posttoday

เตือนวัยกลางคนดูแลสุขภาพ รับมือสึนามิสังคมคนชรา

02 พฤศจิกายน 2561

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ไทยประกาศว่าเป็นประเทศที่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เพราะในขณะนี้มีประชากรไทยที่มีอายุ 65 ปี หรือแก่กว่ามีจำนวนมากถึง 10% หรือมากกว่า 7 ล้านคน โดยคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2583 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันองค์ความรู้ในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย กำลังถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบมากขึ้น ในแง่ของการมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ใช้รับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยในอนาคต หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้มีทักษะที่หลากหลายเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาก

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีสวัสดิการดีมาก จนนับเป็นต้นแบบของประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับสังคมสูงวัย ก็เริ่มหันไปเน้นเรื่องการเตรียมคนในปัจจุบันให้มีคุณภาพสูงสุด เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น มีประชากรสูงวัยในสัดส่วนที่สูงกว่าบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว และเริ่มพบว่ามีปัญหาอื่นๆ ซึ่งระบบสวัสดิการที่มี ก็ไม่สามารถครอบคลุมหรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่เริ่มซับซ้อนและมีมากขึ้นๆ ได้ การเตรียมการเพื่อให้คนสามารถพึ่งตัวเองได้มากที่สุด และนานที่สุด เริ่มสอนคนให้มีทักษะชีวิตตั้งแต่ยังเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ กล่าวว่า หากตระหนักว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงสังคมสูงวัยที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ ก็ย่อมเข้าใจเช่นกันว่าการเตรียมพร้อมตั้งแต่ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้ที่มีอายุ 30-50 ปีในปัจจุบัน หรือกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ผู้สูงอายุสำรอง" ต้องเริ่มดูแลสุขภาพตัวเอง เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นคลื่นสึนามิแห่งสังคมสูงวัยที่จะพัดมาถึงปัจจุบันมีสัดส่วนคนทำงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอนาคตจะเหลือคนทำงาน 2 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน

"เรื่องของการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมเป็นเรื่องใหญ่ เพื่อให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ดูแลตัวเองให้ได้นานที่สุด หากไม่เตรียม และคิดจะแก้ปัญหาในปั้นปลาย ก็ยากจะรับมือได้"

อาจารย์วิพรรณ กล่าวว่า หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เคยใช้วิธีเตรียมการสร้างสถานที่ดูแลผู้สูงอายุนอกบ้านเดิมที่เคยอยู่ช่วงวัยทำงานไว้รองรับ แต่ผลสุดท้ายก็ไปไม่รอด เพราะพบว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก จนต้องมีการเปลี่ยนแผนใหม่ให้ผู้สูงอายุอยู่ที่เดิม อยู่ในบ้าน ในชุมชนเดิมให้มากที่สุด ต้องหาระบบที่ส่งเสริมให้คนสูงอายุอยู่ในบ้านเดิมให้ได้นานที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งต้องตามไปดูนโยบายด้านสังคม เช่น สร้างสถานที่ที่มีกิจกรรม มีงานที่ยังให้คนสูงวัยมีส่วนร่วมได้ เป็นงานที่เหมาะสมกับสมรรถภาพร่างกาย หรือเป็นงานใหม่ที่นำผู้สูงอายุมาฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพก่อนก็ได้

อาจารย์วิพรรณ กล่าวด้วยว่า บทเรียนที่ได้จากหลายประเทศ เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้สังคมไทยต้องเตรียมการเพื่อรับมือให้รอบคอบรัดกุมมากขึ้น และท้าทายมาก

"คนรุ่นปัจจุบันจำเป็นที่จะต้อง เตรียมทักษะชีวิตในหลายๆ ด้านให้พร้อมรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยให้พร้อม เพราะนวัตกรรมที่เปลี่ยนเร็ว จนอาจจะทำให้ต้องตกงานก่อนวัยเกษียณ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดชีวิตให้พร้อมที่จะทำงานใหม่ๆ

ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการออมอย่างรอบคอบ เพราะลำพังแค่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจไม่เพียงพอ รวมถึงเริ่มจัดการวางแผนเพื่อเก็บออมเงิน ซึ่งสำคัญมาก หากไม่เริ่มทำตอนนี้ก็ไม่ทัน
 
ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นเจ้านายตัวเอง แล้วตัดสินใจลาออกจากงานประจำเร็วขึ้น ให้เปลี่ยนเป็นทำงานให้ยาวนานขึ้น เพราะมีบทเรียนว่าหลายคนที่ออกไปทำธุรกิจหรือเล่นหุ้น สุดท้ายก็ล้มเหลวเพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ ฉะนั้นทุนมนุษย์สำหรับการวางแผนให้สามารถทำงานต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไทยจึงต้องเร่งหาแผนรับมืออย่างเป็นระบบ หากสำเร็จ ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางในการรับมือกับสังคมสูงวัยของอาเซียนที่สำคัญมาก" อาจารย์วิพรรณ กล่าว

ภาพประกอบข่าว