posttoday

"แม่หลวงกุ้ง" ขอพัฒนาบ้าน ที่เรียกว่าประเทศชาติ

04 พฤศจิกายน 2561

เปิดใจ “แม่หลวงกุ้ง” หรือ สุพัตรวี อยู่แพทย์ อดีตผู้ใหญ่ หมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมือง เชียงใหม่ ที่วันนี้ตัดสินใจสวมเสื้อสังกัดพรรคชาติพัฒนา

เปิดใจ “แม่หลวงกุ้ง” หรือ สุพัตรวี อยู่แพทย์ อดีตผู้ใหญ่ หมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมือง เชียงใหม่ ที่วันนี้ตัดสินใจสวมเสื้อสังกัดพรรคชาติพัฒนา

***************************

เรื่อง : ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ / ภาพ : ทวีชัย สุริวรรณ

นับเป็นอีกหนึ่งสาวสวย ซึ่งแฝงไว้ด้วยความเก่งและฉลาด อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันอย่างดีบนโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งวันนี้เธอได้ตัดสินใจกระโดดเข้ามาสู่ถนนการเมืองใหญ่ แม้จะยังไม่เต็มตัวก็ตาม สำหรับ สุพัตรวี อยู่แพทย์ หรือ “แม่หลวงกุ้ง” อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวัย 38 ปี ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านที่สวยที่สุดในประเทศไทย โดยสวมเสื้อสังกัดพรรคชาติพัฒนา

สุพัตรวี ได้เล่าถึงความเป็นมาผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ เกิดมาจากผู้ใหญ่ในท้องที่ที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนได้ชักชวนให้เข้ามา แต่ไม่ใช่พรรคชาติพัฒนาเพียงอย่างเดียวทาบทาม ยังมีอีกหลายพรรคการเมืองเหมือนกัน ทว่าการเข้าพรรคชาติพัฒนาเป็นการตัดสินใจส่วนตัวล้วนๆ

"แม่หลวงกุ้ง" ขอพัฒนาบ้าน ที่เรียกว่าประเทศชาติ

สุพัตรวี บอกด้วยน้ำเสียงสดใสพร้อมยอมรับว่า คิดทบทวนเรื่องนี้อยู่นานพอสมควร เพราะต้องถือบัตรประจำตัวประชาชนและเงินเข้าไปสมัครเพื่อเป็นสมาชิกพรรค อีกทั้งส่วนตัวมีแนวความคิดไม่อยากย้ายบ้านบ่อยๆ อยากอยู่บ้านนั้นไปจนตาย เช่นเดียวกับงานการเมือง จนกระทั่งลงตัว เพราะสิ่งที่ต้องการคือ อยากเป็นนักสู้เพื่อประโยชน์โดยส่วนรวม

แม่หลวงกุ้ง เล่าต่อว่า สำหรับการตัดสินใจเลือกบ้านหลังนี้มาจากหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะจากเหตุการณ์บ้านเมืองในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมันเป็นไปด้วยความน่าโศกเศร้า น่าเสียใจ รวมถึงความขัดแย้งหลายๆ อย่าง แต่ส่วนตัวอยากเข้ามาทำในส่วนของงานพัฒนาอาสา งานเพื่อสังคม ไม่ได้ต้องการทะเลาะกับใครหรืออะไรทั้งนั้น

“เปรียบเสมือนคนเลือกบ้านหนึ่งหลัง กุ้งไม่ได้ต้องการบ้านหลังใหญ่ หรือเป็นคฤหาสน์ แล้วมีพ่อแม่มาคอยชี้ทางให้เดินแบบไหน อย่างไร ตามเป้าหมายที่พ่อแม่ตั้งไว้ แต่อยากเลือกบ้านที่อบอุ่น แม้จะเป็นบ้านขนาดกลางไม่ใช่คฤหาสน์หลังใหญ่ แต่เป็นบ้านที่พ่อแม่คอยสนับสนุนบุตรหลานหรือสมาชิกในบ้าน เพื่อสานความฝันเก่าๆ ทำตามอุดมการณ์ในกรอบอันดีงาม ถูกต้อง

ซึ่งอยากได้บ้านแบบนี้ เพราะในชีวิตจริงเราไม่ได้เดินอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ อยากให้ทุกอย่างออกมาดีแต่ไม่อยากไปทะเลาะ เพราะจะทำงานไม่ได้ เข้าไปแล้วไปนั่งต่อว่ากัน งานที่จะทำก็ไม่ได้ทำ คนเดินอยู่มาดึงขาหรือวิ่งอยู่แล้วมาดึงเสื้อหรือปัดขา ถามว่าจะวิ่งได้หรือไม่

ถ้ากุ้งรู้ว่าใครวิ่งแล้วได้รับชัยชนะ และส่งผลมาถึงทุกคนให้ได้ดีหมด กุ้งจะไม่ดึงหรือผลักให้เขาล้ม แต่เราจะคอยประคับประคอง หรืออะไรขวางทางเราก็จะช่วย เหตุผลเดียวกันอีกคนวิ่งไม่ไหวแล้วอยู่ข้างหลัง กุ้งจะพาเขาเดินแล้ววิ่งไปด้วยกัน เพราะอยากก้าวข้ามจากสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา

โดยอยากให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันทำประเทศใหม่ อยู่ได้ในบนพื้นฐาน อะไรผิดมาช่วยกันแก้ อะไรถูกและมันดีพัฒนาต่อได้หรือไม่ มันไม่ได้เพื่อแค่ตัวเรา หรือเพื่อการเมือง อย่ามองว่าการเมืองคือ การเมือง แต่การเมืองเป็นการพัฒนาสังคม พัฒนาบ้านเรา”

"แม่หลวงกุ้ง" ขอพัฒนาบ้าน ที่เรียกว่าประเทศชาติ

สุพัตรวี ยอมรับด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานต่อประเด็นถูกทาบทามให้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขต ว่า ทางพรรคยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ภาพที่เห็นลงพื้นที่นั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าใครเป็นเพื่อนหรือคนสนิทจะทราบดีว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอาสาหรืองานช่วยเหลือสังคม งานรวบรวมเยาวชนทำกิจกรรมเป็นงานที่ทำก่อนจะมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน

“งานพวกนี้เป็นงานที่ติดตัวกุ้งมาก่อนทำงานผู้ใหญ่บ้าน แม้ว่าตอนนี้จะลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วก็ตาม กุ้งก็ยังทำงานด้านจิตอาสาอยู่ในพื้นที่ แม้จะไม่มีตำแหน่งใดๆ ยังเป็นกลุ่มไบค์เกอร์ เป็นกลุ่มจิตอาสาเหมือนเดิม ที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้”

แม่หลวงกุ้ง ยังบอกถึงความใฝ่ฝันหากสักวันหนึ่งได้เข้าไปทำงานการเมืองเต็มตัว โดยเฉพาะปัญหาที่พบส่วนใหญ่และอยากแก้ไขคือ เรื่องของผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ แม้ยอมรับว่านโยบายหลายๆ อย่างที่ผ่านมานั้นจะดีมาก แต่ยังเป็นเพียงนามธรรมสวยหรู จึงอยากมาผลักดันให้นโยบายเหล่านั้นเกิดเป็นรูปธรรมลงสู่พื้นที่จริงๆ ซึ่งสำคัญมาก

สุพัตรวี ยกตัวอย่างสิ่งที่เห็นชัดเจนและใกล้ตัวคือ เรื่องของเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ เคยเห็นหรือไม่กับคำว่า “เท่าเทียมแต่ไม่เท่าเทียม” เช่น เด็กด้อยโอกาสหรือเด็กที่ขาดการดูแลจากพ่อแม่โดยแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า หรือพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างพื้นที่ รัฐบอกว่าเรียนฟรีเท่าเทียมกัน แต่เชื่อหรือไม่บนความเท่าเทียมคือ ความไม่เท่าเทียม

“ทุกวันนี้กุ้งอยู่กับแม่ และแม่กุ้งเป็นผู้พิการ กุ้งไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษนอกเหนือสิทธิพึงมี แต่สิ่งที่อยากได้คือ การยอมรับ ความสุข เพราะจากการที่เคยได้ไปสัมมนามา ผู้พิการทางโสตเคยถามว่ามีภาษามือในละครตามโทรทัศน์หรือไม่ ซึ่งบางครั้งผู้พิการเองก็อยากดูละคร แม้เราจะมีโทรทัศน์เหมือนกัน ดูละครเรื่องเดียวกัน สนุกสนานเหมือนกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความเท่าเทียม คือ ความไม่เท่าเทียม”

นอกจากนี้ ผู้พิการทางด้านสายตาแม้จะได้ยิน ก็ไม่อยากให้ใครมาหลอกให้ลงลายเซ็นในเอกสารต่างๆ หรือแม้กระทั่งบนซองอาหารตามร้านสะดวกซื้อ อยากถามว่ามีอักษรเบรลล์ให้กับผู้คนเหล่านี้ได้อ่านกันหรือไม่ ซึ่งผู้พิการหลายคนขาดสิทธิประโยชน์ตรงนี้ ไม่ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการไม่ใช่สิทธิเหนือสิทธิ แต่เป็นสิทธิความเท่าเทียมที่อยู่ได้โดยปกติสุข ถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถือว่าสำคัญมากในเรื่องนี้

แม่หลวงกุ้ง บอกด้วยน้ำเสียงกำเมืองอย่างจริงจังต่อประเด็นการก้าวจากการเมืองท้องถิ่นสู่การเมืองใหญ่ ว่า ทุกคนต้องโต วันหนึ่งอาจต้องเจอฝน หรือเดินฝ่าแดด หรือลุยหนาม ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตคน ถามว่าตัวเองจะเปลี่ยนหรือไม่ ก็คงไม่เยอะ แต่อาจจะโตขึ้น หนักแน่น แข็งแกร่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ยังเป็นคนเดิม

อย่างไรก็ตาม หรือหากในอนาคตข้างหน้าไม่มีโอกาสทำงานอย่างคาดหวัง หรือไม่มีโอกาสทำงานในสภาผู้แทนราษฎร แต่อยากให้เชื่อว่างานอาสาที่ทำอยู่ในพื้นที่มันก็ยังคงมีอยู่ แล้วจะมีไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวตัวตน รวมถึงเพื่อนๆ พี่น้องในพื้นที่ให้อยู่ด้วยกัน

“อยากบอกว่าทุกวันนี้กุ้งอยู่เป็นลูกหลานของพี่น้องทุกคน เพราะกุ้งเองเกิดและอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็เหมือนกุ้งอยู่ในบ้านตัวเอง ทำงานในบ้านของตัวเอง มันไม่มีความยากหรือความง่าย มันมีแต่คำว่าทำอย่างไรให้บ้านดีขึ้น กุ้งเชื่อว่าพี่น้องทุกคน พ่อ แม่ ถ้าลูกหลานทำแบบนี้คงไม่ปฏิเสธเรา

แต่ว่าจะอยู่อย่างไร อยู่แบบไหน กุ้งไม่ได้มองว่างานที่กุ้งอยากทำ เป็นประโยชน์ของตัวกุ้งเอง แต่สิ่งที่จะทำเป็นเพื่ออนาคตของทุกคนได้อย่างไร ปัญหา คือ อะไร แล้วแก้มันได้อย่างไร แต่สิ่งที่ห่วงถ้าเข้าไปแล้วทำได้ไม่เต็มที่ น่าห่วงมากกว่า กุ้งเป็นลูกหลานชาวบ้าน ไม่ได้เป็นครอบครัวนักการเมือง

พ่อแม่ไม่มีพื้นฐานด้านการเมือง กุ้งสู้มาตั้งแต่เล็กๆ ทำในสิ่งเล็กๆ ให้มันได้ แม้กระทั่งกว่าจะมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็เริ่มจากงานพิมพ์เอกสาร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จนกระทั่งได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้านเอง”

"แม่หลวงกุ้ง" ขอพัฒนาบ้าน ที่เรียกว่าประเทศชาติ

สุพัตรวี ยังให้มุมมองต่อการเมืองครั้งนี้ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเธอมองว่าเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก่อนหน้านี้หวังผลยอดกำลังจะแตกหน่อเป็นการเปลี่ยนหลายๆ อย่าง หากจะมองว่าการเปลี่ยนเป็นเรื่องเลวร้าย หรือถ้ามองการเปลี่ยนเป็นเรื่องดีมันก็คือเรื่องดี ถ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องดี ดังนั้น ถ้ามองให้ร้ายมันก็ร้าย ถ้ามองให้ดีมันก็ดี

“ถ้าเรามองด้วยความอคติมันทุกอย่าง ต่อให้เราทำมันบวก มันก็ติดลบ ดังนั้น แทนที่เราจะมองว่ามันไม่ดี มันไปไม่ได้อย่างไร เรากลับมามองกันดีกว่าไหม ที่บอกว่ามันไม่ดี ไปไม่ได้ ทำอย่างไรให้มันดีและไปได้ คือ ให้ไปก่อนแล้วค่อยๆ แก้กันไป จะมองว่าวัวหายล้อมคอกก็ได้ แต่ถามว่าถ้ามันไม่มีวัวหลุดออกคอก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคอกมันพังตรงไหน”

สุพัตรวี ยอมรับว่า การเข้ามาสู่แวดวงการเมืองครั้งนี้ หลายคนหรือแม้กระทั่งญาติพี่น้องเองก็มีความเป็นห่วง แต่ก็อยากให้มองว่าเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานการเมือง เป็นคนพื้นที่คนหนึ่ง ถ้าอยากทำงานแล้วมีโอกาสได้ทำ หากเห็นว่าเป็นลูกหลานจะไม่มาช่วยเพื่อมาทำบ้านให้มันดี จะมองว่าเลวร้ายไปเลยทีเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ แม้จะต่างหมู่บ้าน ต่างหลังคา ต่างที่อยู่ ต่างพรรคการเมือง ท้ายที่สุดแล้วเจตนาเดียวกันใช่หรือไม่ คือ ทำบ้านหรือเรียกว่าประเทศให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นใช่หรือเปล่า

แม่หลวงกุ้ง กล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานพร้อมเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง “ให้เดินเข้ามาถือใบสมัครและเงินเดินเข้าไปหาพรรคการเมืองที่คิดว่าใช่สำหรับตัวเรา แล้วบอกอุดมการณ์ ถามพรรคสนับสนุนเราได้หรือไม่ ไม่ใช่ใครมาชี้ว่าต้องไปตรงนั้น ตรงนี้ กุ้งว่ามันไม่ใช่

เพราะกุ้งเชื่อว่าพื้นฐานของคนทุกคนในสังคมคิดแบบเดียวกันนี้ก็มีจำนวนมาก เพียงแต่ไม่มีโอกาสเข้ามา เชื่อว่าคนเก่ง คนคิดดี คนมีความรู้ความสามารถกว่ากุ้งมีเยอะ จึงอยากชักชวนคนรุ่นใหม่ไม่ว่าโตหรือเด็กกว่าให้เข้ามาจุดนี้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ”

"แม่หลวงกุ้ง" ขอพัฒนาบ้าน ที่เรียกว่าประเทศชาติ