posttoday

นักวิทย์ไทยดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณเตือนโลกร้อนหนัก

03 กันยายน 2561

ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณสะท้อนปัญหาสภาวะโลกร้อนมากขึ้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณสะท้อนปัญหาสภาวะโลกร้อนมากขึ้น

*********************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ประเทศไทยได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปยังพื้นที่ขั้วโลกเหนือ เพื่อศึกษาผลกระทบจากปัญหาขยะพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งได้สร้างหายนะครั้งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ เพราะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ อุณหภูมิที่ขยับตัวสูงขึ้น ไปจนถึงปัญหาสิ่งมีชีวิตอาจต้องเผชิญกับภาวะสูญพันธุ์ในอนาคต

สุชนา ชวนิชย์ หัวหน้าภาคและอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปในครั้งนี้ เล่าว่า การเดินทางด้วยเรือเพื่อขึ้นไปยังเหนือสุดขอบโลกที่หมู่เกาะสวาลบาร์ด ประเทศนอร์เวย์ จากนั้นลงดำน้ำที่ความลึกประมาณ 20 เมตร ทำการเก็บตัวอย่างตะกอนดิน สัตว์น้ำ ขึ้นมาวิจัยว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้กินอาหารอะไรเข้าไปบ้าง รวมถึงค้นหาว่าภายในกระเพาะอาหารมีเศษขยะมากน้อยเพียงใด ท่ามกลางอุณหภูมิของน้ำที่ขั้วโลกเหนืออยู่ที่ 5-6 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ผลสำรวจเบื้องต้นพบสัญญาณบอกถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนมากขึ้น เช่น พบว่าน้ำแข็งก้อนขนาดใหญ่ละลายจนแทบไม่หลงเหลือให้เห็น ซึ่งหากน้ำแข็งละลายจะมีสภาพเป็นน้ำจืด จึงทำให้ใต้ท้องทะเลขุ่นมัวบดบังแสงอาทิตย์ส่องลงมาถึง การดำน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงต้องใช้วิธีดำน้ำโดยไต่จากสมอเรือลงไป ยิ่งเกิดความกลัวมากขึ้นเพราะมองอะไรไม่เห็น ในขณะที่ต้องแบกถังอากาศลงไปด้วย

ถัดมาคือปรากฏการณ์พบแมงกะพรุนจำนวนมาก ทั้งที่ความจริงอาจจะพบเห็นได้แต่ต้องไม่มากเช่นนี้ เพราะแมงกะพรุนไม่สามารถอยู่ในน้ำเย็นจัด ถือเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจนสร้างการเปลี่ยนแปลงการดำรงอยู่ของสัตว์น้ำ โดยตัวอย่างสัตว์น้ำที่เก็บมา อาทิ ปลา ปู หอย ดอกไม้ทะเล และเพรียงหัวหอม

นักวิทย์ไทยดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณเตือนโลกร้อนหนัก

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ว่าภายในท้องของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลมีเศษขยะมากน้อยเพียงใด ต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนต่อจากนี้ แต่สันนิษฐานเบื้องต้นว่าหากเจอขยะบนบกแล้ว ในน้ำก็น่าจะมีขยะพลาสติกขนาดไมโครเต็มไปหมดเช่นกัน

ด้านการเก็บตัวอย่างตามชายหาดบริเวณนี้เหนือสุดของโลกที่ไม่มีมนุษย์อยู่แล้ว พบว่ามีขยะขวดพลาสติกจำนวนมากลอยตามกระแสน้ำมาติดที่ชายฝั่ง เรียกได้ว่าทุกย่างก้าวที่เดินไปเต็มไปด้วยขยะ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ของนอร์เวย์ที่ศึกษาเรื่องปัญหาขยะยังถึงกับตกใจในสิ่งที่พบเห็น ผิดจากที่คาดการณ์ไว้ว่ายิ่งห่างไกลมนุษย์มากเท่าใดต้องมีขยะน้อยลง สะท้อนว่าทุกกิจกรรมของมนุษย์ทั่วโลกได้ก่อให้เกิดมลพิษลอยตามกระแสลม-กระแสน้ำขึ้นไปสะสมที่ขั้วโลกเหนือเสมือนเป็นภาชนะรองรับสิ่งปฏิกูลอย่างแท้จริง

“ขยะที่เราพบบนชายหาดเหนือสุดของโลก น่าตกใจมากที่พบขวดพลาสติกหรือชิ้นส่วนประกอบพลาสติกเป็นจำนวนมาก เราก็รีบดูทันทีเพราะกลัวว่าจะมีฉลากเขียนเป็นภาษาไทยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นแย่แน่เลย แต่ปรากฏว่าทุกขวดฉลากมักหลุดหายไปแล้ว” สุชนา กล่าว

นักวิทย์ไทยดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณเตือนโลกร้อนหนัก

สุชนา เล่าอีกว่า ปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงคือ การกินอาหารของหมีขาวได้เปลี่ยนกลายมาเป็นมังสวิรัติ เพราะกินมอสเป็นอาหารหลัก ทั้งที่ควรจะออกล่าแมวน้ำเป็นอาหารกิน พฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากผลกระทบของแผ่นน้ำแข็งในทะเลน้อย จึงไม่มีพื้นที่ให้หมีขาวได้ว่ายน้ำไปเกาะแผ่นน้ำแข็งเป็นที่พักอาศัยเพื่อเดินทางต่อไปล่าแมวน้ำ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ลูกหมีไม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีการล่าตามสัญชาตญาณ กลายเป็นหากินแต่มอสตามหน้าผา ซึ่งไม่ดีต่อร่างกาย ทำให้อ่อนแอ ให้พลังงานไม่เพียงพอต่อการจำศีลในฤดูหนาว

เรื่องนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์กลับมานั่งวิเคราะห์กันว่า หมีขาวเปลี่ยนมากินมอสนั้น เกิดจากปริมาณของแมวน้ำลดลงหรือไม่ ทว่าข้อเท็จจริงปรากฏสวนทางกัน เพราะจำนวนแมวน้ำทุกวันนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่มีสัตว์ผู้ล่าที่คอยควบคุมปริมาณตามห่วงโซ่อาหาร หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ท้ายที่สุดหมีขาวอาจสูญพันธุ์เพราะไม่เป็นไปตามพฤติกรรมธรรมชาติ

นักวิทย์ไทยดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณเตือนโลกร้อนหนัก

อีกสิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลคือ กวางเรนเดียร์ จากเดิมมีพฤติกรรมหาหญ้า-มอสกินเป็นอาหาร แต่เปลี่ยนมากินสาหร่ายทะเลที่ลอยมาติดตามชายหาดมากขึ้น เกิดจากหญ้าและมอสเติบโตน้อย อีกส่วนคือถูกหมีขาวแย่งกิน ดังนั้นสภาวะที่เกิดขึ้นกับขั้วโลกเหนือขณะนี้ถือได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

“สัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะโลกร้อนได้ชัดเจนที่สุดคือ อุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือขณะนี้สูงเกิน 5 องศาไปมากแล้ว ทำให้การประชุมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศต้องตกใจอย่างมาก แม้ว่าทางสหประชาชาติจะออกประกาศให้ทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับขั้วโลกเหนือ-ขั้วโลกใต้แล้วก็ตาม ปัญหานี้จะนำมาสู่ผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติตามมาในอนาคตต่อจากนี้” สุชนา กล่าว

นักวิทย์ไทยดำน้ำสำรวจขั้วโลกเหนือ พบสัญญาณเตือนโลกร้อนหนัก