posttoday

ถึงเวลาเปิดรับ 'คนนอกวัยเรียน' ปรับตัวสู้วิกฤตนักศึกษาลด

07 กันยายน 2561

ผลกระทบจากจำนวนนักเรียนที่ลดลงกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมสถาบันการศึกษาที่เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นทุกที

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ผลกระทบจากจำนวนนักเรียนที่ลดลงกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมสถาบันการศึกษาที่เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นทุกที ทั้งจากกรณีล่าสุดที่มีรายงานข่าวว่า มีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางรับเด็กเข้าเรียนได้เพียง 7 คน

ขณะที่บางแห่งพบว่าทั้งสถาบัน มีจำนวนผู้เรียนไม่ถึง 200 คน รวมถึงมีมหาวิทยาลัยเอกชน 5 แห่ง ได้ยื่นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อขอปิดตัวเอง แม้เหตุผล ด้านกฎหมายจะทำให้ไม่สามารถเปิดเผยชื่อมหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้ แต่ทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบก็เริ่ม ออกมายอมรับและแสดงความกังวลในเรื่องนี้

ประเสริฐ คันธมานนท์ รอง อธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยอมรับว่า หลายฝ่ายกำลังกังวลกับจำนวนผู้เรียนที่ลดลงจริง ซึ่งมีมาต่อเนื่องหลายปี สาเหตุหนึ่งมาจากเดิมมีเด็กเกิดใหม่ ปีละ 1.1 ล้านคน ลดเหลือ 7 แสนคน/ปี หรือลดลง 4 แสนคน ส่งผลต่อจำนวนเด็กนักเรียนที่ลดน้อยลง และตัวเลขเด็กมัธยมปลายที่หายไป 1 ใน 5 ย่อมกระทบไปถึงจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง

เลขาธิการ ทปอ. ระบุว่า ตัวเลข จากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ฟ้องให้ เห็นทุกปีนั้น กำลังบอกเราว่าปัญหาจะยิ่งชัดขึ้นในอนาคต เมื่อดูตัวเลขของนักเรียนชั้นประถม 1 ในระยะ 8 ปี ที่ผ่านมา โดยหากเปรียบเทียบตัวเลขในปี 2550 ถึงปี 2558 พบว่ามีจำนวนเด็กลดลงไปถึง 1.9 แสนคน อีกไม่นานเด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในวัยที่เข้าเรียนอุดมศึกษา

ตัวเลขดังกล่าวเป็นโจทย์ที่สถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐ ในกำกับรัฐและเอกชน ที่มีอยู่ในประเทศไทยมากถึง 170 แห่ง ต้องนำมาพิจารณา

"ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าจะมีเด็กลดลงอย่างแน่นอน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำให้มหาวิทยาลัยต้องตระหนักว่าจะวางแผนรับมืออย่างไรบ้าง เพราะแต่ละแห่งต้องพึ่งพาค่าเล่าเรียนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีมากกว่า 70% ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็อยู่ยาก แต่ละแห่งต้องเปิดกว้างขึ้น ด้วยการไม่เลือกเปิดรับเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเรียนเท่านั้น แต่ต้องหันไปเปิดรับคนในวัยทำงาน ซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 38 ล้านคน"

รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มจธ. ระบุอีกว่า หากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่เปลี่ยนแปลงและยังคงคิดว่าเป็นเพียงฝ่ายบริการการด้านวิชาการเหมือนเดิม ก็จะต้องแบกรับฟิกซ์ คอสต์ หรือต้นทุนคงที่ ขณะที่มีรายได้จากจำนวนผู้เรียนที่ลดลง

"อย่าลืมว่าฟิกซ์คอสต์นั้นเปลี่ยน ไม่มาก ไม่ว่าแต่ละแห่งจะสอนหนึ่งคน สิบคน หรือร้อยคน ก็ยังแบกรับ รายจ่ายเท่าเดิม เพราะการสอนเป็น วิชา 3 เครดิตในระยะเวลา 15 สัปดาห์ มีรูปแบบที่บังคับรายจ่ายที่ไม่ต่างกัน แต่ละแห่งจึงต้องไปปรับการเรียนการสอนใหม่ ให้คนในวัยทำงานเข้ามาเรียนควบคู่กับเด็กวัยเรียนได้ ประมาณ 70% ซึ่งแต่ละสถาบันต้องพยายามสร้างค่านิยมเรื่องการเรียนกับการจบการศึกษาใหม่

คนในอนาคตอาจจะไม่สนใจดีกรีหรือสนใจวุฒิการศึกษาจากสาขาที่จบมา เพราะดูที่ความสามารถมากกว่า แน่นอนบางอาชีพอาจจะมีกรอบเรื่องวุฒิการศึกษาที่ต้องตรงตามสาขาจึงจะประกอบอาชีพได้ แต่ในอนาคตหลายอาชีพจะคำนึงถึงเรื่องนี้น้อยลง และให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำงานมากกว่า" ประเสริฐ กล่าว

เลขาธิการ ทปอ. ยังระบุด้วยว่า การเรียนเพื่อรู้กับเรียนเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาตามกรอบหลักสูตร อาจจะเป็นเรื่องการจัดการศึกษาที่ต้องถูกมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพิจารณาจัดสรรมากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้เรียนในวัยอื่นๆ

"มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แก้ปัญหาผู้เรียนที่ลดลงด้วยการปรับตัวเอง เช่น สแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ก็ริเริ่มเปิดการเรียนการสอนโดยไม่มีภาควิชา ใครที่เข้าไปเรียนอะไรก็ได้ เก็บหน่วยกิตไปเรื่อยๆ โดยผู้เรียนอยากจบสาขาไหน มหาวิทยาลัยของเขาก็จะสร้างกลไกขึ้นให้จบสาขานั้น อีก 6 ปีข้างหน้า สแตนฟอร์ดตั้งเป้าว่ามหาวิทยาลัยของเขาจะไม่มีกระทั่งคณะวิชา" เลขาธิการ ทปอ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตามความเห็น ของเลขาธิการ ทปอ. มองว่าการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทยเพื่อรองรับ ผู้เรียนในวัยทำงานหรือวัยอื่นๆ อย่างวัยเกษียณเข้ามาเรียนมากขึ้น ยังต้องมีการเตรียมการอีกหลายด้าน หากสถาบันอุดมศึกษาจะเดินหน้าเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องมีกลไกควบคุม กำกับคุณภาพการศึกษาที่เข้มข้น  เพราะการดึงดูดผู้เรียนให้มาเรียนโดยไม่ได้ใช้วุฒิการศึกษาเป็นแรงดึงดูด ก็ต้องแสดงให้สังคมเห็นอย่างชัดเจนว่าเรียนแล้วได้อะไรที่จับต้องได้ และนี่ย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของมหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งในอนาคต