posttoday

หยั่งเสียง "ผู้นำประชาธิปัตย์" ไม่ผูกมัดเลือกหัวหน้า

16 กันยายน 2561

"ถวิล ไพรสณฑ์"อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดทำร่างข้อบังคับฉบับใหม่ เผยที่มาการเลือกหัวหน้าพรรคที่มีการปรับปรุงครั้งสำคัญ

"ถวิล ไพรสณฑ์"อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดทำร่างข้อบังคับฉบับใหม่ เผยที่มาการเลือกหัวหน้าพรรคที่มีการปรับปรุงครั้งสำคัญ

*********************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

การเปิดให้สมาชิกพรรคสามารถเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ได้โดยตรง นับเป็นการขยับครั้งสำคัญของพรรคที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานกว่า​ 71 ปี

ทั้งในแง่การยกเครื่องปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยกับการไพรมารีโหวตหัวหน้าพรรคผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ อีกด้านยังลดภาพการผูกขาด เปิดกว้างให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคอย่างกว้างขวาง

แม้จะมีเสียงสะท้อนตามมาว่า นี่อาจเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เพราะสุดท้ายอำนาจชี้ขาดการเลือกหัวหน้าพรรคก็ยังอยู่ในมือของที่ประชุมใหญ่ 250 คนอยู่ดี แถมรายละเอียดปลีกย่อยยังคล้ายจะกีดกันบุคคลที่จะขึ้นมาท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ​

ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดทำร่างข้อบังคับฉบับใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษแจกแจงรายละเอียดตลอดจนที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ต้องแก้ไขข้อบังคับเพราะต้องปรับปรุงประเด็นต่างๆ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

สำหรับประเด็นสำคัญที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางตามรัฐธรรมนูญ คือ วิธีการ​หยั่งเสียงเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จาก​ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้อำนาจเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารเป็นของที่ประชุมใหญ่อันประกอบด้วย อดีต สส.และสมาชิกพรรค ไม่น้อยกว่า 250 คน แต่ทาง ​อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เห็นว่าไม่กว้างขวางพอ อยากให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง

ทั้งนี้ บุคคลที่จะสามารถมีส่วนร่วมหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคตามข้อบังคับพรรคใหม่ คือ 1.สมาชิกที่มายืนยันความเป็นสมาชิกก่อนวันที่ 30 เม.ย. 2561 ประมาณ 8 หมื่นคน 2.อดีตสมาชิกเกือบ 2 ล้านคน ที่ไม่ได้มายืนยันความเป็นสมาชิกแต่มีความประสงค์ที่จะลงคะแนนก็สามารถลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ และ 3.กลุ่มคนที่จะมาสมัครสมาชิกหลังปลดล็อกทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เปิดให้อดีตสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคนั้น เพราะเขาเหล่านั้นมีความผูกพันกับพรรค แต่เขาไม่ได้มายืนยันจึงทำให้หมดความเป็นสมาชิก หากไปดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 141 จะพบว่ามีความขัดแย้งกันเอง คือ ถ้าไม่มายืนยันในวันที่ 30 เม.ย. 2561 จะพ้นจากการเป็นสมาชิก แต่ถ้าไม่เสียค่าบำรุงจะพ้นจากสมาชิกภาพเมื่อครบ 4 ปี

“ยืนยันว่าความคิดเหล่านี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิด เพราะการที่ คสช.ให้เวลาเราเดือนเดียวในการยืนยันความเป็นสมาชิกกว่า 2 ล้านคนนั้นทำไม่ทัน เพราะเขาต้องมายืนยันที่พรรค เสียงเงินร้อยบาท 30 วัน ไม่มีทางทัน แม้แต่การประชาสัมพันธ์ก็ทำไม่ได้ เขามีความผูกพันกับเราอยู่แล้ว เราจะปล่อยเขาทิ้งได้อย่างไร และการให้เขามีส่วนร่วมมองดูแล้วก็ไม่ขัดกฎหมาย”

ถวิล ขยายความว่า การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ จะใช้รูปแบบเดียวคือการออกเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอยู่ระหว่างให้ทางฝ่ายไอทีไปดำเนินการเพราะต้องระวังเรื่องการลงคะแนนซ้ำหรือมีคนอื่นมาใช้โทรศัพท์ โดยจะต้องให้หนึ่งคนมีสิทธิออกเสียงแค่หนึ่งครั้ง

“กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะในที่สุด ใครที่ได้อันดับแรกของผลการหยั่งเสียงก็ไม่ถือเป็นข้อผูกมัดของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ 250 คน จะไม่เอาก็ได้ เพราะในกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่าคนที่จะเลือกหัวหน้าพรรคได้คือที่ประชุมใหญ่เท่านั้น ในข้อบังคับพรรคจึงเขียนว่า การลงคะแนนหยั่งเสียงเบื้องต้นเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

...เราทำเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่คำนึงว่า เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกต้องการคนนี้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ 250 คนจะไม่เอาก็ได้ในทางปฏิบัติ แต่ถ้าคุณเป็นคนเลือกคุณจะไม่เอาคนที่ได้ที่หนึ่งหรือ มันก็ฝืนความเป็นจริง แต่เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะที่ประชุมใหญ่เขามีอำนาจเด็ดขาดตามกฎหมายพรรคการเมือง”​

หยั่งเสียง "ผู้นำประชาธิปัตย์" ไม่ผูกมัดเลือกหัวหน้า

ถามว่าทำไมไม่เขียนข้อบังคับให้ชัดเจนไปเลย ว่าที่ประชุมใหญ่จะต้องยึดตามผลการหยั่งเสียงของสมาชิกไปเลย ถวิล กล่าวว่า เขียนล็อกเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหากเขียนล็อกจะผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายให้อำนาจของที่ประชุมใหญ่เป็นคนเลือกหัวหน้าพรรค การเขียนแค่นี้จึงทำให้เราไม่ทำผิดกฎหมาย

ถวิล ย้ำว่า ในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคจะมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด จำนวน 5 คน ซึ่งผู้ที่เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะเป็นคนเลือกกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่กรรมการบริหารเป็นคนเลือกเพื่อมาทำหน้าที่จัดการหยั่งเสียง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน

ส่วนคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคนั้น รายละเอียดจะคล้ายกับข้อบังคับเดิม แต่มีแก้ไขเพิ่มตรงที่กำหนดให้เคยเป็นอดีต สส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีข้อยกเว้นถ้าเป็นคนนอกมาสมัคร โดยไม่ใช่อดีตสมาชิกพรรคต้องมีอดีต สส.รับรอง 40 คน และสมาชิกพรรคภาคละ 1,000 คน ขณะที่หากเป็นสมาชิกพรรค จะให้อดีต สส.รับรองเพียงแค่ 20 คน และสมาชิกภาคละ 500 คน

ถามว่ารายละเอียดตรงนี้คิดขึ้นมาสกัดกระบวนการฮุบพรรคของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ถวิล ชี้แจงว่า คงไม่ใช่เรื่องการป้องกัน โดยข้อบังคับเดิมเรามีอยู่แล้วว่าคนเป็นหัวหน้าพรรคต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เราเพิ่มเติมขึ้นมาเพียงแต่ให้คนนอกที่จะมาสมัครเป็นสมาชิกใหม่อย่างน้อยที่สุดต้องให้มีคนในรับรอง หรือรู้เห็นเป็นใจบ้าง ไม่ใช่คุณมาจากไหนก็ไม่รู้ หรือให้ใครที่ไหนมาขอลงเลย

“สิ่งที่จะได้จากการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค คือ หนึ่ง สมาชิกพรรคจะได้มีความตื่นตัวทางการเมือง สอง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่เขียนในรัฐธรรมนูญ คือ การดำเนินการของพรรคต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และสาม เมื่อไพรมารีโหวตไม่มีแล้ว การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางก็ไม่มี ดังนั้นจึงต้องมีทางอื่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง”

ถวิล อธิบายว่า ในข้อบังคับพรรคไม่สามารถกำหนดรายละเอียดว่ากระบวนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคจะต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือหาเสียงอย่างไร เพราะขณะนี้ คสช.ยังไม่ได้คลายล็อกให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ รายละเอียดจึงต้องรอจนกว่า คสช.จะคลายล็อก

ส่วนขั้นตอนนั้นเวลานี้ร่างแก้ไขข้อบังคับเสร็จ 100% แล้ว รอเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค หาก คสช.คลายล็อกให้พรรคการเมืองประชุมได้ ก็นำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารเพื่ออนุมัติการแก้ไข และนำเข้าที่ประชุมใหญ่ 250 คน เพื่อให้เห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับพรรค จากนั้นถึงจะเริ่มต้นกระบวนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคต่อไป

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ไม่มีสาขาพรรค เพราะคำสั่ง คสช.ให้ยกเลิกสาขาพรรคทั้งหมด ที่ประชุมใหญ่ 250 คน จึงมีเพียงแค่อดีต สส. 100 กว่าคน ซึ่งกรรมการบริหารพรรคจะแต่งตั้งสมาชิกเพิ่มให้ครบ 250 คน โดยจะให้รองหัวหน้าพรรคแต่ละภาคไปพิจารณาว่าจะเลือกใคร​จากสมาชิกที่มีอยู่แล้ว 8 หมื่นกว่าคน

ถามถึงความเป็นไปได้สำหรับการต่อยอดไปสู่การทำไพรมารีโหวตเลือกผู้สมัคร สส.ในอนาคตด้วยรูปแบบเดียวกันนี้ ถวิล ระบุว่า ไม่มีปัญหา เพราะเดิมประชาธิปัตย์ใช้วิธีให้สาขาพรรคเป็นผู้พิจารณาผู้สมัครซึ่งเป็นวิธีทำไพรมารีโหวตอยู่แล้ว แต่เมื่อ คสช.เปลี่ยนให้ใช้เป็นรูปแบบกรรมการ 11 คน พิจารณาผู้สมัคร พรรคก็จะต้องแก้ไขให้เป็นไปตามที่กำหนด

“ส่วนอนาคตจะปรับให้เป็นระบบสรรหาจากสาขาพรรคหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องค่อยดูกันต่อไป เพราะเวลานี้ยังไม่มีสาขาพรรค แต่ตั้งใจว่าจะตั้งให้ได้ครบ 350 เขต ตามเขตเลือกตั้ง เวลานี้ก็เขียนข้อบังคับให้สอดรับกับกฎหมายพรรคการเมืองไปก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยุ่งยากสำหรับพรรคการเมือง ไม่เห็นใจพรรคการเมืองเลย แต่ก็ต้องทำตาม”​

ถวิล อธิบายว่า การมีสาขาพรรคครบ 350 เขต ก็จะคล้ายกับต่างประเทศมีสมาชิกกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางพบปะประชาชน ทำงานร่วมกับประชาชน ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นไม่ค่อยมีสาขาพรรค แต่เพราะประชาธิปัตย์เป็นพรรคมานานมีการสั่งสมมาเรื่อยๆ จนมีสมาชิก 2.5 ล้านคน พรรคอื่นคงทำไม่ได้

ถามว่า ในฐานะที่อยู่ประชาธิปัตย์มายาวนานเห็นการเปลี่ยนแปลงมาหลายรอบเป็นห่วงหรือไม่ว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะสร้างความปั่นป่วนภายในหรือไม่ ถวิล กล่าวว่า คนภายนอกอาจจะมองว่ามีความปั่นป่วนบ้าง แต่ส่วนตัวเขาเห็นว่าเป็นเรื่องดี การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาก็มีการแข่งขันดุเดือดบ้าง ไม่มีบ้าง นี่แหละคือประชาธิปัตย์​ ​เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องประชาธิปไตย

ส่วนการเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคจะทำให้เกิดการเกณฑ์หาสมาชิกมาสนับสนุนฝั่งตัวเองจนเกิดปัญหาหรือไม่นั้น ถวิลกล่าวว่า ไม่อยากให้คิดในมุมนั้น อย่างไรมันก็ต้องเริ่มต้น อยากให้มองมุมกลับว่า กลไกนี้จะทำให้ความขัดแย้งไม่เกิดขึ้น เพราะถ้านาย ก.ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ​นาย ข. นาย ค. จะไม่ยอมรับได้อย่างไร

“สุดท้ายเชื่อว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือ​มีการแยกตัวออกไปตั้ง​พรรคใหม่เหมือนในอดีต เวลานี้พรรคการเมืองมีเป็นร้อยแล้วอย่าไปเพิ่มเลย” ถวิล กล่าว​พร้อมหัวเราะ