posttoday

เบื้องหลัง'ศึกใน' ประชาธิปัตย์ ยุทธการโค่นเก้าอี้มาร์ค

14 กันยายน 2561

บรรยากาศในพรรคประชาธิปัตย์กลับมาร้อนระอุอีกครั้งในวันที่เก้าอี้หัวหน้าพรรคของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เริ่มสั่นคลอนเมื่อมีความเคลื่อนไหวภายในที่ต้องการปลุกปั้นคนใหม่ขึ้นไปท้าชิง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บรรยากาศในพรรคประชาธิปัตย์กลับมาร้อนระอุอีกครั้งในวันที่เก้าอี้หัวหน้าพรรคของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เริ่มสั่นคลอนเมื่อมีความเคลื่อนไหวภายในที่ต้องการปลุกปั้นคนใหม่ขึ้นไปท้าชิง สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพรรคเก่าแก่กว่า 70 ปีแห่งนี้

ฟางเส้นสุดท้ายอยู่ที่การออกมาประกาศจุดยืนแบะท่าไม่ร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัมแบ็กเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยเงื่อนไข หากไม่สามารถได้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร

นี่ถือเป็นแผลเก่า หากจำได้ก่อนหน้านี้เคยมีแกนนำพรรคซีกกปปส.ออกมาเคลื่อนไหวเชิงหยั่งเสียงเดินเกมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถูกเบรกจากเสียงส่วนใหญ่ภายในพรรค จนถึงขั้นอภิสิทธิ์ต้องออกมาเบรกกระแสด้วยการประกาศว่าใครหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปอยู่พรรคอื่น

ท่าทีของอภิสิทธิ์ทำให้อดีตแกนนำฝั่ง กปปส. ซึ่งแนบแน่น "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ที่หันไปก่อตั้ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย เตรียมใช้จังหวะหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกการเมือง ปั้นคนฝั่งตัวเองขึ้นมาท้าชิงตำแหน่งนี้

ทั้งนี้ เพราะสบช่องที่ "อภิสิทธิ์" ประกาศให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ โดยใช้รูปแบบไพรมารีโหวต ด้วยการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคร่วมโหวตด้วย เพื่อเป็นการช่วงชิงการปฏิรูปพรรคการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ทว่าในช่วงที่ คสช.ประกาศรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ประมาณกว่า 2 ล้านคน ต้องพ้นสภาพไปทันที ทำให้ต้องมีการยืนยันสมาชิกกันใหม่ ซึ่งมีเงื่อนไขสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท ก็ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์หา สมาชิกมายืนยันสิทธิได้กว่า 8 หมื่นคน โดยกว่า 5 หมื่นคนนั้นมาจากอดีต สส.ฝ่าย กปปส.ที่ได้รวบมา

เมื่อได้ตัวเลขสมาชิกเกินครึ่งเช่นนี้ กลุ่มอดีต สส.ฝ่าย กปปส.จึงมั่นใจที่จะโค่น "อภิสิทธิ์" ได้ จึงเดินแผนปฏิบัติการ แต่ในแง่ตัวบุคคลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาใครมาท้าชิงกับทางอภิสิทธิ์ได้

เดิมทีมีการเล็ง "อลงกรณ์ พลบุตร"ที่เคยสร้างผลงานจุดประเด็นปฏิรูปพรรคเมื่อหลายปีก่อน และมีแนวร่วมจำนวนไม่น้อยออกมาสนับสนุน

ทว่าปัจจุบันสถานะขาลอยของอลงกรณ์ที่ลาออกจากพรรคและต่อมาไปดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำให้หากจะหวนกลับมาสมัครเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้ จะต้องใช้เสียงรับรองจากอดีต สส. 40 เสียง และเสียงจากสมาชิกภาคละ 1,000 คน ที่ยากจะฝ่าด่านแรกนี้ได้

ตัวเลือกถัดมาจึงไปลงล็อกที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก ที่ฝากผลงานสร้างชื่อด้วยการเกาะติดเปิดโปงเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แม้ในทางปฏิบัติจะไม่ใช่เรื่องง่ายกับการผลักดันหมอวรงค์ ซึ่งยังไม่มีบารมีเพียงพอจะได้รับการยอมรับจากอดีต สส. และสมาชิกพรรคให้เข้าไปรับตำแหน่งสำคัญนำทัพการเลือกตั้งในอนาคต

แต่ก็ใช่จะสิ้นหวังเสียทีเดียว ยิ่งงานนี้ได้ทาง "ถาวร เสนเนียม" อดีตรองเลขาธิการพรรค ในฐานะแกนนำ กปปส. ซึ่งประกาศลงชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรคคู่กับหมอวรงค์คงจะไม่ยอมแพ้โดยง่าย

ยิ่งหากไล่พิจารณาเครือข่ายแกนนำ กปปส. ที่ตบเท้ากลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นว่าแต่ละคนยังมีพาวเวอร์ทั้งในพรรคและพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ถาวร ชินวรณ์ บุณยเกียรติ วิทยา แก้วภราดัย ชุมพล จุลใส สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อิสสระ สมชัย ยิ่งทำให้ช่องทางการเคลื่อนไหวที่พอจะสามารถเลื่อยขาเก้าอี้อภิสิทธิ์ได้

แต่หากพิจารณาในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว ทางฝั่ง กปปส.เองก็รู้ว่าเป็นไปได้ยากกับการปลุกปั้นใครขึ้นไปท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เริ่มตั้งแต่แง่ตัวบุคคล ซึ่งหมอวรงค์แม้จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ภาพลักษณ์ก็ยังยากจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอให้มารับตำแหน่งสำคัญขนาดนี้ ต่างจากแรงสนับสนุนอภิสิทธิ์ที่ยังคงเหนียวแน่น แม้จะมีแรงแซะมาหลายรอบ แต่ก็ยังได้รับเลือกกลับมาทุกครั้งท่ามกลางแรงสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่อย่าง ชวน หลีกภัย และบัญญัติ บรรทัดฐาน

ที่สำคัญเสียงโหวตตามข้อบังคับพรรคใหม่ที่กำลังจะแก้ไขไม่ได้เปิดให้เฉพาะสมาชิกพรรคที่มายืนยันความเป็นสมาชิกจำนวนแสนกว่าคนเท่านั้น แต่จะเปิดให้สมาชิกเดิม 2 ล้านกว่าคนที่สนใจมาลงทะเบียนสามารถเลือกหัวหน้าพรรคผ่านแอพพลิเคชั่นได้ ทำให้การควบคุมเสียงในกลุ่มของ กปปส.ทำได้ยากขึ้น

แถมคนชี้ขาดสุดท้ายการเป็นหัวหน้าพรรคคือที่ประชุมใหญ่ 250 เสียง จากอดีต สส. และสมาชิกพรรคที่พอจะเห็นทิศทางความคิดกันอยู่ จึงจะยิ่งทำให้โอกาสของหมอวรงค์เป็นไปได้ยาก

แต่ทุกอย่างก็ยังเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อฝั่ง กปปส.เปิดหน้าประกาศท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ดังนั้นต้องคอยติดตามดูความเคลื่อนไหวว่าจะมีหมัดเด็ดอะไรออกมาต่อไปหรือไม่