posttoday

"รามคำแหง"เรียนระบบเปิด ไม่กระทบวิกฤตไร้ผู้เรียน

22 ตุลาคม 2561

มหาวิทยาลัยรามคำแหงกับการเรียนแบบระบบเปิดที่ดำเนินการมายาวนาน ที่ยิ่งกลายเป็นแนวทางตอบโจทย์เทรนด์ของผู้เรียนในยุคนี้

มหาวิทยาลัยรามคำแหงกับการเรียนแบบระบบเปิดที่ดำเนินการมายาวนาน ที่ยิ่งกลายเป็นแนวทางตอบโจทย์เทรนด์ของผู้เรียนในยุคนี้

******************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

วิกฤตมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเป็นไปดังที่ถูกคาดการณ์กันว่า ในอนาคต 1 ใน 3 หรืออาจจะมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะประสบปัญหามีผู้เรียนลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนอาจจะต้องปิดตัวไปในที่สุด

สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โมเดลในการรับมือกับวิกฤตถูกเสนอว่า ต้องนำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาช่วย เพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน เปิดสาขาวิชาที่เป็นสาขาวิชาที่เป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่ม และหันไปสอนหลักสูตรระยะสั้นมากขึ้น

แนวทางในการรับมือกับวิกฤตในแบบที่กล่าวมาจะถูกปรับใช้ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวทางที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเปิด อย่าง รามคำแหง ระบุว่าเป็นสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว บางแนวคิดที่สอดคล้องกับที่กล่าวมาได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มก่อตั้ง

วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) กล่าวว่า ม.ร.นั้นตอบโจทย์การเรียนการสอนแบบที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่กำลังจะวางแผน ปรับตัวมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา (Open Admission University) หรือเป็นในแบบที่เรียกว่า เป็นการผสมผสานกันระหว่างการจัดการเรียนการสอนแบบชั้นเรียนบรรยายกับการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ โดยไม่จำกัดจำนวนรับของผู้เรียน หรือเป็นกึ่งมหาวิทยาลัยปิด กึ่งมหาวิทยาลัยเปิด

เราถูกบังคับให้คิดเรื่องนี้ 40 กว่าปีมาแล้ว กล่าวได้ว่า เราเป็นรายแรกของประเทศไทยที่คิดสร้างระบบการเรียนโดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน ระดับปริญญาตรีสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่บ้านหรืออยากเข้าชั้นเรียนก็สามารถทำได้ แต่ไม่มีการเช็กชื่อ

เมื่อได้โจทย์มาแล้วเราก็ต้องหาทางออก ว่าหากถ้าไม่เข้าห้องเรียนแล้วจะเรียนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร เราก็คิดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่หลากหลาย สื่อการสอนต่างๆ ต้องพร้อมปีแรกๆ การเรียนการสอนในระบบทางไกลอาจจะยังไม่ค่อยพร้อม แต่ต่อมาก็มีเรียนผ่านดาวเทียม เราเป็นผู้ริเริ่มการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นการเรียนการสอนแบบสองทางจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ไปยังวิทยาเขตฯ บางนา ต่อมามหาวิทยาลัยได้ขยายสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติออกไปตามจังหวัดต่างๆ

ม.ร.พัฒนาเรื่องนี้มาโดยลำดับ จนสามารถนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทางการศึกษา คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาได้เรียน ได้ฟังการบรรยายสรุปได้อย่างเต็มรูปแบบในทุกวันนี้” อธิการบดี ม.ร. กล่าว

\"รามคำแหง\"เรียนระบบเปิด ไม่กระทบวิกฤตไร้ผู้เรียน

จากยุคเรียนผ่านดาวเทียม พัฒนามาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งได้จัดให้มีการถ่ายทอดสด การเรียนการสอนจากห้องเรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเรียกว่า Ru Cyberclassrooms ซึ่งผู้เรียนสามารถรับชมได้แบบเสมือนนั่งเรียนอยู่ในชั้นเรียน และสามารถดูคลิปการสอนซ้ำได้จากการโหลดไฟล์ได้จากเว็บไซต์ที่ ม.ร.ได้จัดทำขึ้น

แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าการเรียนการสอนของเรามีคุณภาพ สิ่งที่บอกเรื่องนี้ได้ก็คือการประเมินผล เราไม่มีสอบเข้าเรียน แต่ต้องสอบออก และต้องผ่านทุกกระบวนวิชาตามที่กำหนด จึงจะออกไป หรือจบการศึกษาได้

นักศึกษาสามารถใช้บริการ e-Testing ของสำนักทดสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สะดวกสำหรับผู้เรียนที่ทำงานแล้ว รองรับทุกช่วงวัย รวมถึงสามารถระบุวันสอบในกระบวนวิชาที่เคยลงทะเบียนกับทางมหาวิทยาลัยไว้ได้เอง ถึงแม้จะทำงานในวันปกติ ก็ยังสามารถมาสอบได้ โดยไม่เสียเวลางาน แต่วิชาที่มี e-Testing ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาพื้นฐาน หรือวิชาหมวดการศึกษาทั่วไป

แต่การเรียนโดยไม่ต้องเข้าห้องเรียนนั้นไม่สามารถทำได้ทุกสาขาวิชา มีบางสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวะ ก็ยังต้องบังคับให้นักศึกษาต้องมาเข้าห้องปฏิบัติการ

ด้วยการออกแบบการเรียนการสอนตามที่กล่าวมา ส่งผลให้เมื่อมีวิกฤตผู้เรียนลดลงหลายที่กำลังลำบาก แต่ผลปรากฏว่า ม.ร.ได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะกลุ่มนักศึกษาของเรามาจากผู้เรียนหลากหลายประเภท เรื่องนี้เห็นได้จากวันรับพระราชทานปริญญาบัตร ที่มีคนหลากหลายวัย บางปีถึงกับมีพ่อกับลูกรับปริญญาพร้อมกัน นักศึกษาที่มีอายุมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งมา ก็คือ 92 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตผู้เรียน สถาบันอื่นๆ กำลังหาทางออกด้วยการเปิดการเรียนการสอนออนไลน์มาก ขึ้น เราซึ่งอยู่ตรงนี้มานาน ก็ต้องมาดูว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้างให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถาบันอื่นๆ ที่จะเปลี่ยนมาเอาอย่างเรา”วุฒิศักดิ์ กล่าว