posttoday

สภามหา’ลัยไม่มีอำนาจบริหาร หนุนแก้กม.เลิกแจงทรัพย์สิน

10 พฤศจิกายน 2561

กลายเป็นประเด็นให้รัฐบาลและ คสช. ต้องกลับมาทบทวนหลัง ป.ป.ช. ได้ออกประกาศให้คณะผู้บริหารระดับสูงต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินโดยครอบคลุมไปถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องกลับมาทบทวนหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกประกาศ ซึ่งกำหนดให้คณะผู้บริหารระดับสูงต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินโดยครอบคลุมไปถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐ 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะรักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความเห็นว่าเจตนาของกฎหมาย ป.ป.ช. ต้องการที่จะให้ผู้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทางราชการต้องแจงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อที่จะได้รู้ว่าระหว่างดำรงตำแหน่งมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาผิดปกติและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบจนทำให้เกิดการเพิ่มในแง่ทรัพย์สินของตนเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ทั้งนี้ ถ้าเป็นตำแหน่งในราชการทั่วๆไป เช่น อธิบดี รองอธิบดี อธิการบดี รองอธิการบดี ชัดเจนว่าคนเหล่านี้มีตำแหน่งบริหาร สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการปกครองเพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองได้ อาทิ การแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง การประมูล การก่อสร้าง

“คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องยึดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ในกลุ่มของสภามหาวิทยาลัยหากมองความเป็นจริงแล้วไม่มีอำนาจบริหาร แต่เป็นอำนาจเชิงกำกับนโยบาย เช่น ทิศทางการบริหารจะเป็นอย่างไร ตั้งข้อสังเกตในการบริหารงาน อนุมัติงบประมาณโดยรวมของมหาวิทยาลัย อนุมัติรับปริญญา อนุมัติหลักสูตร นี่คือบทบาทของสภามหาวิทยาลัย”

สมชัย กล่าวว่า ภายใต้การตีความทางกฎหมายว่าคนกลุ่มนี้มีอำนาจที่ใช้ในการปกครองได้ แม้จะไม่ใช่โดยตรงแต่ผ่านอธิการบดี การดำรงตำแหน่งหรือแต่งตั้งต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย และยิ่งมีคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2552 ระบุไว้ว่าตำแหน่งอุปนายก กรรมการสภามหาวิทยาลัย ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น แปลว่ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในข่ายที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย

“แต่ผลตามมาคนจำนวนหนึ่งในสภามหาวิทยาลัยที่ได้ไปขอความร่วมมือ ไหว้วาน ชักชวนเข้ามาช่วยในการบริหารมหาวิทยาลัย หรือให้คำแนะนำต่อมหาวิทยาลัยบางคนเป็นนักธุรกิจ ซึ่งมีรายได้ของตัวเอง มาช่วย โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากเบี้ยประชุม 2,000-3,000 บาท/ครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้เยอะ”

นอกจากนี้ บางท่านเป็นอาจารย์เกษียณอายุไปแล้ว เข้ามาช่วยเสนอว่าหลักสูตรดีไม่ดี หรือต้องปรับปรุงอะไรบ้าง คนเหล่านี้ไม่มีผู้ใต้บังคับแล้ว ไม่มีเลขาฯ ทีมงาน รับเบี้ยประชุม หากต้องมายื่นทรัพย์สินด้วยก็ถือเป็นภาระของบุคคลเหล่านี้ อีกทั้งต้องมาใช้เวลาในการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ที่สำคัญหากแจ้งไม่ครบ หรือหลงลืม ถ้าพบเห็นขึ้นมาก็มีความผิดทางอาญา ติดคุก ติดตะราง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มสูงต้องถอยตัวจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย หากลาออกแค่เพียง 1-2 คนคงไม่เป็นไร แต่ถ้าออกพร้อมกันหลายคน คือ สภามหาวิทยาลัยก็จะไม่ครบองค์ประชุมและไม่สามารถประชุมได้ เพื่อจะมีมติเกี่ยวข้องกับการบริหารมหาวิทยาลัยได้ เช่น รับปริญญา อนุมัติหลักสูตรใหม่ การใช้งบประมาณ จะทำให้การบริหารของมหาวิทยาลัยหยุดชะงัก ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้น

สมชัย เสนอว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ การแก้กฎหมาย เพื่อให้ ป.ป.ช.สามารถออกประกาศให้สอดคล้องกฎหมายโดย  ป.ป.ช.ไม่ผิด แต่การแก้กฎหมายนี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งไม่สามารถทำให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ได้ เพราะกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดและตัดสินใจว่าระหว่างยอมเสียชื่อว่าออกกฎหมายโดยไม่รอบคอบแล้วทบทวนใหม่ หรือปล่อยให้เกิดผลตามมา คือ กรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออก จนมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการได้ว่าจะเลือกอะไร ขณะเดียวกันจะใช้อำนาจเหนือนิติบัญญัติ คือ การใช้คำสั่ง คสช.ให้มีการงดเว้นในบางกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าการงดเว้นใช้กับคนกลุ่มนี้ เหตุผลคือมันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร