยากเข้ามาเรียน มีพื้นที่ส่วนกลางไม่แบ่งออกเป็นคณะของตัวเอง

“มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ เล่น เรียน และเข้ามาอยู่ได้ตั้งแต่เช้าไปจนค่ำ ก็จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้ามศาสตร์มากขึ้น เชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และชุมชน สอดรับด้วยย่านใจกลางเมือง มีระบบขนส่งสะดวก รวมถึงพื้นที่สีเขียวทำให้เป็นจุดแข็ง แต่จุดอ่อนคือ ขั้นตอนกฎระเบียบมาก ไม่สมดุลกับสาธารณูปการ เนื่องจากมีนิสิตอยู่จำนวน 2.5 หมื่นคน ดังนั้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยน อาจทำให้งานวิจัยลดลงเพราะต่างคนต่างทำต่างอยู่ นิสิตไม่อยากเรียน อาจารย์อยากลาออก ซึ่งเรื่องทั้งหมดไม่มีใครอยากให้เกิด” นิรมล กล่าว

สำหรับเงื่อนไขการออกแบบผังแม่บท จำนวนนิสิตในอนาคตเชื่อว่าจำนวนผู้เรียนจะคงที่อยู่ที่ 3.6 หมื่นคน ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยอื่นจะลดลง จึงต้องดึงดูดให้คนอยากเรียนที่จุฬาฯ โดยใช้ยุทธวิธีการฝังเข็มคือ พื้นที่งานวิจัย พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่กิจกรรม ระบบด้านความปลอดภัย ทั้งหมดต้องเดินถึงกันมีความหลากหลายในแต่ละคณะ ต้องทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างกันระหว่างคณะ

ถัดมาคือโซนสนามศุภชลาศัย มีสภาพแวดล้อมถูกตัดขาดออกจากมหาวิทยาลัย หากเปลี่ยนให้ศาสตร์ด้านการกีฬาเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรม อาจเกิดความร่วมมือกันสร้างเครื่องออกกำลังกาย รองเท้ากีฬา ที่ตอบสนองทั้งสองศาสตร์นี้ได้เป็นอย่างดี อีกส่วนหนึ่งโซนหลังเลิกเรียนหอพัก สนามจุ๊บ เปิดให้ใช้งานได้จนถึงช่วงค่ำ มีพื้นที่ศูนย์บริการทำให้เอกชนเข้ามาติดต่อการทำงานได้โดยตรง ส่วนสนามกีฬาในร่มให้เปลี่ยนเป็นโรงละคร เนื่องจากจุฬาฯ แทบไม่มีโรงละครให้นิสิตได้ใช้ ยิ่งไปกว่านั้นคือหอพัก อาจมีครัวรวมทำให้นิสิตต่างคณะได้เข้ามาใช้ร่วมกัน

นอกจากนี้ ระบบรักษาความปลอดภัยต้องมีไฟส่องสว่างมากขึ้นและทั้งคืน หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้พลังงาน คือ อาจารย์ นิสิต และประชาชนทั่วไป ที่ไหลออกไปสู่ห้างสรรพสินค้านั้น กลับเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยได้ยาวนานจนกว่าจะพอใจ

บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการ บดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อโลกเปลี่ยนดังนั้นมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย แม้ว่าจะมีกฎระเบียบมากมายที่ทำให้ยุ่งยากอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงในการสร้างบัณฑิต ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ