posttoday

แค่คลายล็อก เปิดฤดูกาลเลือกตั้ง

16 กันยายน 2561

วันนี้ "คสช."คลายล็อกให้เพียงบางส่วนก่อน และเมื่อครบ 90 วันที่ กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้จริงจึงจะปลดล็อกให้ทั้งหมด

วันนี้ "คสช."คลายล็อกให้เพียงบางส่วนก่อน และเมื่อครบ 90 วันที่ กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้จริงจึงจะปลดล็อกให้ทั้งหมด

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 เปิดทางทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะ พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส.และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่ “บิ๊กตู่” เคยให้คำมั่นสัญญาไว้

อย่างไรก็ตาม คสช.จะคลายล็อกให้เพียงบางส่วนก่อน หลังกฎหมายเลือกตั้ง สส.ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อครบ 90 วันที่กฎหมายมีผลใช้จริง ทาง คสช.จะปลดล็อกให้ทั้งหมด จึงเป็นที่มาคำสั่งที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยมีเนื้อหา 9 ข้อ

สำหรับเนื้อหาสำคัญที่ “คลายล็อก” มากกว่าปลดล็อกทางการเมือง เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งโดยกำหนดกิจกรรม 7 ประเภท ที่พรรคการเมืองต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 5 วันก่อนดำเนินการ ประกอบด้วย แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์การเมือง และนโยบาย, เลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร, จัดตั้งสาขาพรรค, รับสมาชิกพรรค, จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง, มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และกิจกรรมการเมืองอื่นที่ คสช.กำหนด

เหตุผลที่ต้องคลายล็อก อาทิ การเปิดประชุมพรรค เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบรายชื่อจำนวนสมาชิกพรรค เพราะสมาชิกพรรคมีความสำคัญกับการเลือกผู้บริหารพรรค การกำหนดยุทธศาสตร์ หรือนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือการตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครคนใดลงแข่งขันในแต่ละพื้นที่

การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมีหลายพรรคเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างผู้บริหารพรรค หรือบางพรรคต้องการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพราะตำแหน่งหัวหน้าพรรคนับเป็นสิ่งสำคัญมากในการจะกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายพรรค การจัดทำข้อบังคับพรรค จะต้องเป็นการดำเนินการที่ให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง หรือการตั้งสาขาพรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะพรรคการเมืองเก่าสาขาพรรคต้องถูกยุบไปตามคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560

การหาสมาชิกพรรคการเมืองต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่และคำสั่งของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการหาสมาชิกใหม่แทนสมาชิกเก่าที่พ้นสภาพไป และการขยายเวลาตั้งกองทุนประเดิมพรรค ซึ่งต้องมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพราะทราบดีว่าพรรคเก่าสามารถนำเงินที่มีอยู่ในบัญชีของพรรค หรือตีมูลค่าทรัพย์สินที่มี รวมเป็นทุนประเดิม 1 ล้านบาทได้

ส่วนพรรคใหม่กลับกำหนดวิธีการให้สมาชิกก่อตั้ง 500 คน ต้องมีส่วนร่วมในการสละเงินเป็นทุนประเดิมอย่างทั่วหน้า คือ ต้องไม่น้อยกว่า 1,000 บาท และไม่เกิน 5 หมื่นบาท/สมาชิกก่อตั้ง 1 คน ดังนั้นการหาสมาชิกก่อตั้ง 500 คน ในทางปฏิบัตินับเป็นเรื่องยากมาก จึงเกิดเสียงคัดค้านจากบรรดาพรรคเกิดใหม่ เพราะข้อกำหนดนี้จะทำให้พรรคเล็กๆ เกิดยาก เพราะไม่อาจหาเงินทุนประเดิม 1 ล้านบาท ได้ทัน 180 วัน

นอกจากนี้ คำสั่ง คสช.ได้สั่งยกเลิก แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อความใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 5 มาตรา ที่น่าสนใจคือมีความชัดเจนแล้วว่าจะไม่ให้นำระบบเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร 11 คน ประกอบด้วย กรรมการบริหาร 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคเลือก 7 คน แล้วเสนอให้กรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ และ คสช. เปิดทางให้พรรคการเมืองใช้เทคโนโลยีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประชาสัมพันธ์ได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง

ขณะนี้แทบจะไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 24 ก.พ. 2562 ดังนั้นประเด็นสำคัญวันนี้คือต้องจับตาดูว่าคำสั่งคลายล็อกพรรคการเมือง ฝ่ายการเมืองจะยอมรับได้หรือไม่