posttoday

หัวใจ‘มาตรฐานรถแพทย์ฉุกเฉิน’ รักษาชีวิตบุคลากรในรถปลอดภัย

15 พฤศจิกายน 2561

จากเหตุการณ์รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความห่วงใยกังวลถึงความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เหตุการณ์รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความห่วงใยกังวลถึงความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับรถ พยาบาล แพทย์ ที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยภายในรถ เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ถือเป็นกลไกสำคัญของวงการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่อุบัติเหตุไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากมีมาตรการเตรียมพร้อมรองรับช่วยลดตัวเลขการสูญเสียและอุบัติเหตุลงน่าจะเป็นทางออกและวิธีที่ง่ายที่สุดจากเหตุไม่คาดฝัน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อธิบายให้ฟังว่า มาตรฐานในภาพรวมการบริหารจัดการทั้งการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ มีหลายส่วนที่จะมาประกอบกัน โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกันแค่เพียงเรื่องของมาตรฐานตัวรถยนต์บริการทางการแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น

ภาพรวมของรถฉุกเฉินในไทยทั้งหมดประกอบ 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.รถตำรวจ ใช้ไฟสีแดง 2.รถพยาบาลไฟสีน้ำเงิน 3.รถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไฟสีแดงน้ำเงิน และ 4.รถฉุกเฉินอื่นๆเช่น รถขยะ รถโรงเรียน รถกรมทางหลวง ซึ่งสัญลักษณ์สีไฟเหล่านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้กำหนดสีไฟ ดังนั้น รถฉุกเฉินของแต่ละประเภทจึงมีมาตรฐานการทำงานที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับในส่วนของรถพยาบาลกับรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะมีเป้าหมายวัตถุประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน เพียงแต่ลักษณะของตัวรถจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ เป็นลักษณะของรถตู้กับรถกระบะ หากรถที่มีไฟสีน้ำเงินหรือรถฉุกเฉินที่ใช้ในการขนส่งผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลจะมีมาตรฐานในเชิงข้อกำหนดหลายส่วน ทั้งเรื่องมาตรฐานรถ ฯลฯ เมื่อนำมาใช้บริการทางการแพทย์ต้องกำหนดอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วย อุปกรณ์ติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย ฯลฯ

“หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าของรถจะไปกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมเอง เช่น การบริการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลต้องดูว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประเภทใดบ้าง บุคลากรประเภทใด เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหมดเป็นมาตรฐานเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรฐานรถบริการทางการแพทย์”

สำหรับเรื่องของการกำหนดอุปกรณ์ภายในรถพยาบาลฉุกเฉิน ในอดีตอุปกรณ์อาจยังไม่ทันสมัยเหมือนกับปัจจุบัน คงเพียงแค่เรื่องการกำหนดเฉพาะพวกอุปกรณ์พื้นฐานไว้เท่านั้น อีกทั้งบริเวณเบาะนั่งของเจ้าหน้าที่อาจยังไม่มีเข็มขัดเซฟความปลอดภัย เป็นต้น นั่นคือรถบริการทางแพทย์ในอดีต แต่ปัจจุบันถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานอย่างดีเพิ่มขึ้นหลายเท่า

“ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่า ในอนาคตอีก 4-5 ปีข้างหน้า ระบบการบริการรถพยาบาลฉุกเฉินน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพราะทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ที่คอยทำการรักษาผู้ป่วยบนรถ”

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินที่ประสบอุบัติเหตุอยู่หลายครั้ง นั่นจึงทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องมีการออกมาตรการกำชับพิเศษในการระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย จนนำไปสู่การกำหนดมาตรการหลายอย่าง เช่น การกำหนดความเร็วรถต้องไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องมีสัญญาณไฟส่องสว่างอย่างชัดเจน และการอบรมผู้ขับรถ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ภายในรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อทบทวนการจัดการอย่างสม่ำเสมอ และจากมาตรการที่ผ่านมาทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจนว่า อุบัติเหตุรถพยาบาลลดลงไปได้มาก

นอกจากนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ยังได้มีการกำหนดมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของรถบริการทางการแพทย์อย่างดี ทั้งเก้าอี้นั่งเจ้าหน้าที่ภายในรถ เตียงนอนผู้ป่วย การจัดวางปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยสูงสุด เข็มขัดนิรภัย การผูกรัดมัดตึง อุปกรณ์ เป้าหมายเพื่อป้องกันการอุปกรณ์ทางการแพทย์ตกหล่นเสียหาย ที่สำคัญช่วยรักษาชีวิตบุคคลภายในได้อย่างปลอดภัย

“ทาง สพฉ.มีการอบรมบุคลากรผู้ปฏิบัติการงานในรถพยาบาลอยู่เสมอ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรต้องมีการฝึกฝนเช่นกัน เพราะการขึ้นไปบนรถฉุกเฉินไม่ใช่การขึ้นไปนั่งเฉยๆ พยาบาล แพทย์ ต้องมีทักษะการยืน นั่ง ในรถให้เป็น ต่อให้นั่งรถเบนซ์ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นเราต้องรู้เรื่องเหล่านี้ จำไว้เสมอการนั่งรถฉุกเฉินก็เหมือนกับการขี่ม้ายิงธนู”

อุบัติเหตุรถพยาบาลฉุกเฉินนั้นมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน จำแนกแยกเป็นปัจจัยภายนอก เช่น เรื่องของถนน สิ่งแวดล้อมภายนอก ฯลฯ ส่วนปัจจัยภายใน เช่น คนขับรถ ความพร้อมของบุคลากรเจ้าหน้าที่ การตรวจเช็กสภาพรถ เป็นต้น ทั้งหมดต้องมีการตรวจสอบให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้