posttoday

ฟันธงเลือกตั้งใหญ่ปี’62 ทุจริตกว่าทุกครั้งเหตุอั้นมาหลายปี

23 กันยายน 2561

"สังศิต พิริยะรังสรรค์" คาดเลือกตั้งใหญ่ปี2562 จะเกิดการทุจริตทางการเมืองที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาลและรุนแรงกว่าทุกปี

"สังศิต พิริยะรังสรรค์" คาดเลือกตั้งใหญ่ปี2562 จะเกิดการทุจริตทางการเมืองที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาลและรุนแรงกว่าทุกปี

******************************

โดย...ปริญญา ชูเลขา

การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการหรือการเมืองเป็นปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและเป็นปัญหาที่จัดการยาก แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาสารพัดวิธีการ แต่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาการทุจริตให้หมดสิ้นไปได้ รวมทั้งรูปแบบการทุจริตในปัจจุบันมีความซับซ้อนและแยบยลขึ้นเรื่อยๆ กว่าในอดีต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเครื่องมือ

โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษ “สังศิต พิริยะรังสรรค์” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งเดือน ก.พ. 2562 จะมีการทุจริตซื้อเสียงอย่างรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

สังศิต กล่าวว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีหน้า จะเกิดการทุจริตทางการเมืองที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาลและรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นมานานถึง 4 ปี บรรดานักการเมืองจึงต้องการเอาชนะเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งและอำนาจ ยิ่งมีการห้ามหาเสียง และกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่กำหนดข้อบังคับในการหาสมาชิก โดยสมาชิกต้องจ่ายเงินส่วนตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรค 100 บาท แน่นอนประชาชนทั่วไปย่อมไม่สนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค ดังนั้นนักการเมืองจึงต้องใช้วิธีเกณฑ์หรือจ่ายแทน เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกพรรค ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อเสียงกันอย่างมหาศาลกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา

“การเลือกคนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคบางพรรคมีการกำหนดตัวกันแล้วอาจจะไม่มีปัญหา แต่บางพรรคที่มีการแข่งขันสูงๆ มีผู้สมัครหลายคน แน่นอนจะต้องมีการช่วงชิงซื้อขายกันเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงในการโหวต หรือแม้แต่การเลือกผู้สมัคร สส.เขต ตามกฎหมายใหม่เขตการเลือกตั้งลดลง ขณะที่จำนวนประชากรในพื้นที่ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอดีต สส.เขต กับผู้สมัครหน้าใหม่ ที่ต้องการลงสมัครและชนะเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อเสียงกันสูงมาก” สังศิต กล่าว

สังศิต กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นประเทศไทยเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วเพราะไทยมีระบบการเมืองแบบปิด มีจุดอ่อนคือไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบการทำงานได้อย่างแท้จริง แม้จะมีรัฐสภาหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของนักการเมืองได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลปัจจุบันได้ออกกฎหมายดีๆ เกี่ยวกับการป้องกันและป้องปรามการทุจริตจำนวนมาก และหากจะเปรียบเทียบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลใดคอร์รัปชั่นมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใดมีอำนาจเข้มแข็ง เพราะไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากมีอำนาจเข้มแข็งปราศจากฝ่ายค้าน หรือ องค์กรใดสามารถตรวจสอบได้ ย่อมสามารถทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากพอๆ กัน

ดังนั้น การทุจริตขึ้นอยู่กับรัฐบาลใดมีอำนาจมากหรือมีอำนาจน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสมัย อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานภารกิจหลักของรัฐบาลอานันท์ในสมัยนั้น คือ การร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับรัฐบาล สุรยุทธ์
จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาอยู่ในอำนาจได้ไม่นานไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนักจึงเกิดการทุจริตน้อย

“ถ้ารัฐบาลเลือกตั้งที่ได้เสียงข้างมาก โดยที่ฝ่ายค้านอภิปรายหรือตรวจสอบไม่ได้ก็เกิดการทุจริตได้มากเหมือนกัน เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่หากรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วเสียงรัฐบาลไม่เยอะ เสถียรภาพไม่สูงการทุจริตก็ทำได้ยากเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งขึ้นกับว่ารัฐบาลใดมีอำนาจมากก็ทุจริตมาก มีอำนาจน้อยก็ทุจริตน้อย”

สังศิต กล่าวว่า อยากให้ความรู้ถึงกลโกงรูปแบบใหม่ของการคอร์รัปชั่นเพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมารูปแบบการทุจริตได้กลายพันธุ์และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ปัจจุบันจากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบหรือกลโกงการทุจริตแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นให้เห็นตลอดผ่านการหาช่องโหว่ช่องว่างเพื่อคอร์รัปชั่นผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีหน่วยงานใดกล้าเข้าไปตรวจสอบ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายหน่วยงาน
ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่เอื้อต่อการทุจริตรูปแบบพิเศษ คือ ใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างโดยเป็นการดำเนินการจากข้าราชการระดับสูงจากส่วนกลางในการกำหนดโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการหรือความจำเป็นของคนในพื้นที่แต่อย่างใด

“หลายกิจกรรม หรือโครงการในพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากข้าราชการระดับสูงจากส่วนกลาง ไม่ได้เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ การกระทำลักษณะนี้เกิดในหน่วยงานอื่นๆ ด้วย จึงอยากให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง ควรนำกฎหมายปกติ คือ พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พร้อมกับให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือประกาศบนเว็บไซต์ รวมถึงให้มีการติดป้ายประกาศตั้งแต่ก่อนและหลังประมูล เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าผู้ใดชนะการประมูล มูลค่าโครงการเท่าไร และดำเนินการจะแล้วเสร็จเมื่อไร เพื่อแก้ปัญหาการใช้อำนาจจากส่วนกลางมาเอื้อให้เกิดการทุจริต” สังศิต กล่าว

ฟันธงเลือกตั้งใหญ่ปี’62 ทุจริตกว่าทุกครั้งเหตุอั้นมาหลายปี

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ารูปแบบการทุจริตได้แพร่กระจายไปในหลายระดับ ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กเกิดการทุจริตอย่างมาก แต่ปราศจากการตรวจสอบ เพราะมูลค่าโครงการไม่สูงมากนัก เช่น 1-5 ล้านบาท เพราะในสายตาคนทั่วไปมองว่าคงทุจริตกันไม่เยอะ หรือทุจริตกันจริงๆ ก็คงคิดเป็นเงินเพียงนิดเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นความคิดอันตราย แต่หากรวมกันทั้งประเทศ หรือย้อนหลังรวมกันหลายๆ ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามูลค่ามหาศาลนับหมื่นล้านบาทเช่นกัน

ขณะที่โครงการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่มูลค่านับพันหรือหมื่นล้านบาทเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยมาก เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสนใจและสื่อมวลชนก็จับตามองจึงเกิดการทุจริตน้อยกว่าโครงการลงทุนขนาดเล็กๆ ในท้องถิ่น ที่สำคัญมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ควบคุมอยู่ แต่โครงการขนาดเล็กในท้องถิ่นกฎหมายปกติเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึงและสื่อมวลชนไม่ได้สนใจด้วย ดังนั้นต้องมีมาตรการที่บังคับให้ท้องถิ่นต้องจัดประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ และต้องติดประกาศแจ้งเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รู้ว่าใครชนะประมูล เพราะทราบดีบางพื้นที่ใช้ผู้มีอิทธิพลและใช้ระบบเครือญาติในการเอาชนะการประมูลโครงการ จึงทำให้บางตระกูลหรือนักการเมืองท้องถิ่นบางคนผูกขาดได้โครงการจากภาครัฐมาโดยตลอด

“การคอร์รัปชั่นมีโอกาสขยายตัวสูงเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจบิดเบือนในการตัดสินใจแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งผลจากการคอร์รัปชั่นในระดับจุลภาคทำให้การแข่งขันทางธุรกิจไม่เป็นธรรมและทำลายระบบเศรษฐกิจของไทยโดยตรง” สังศิต กล่าว

สังศิต กล่าวว่า ยังมีการทุจริตซื้อขายตำแหน่ง หรือเรียกว่า Bureaucratic Corruption ซึ่งแพร่ระบาดมากในการเมืองท้องถิ่น สาเหตุมาจากการเมืองท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบรรจุหรือแต่งตั้งบุคลากรได้โดยปราศจากการตรวจสอบจากหน่วยงานใด ตัวอย่างเช่น การเปิดประกาศรับสมัครหรือสอบคัดเลือกเจ้าหน้าที่เป็นเพียงพิธีกรรมบังหน้าเท่านั้น แต่นักการเมืองท้องถิ่นได้ล็อกตัวบุคคลที่จะบรรจุเข้าไปอยู่ในตำแหน่งนั้นอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ที่ จ.ระยอง ผู้สมัครสอบเจ้าหน้าที่ อบต.ประท้วงไม่ยอมรับผลสอบไปร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่ลงนามแต่งตั้งตามที่ อบต.แห่งนั้นเสนอชื่อขึ้นไป ต่อมาเกิดมีมวลชนมาขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทางส่วนกลางจึงต้องย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดคนดังกล่าวออกนอกพื้นที่ ดังนั้นในการแต่งตั้งหรือสอบคัดเลือกตำแหน่งในท้องถิ่น ควรกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีส่วนเข้าไปตรวจสอบด้วย ไม่ควรให้อำนาจท้องถิ่นเบ็ดเสร็จ

“เวลามีการสอบแข่งขันบรรจุคนเข้าทำงานในท้องถิ่นมีการแข่งขันกันสูงและคนมาสอบกันจำนวนมาก บางแห่งประกาศรับสมัครแต่ไม่ได้มีการสอบกันจริงๆ เพราะเป็นอำนาจนักการเมืองท้องถิ่น ที่อยากจะตั้งใครเข้าทำงาน ถือเป็นการคอร์รัปชั่นทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่สร้างความเสียหายแก่สังคมไทย” สังศิต ทิ้งท้าย