posttoday

ค้านถนน "พะเนินทุ่ง" เส้นทางทำลายป่า

04 พฤศจิกายน 2561

เหตุผลจากนักอนุรักษ์ป่าที่ออกมาคัดค้านการสร้างถนนคอนกรีตมุ่งหน้าขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ที่ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย"

เหตุผลจากนักอนุรักษ์ป่าที่ออกมาคัดค้านการสร้างถนนคอนกรีตมุ่งหน้าขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ที่ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย"

*************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกำลังมีโครงการปรับปรุงถนนตั้งแต่แคมป์ อ.บ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง เพื่อก่อสร้างให้เป็นถนนคอนกรีตขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 20.50 กิโลเมตร มุ่งหน้าขึ้นเขาพะเนินทุ่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แม้จุดมุ่งหมายของโครงการนี้จะทำให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว ทว่าเส้นทางดังกล่าวได้ตัดผ่านกลางป่าซึ่งถือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อย

ทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์เครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน ออกมาทวงติงถึงเจตนารมณ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งผืนป่าไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนน เพราะไม่คุ้มค่าที่จะแลกความสะดวกสบายในการเดินทางท่องเที่ยว หากต้องสูญเสียชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ให้ถูกทำลายไปพร้อมกัน

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า เรื่องของการสร้างถนนทำให้เกิดอัตราการสูญเสียชีวิตสัตว์มากที่สุด เพราะความเสียหายจะเริ่มตั้งแต่ถางป่าขยายถนนให้กว้างขึ้น อีกทั้งการตัดถนนเส้นทางต่างๆ คือการหั่นพื้นที่ป่าออกเป็นชิ้นเล็กๆ ยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่เร่งให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะเรื่องของเสียงเครื่องยนต์ท่อไอเสียจะส่งผลกระทบต่อนก ผลการสำรวจพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขยายพันธุ์ของพืช เพราะนกหนีเสียงรบกวนจึงทำให้พืชจากมูลนกไม่สามารถแพร่พันธุ์ตามวัฏจักรได้ และสิ่งที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือความตายของสัตว์ถูกรถยนต์ชนบ่อยครั้ง ซึ่งไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ถือเป็นปัญหาสำคัญต้องแก้ไข

“สัตว์ที่มักพบว่าถูกรถชนตายมากที่สุดคือ งูเขียว ซาลาแมนเดอร์ ค้างคาว เต่า นก ผีเสื้อ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งสัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก มีการเก็บข้อมูลว่าในแต่ละปีมีสัตว์ถูกชนกว่า 3,000 ตัว/ปี ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง สุดท้ายสัตว์ป่าจะสูญพันธุ์ ยิ่งถนนกว้าง รถยิ่งวิ่งเร็ว ยิ่งสูญเสีย” นพ.รังสฤษฎ์ กล่าว

ค้านถนน "พะเนินทุ่ง" เส้นทางทำลายป่า

วิทวัส นวลอินทร์ มัคคุเทศก์ นักอนุรักษ์ป่า กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้ไปท่องเที่ยวในป่ามานานโดยเฉพาะพื้นที่แก่งกระจาน เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยว ใครที่ขับรถเข้าไปต้องขับช้าๆ อย่างระมัดระวัง ซึ่งมีโอกาสได้เจอสัตว์หายากอย่างกระทิง หมาใน นกเค้าแมว ออกหากินตอนกลางคืน แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีให้เห็น เนื่องจากมีถนนลาดยาง รถยนต์สัญจรเข้ามามากขึ้น ใช้ความเร็วมากขึ้นตามไปด้วย

“ผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการท่องเที่ยวที่เด่นชัดคือ นักท่องเที่ยวจะสร้างความเสียหายต่อป่าและสัตว์ เช่น มีการโห่ร้องส่งเสียงดัง ทิ้งขยะ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากรัฐคิดว่ามีกฎระเบียบคอยควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นต่อการสร้างถนนเส้นนี้ ถือเป็นการลักหลับประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางต่อป่า เชื่อว่าถ้าถนนเส้นนี้สร้างเสร็จนอกจากจะทำให้สัตว์ป่าถูกรถชนตายแล้ว ยังอาจมีประชาชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตกเขาอีกด้วย ดังนั้นจึงมองไม่เห็นถึงความคุ้มค่าเลยแม้แต่น้อย” วิทวัส กล่าว

พัฒนพล กุญชร ณ อยุธยา หรือดีเจแมน ดารานักแสดง กล่าวว่า ในฐานะเป็นคนชอบท่องเที่ยว ทำให้ได้เห็นว่าทุกวันนี้ธรรมชาติกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงว่าจะเหลือสิ่งแวดล้อมธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งเห็นข่าวการล่าสัตว์ผิดกฎหมายยิ่งสะเทือนใจ ฉะนั้นคนไทยทั้งประเทศควรลุกขึ้นมาช่วยกันรักษาป่าไม้ อย่าปล่อยให้เพิ่มมลภาวะ สร้างปัญหาขยะไปมากกว่าเดิม เพื่อสืบทอดทรัพยากรธรรมชาติสู่คนรุ่นต่อๆ ไป

ค้านถนน "พะเนินทุ่ง" เส้นทางทำลายป่า

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน เตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการตัดถนนคอนกรีตขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ โดยขอให้ชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าให้ออกหากินไม่ได้ตามปกติ แต่หากต้องการปรับปรุงถนนทางเครือข่ายเห็นด้วยที่ควรมีการซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุดเฉพาะบางจุดที่มีความเสี่ยง อาทิ บริเวณถนนความสูงลาดชัน หรือจุดที่เกิดน้ำกัดเซาะ ดินถล่มซ้ำซาก ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยชีวิตสัตว์ป่าและประหยัดงบประมาณได้อีกมาก

โดยงานวิจัยพบว่าถนนที่มีการจราจรหนาแน่นขึ้นจะทำให้พื้นที่หากินของสัตว์แคบลง อีกทั้งยังมีปัญหาสัตว์ป่าถูกรถชนตายเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ตัวพร้อมกันนี้ควรเปิดโอกาสให้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ให้ครบถ้วนก่อนเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน