posttoday

วงการแพทย์ยุคใหม่ "หมอ-ผู้ป่วย" ต้องเข้าใจกันมากขึ้น

02 กันยายน 2561

คุยกับ "พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ" เลขาธิการแพทยสภา กับเป้าหมายที่หวังจะให้วงการแพทย์ยุคใหม่เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์

คุยกับ "พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ" เลขาธิการแพทยสภา กับเป้าหมายที่หวังจะให้วงการแพทย์ยุคใหม่เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์

*********************************

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่ นอกจากต้องมีความเชี่ยวชาญในสายงานแล้ว ยังต้องนำองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก มาเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรสามารถพัฒนาไปได้อย่างก้าวกระโดด

เลขาธิการแพทยสภาป้ายแดง เห็นว่าจำเป็นต้องรีบพัฒนาระบบฐานข้อมูล ซึ่งจากประสบการณ์ 12 ปีในแพทยสภา ระบบฐานข้อมูลที่มีตั้งแต่ปี 2511 จากระบบกระดาษประมวลผลได้ยาก ใบประกอบวิชาชีพมีขนาดใหญ่ยากต่อการแสดงตนหรือพกติดตัว เป็นสาเหตุให้การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ปัญหานี้จึงต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลแพทย์ให้เป็นระบบดิจิทัล สามารถตรวจสอบความถูกต้องรวดเร็ว และแม่นยำ จึงมีการนำระบบบัตรประจำตัวแพทย์แบบดิจิทัล หรือ MD CARD เข้ามาใช้ ร่วมกับฐานข้อมูลออนไลน์เป็นครั้งแรก โดยบัตรประจำตัวแพทย์แบบใหม่มีขนาดเท่าบัตรประชาชน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งบนเว็บไซต์ การยิงบาร์โค้ด และรุ่นล่าสุดยังได้พัฒนาให้เป็นระบบคิวอาร์โค้ดที่สามารถเช็กข้อมูลของแพทย์คนนั้นๆ ได้ทันทีว่าเป็นหมอจริงหรือไม่

เมื่อมีฐานข้อมูลที่ดีแล้ว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์ ซึ่งแพทยสภาได้สนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 22 แห่ง ในการผลิตแพทย์ จากแพทย์จบใหม่ปีละ 1,300 คน เพิ่มเป็น 3,000 คน โดยปัจจุบันไทยมีแพทย์มากกว่า 6 หมื่นคน แต่ก็ยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางสาขา ทางราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายใต้แพทยสภา 15 แห่ง จึงได้ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 85 สาขา ปีละกว่า 1,600 คน

นอกจากนี้ แพทยสภาได้ตั้งศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศ.ร.ว.) มาควบคุมมาตรฐานแพทย์จบใหม่ และศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ (ศนพ.) มาดูแลการเรียนรู้ของแพทย์ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาความรู้ในการดูแลคนไข้ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพตลอดเวลา และมีสถาบันส่งเสริมจริยธรรม (สจพ.) มาสนับสนุนหลักสูตรธรรมาภิบาล และจริยธรรม เพื่อดำรงมาตรฐานการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกว่าปีละ 300 ล้านครั้ง

สำหรับเข็มมุ่งการพัฒนาวงการแพทย์ไทยหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 คุณหมออิทธพรได้กำหนดไว้ 4 มิติหลักๆ

มิติที่หนึ่ง เร่งพัฒนาระบบไอทีสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาให้เอื้อต่อการทำงานให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นในทุกๆ ด้าน โดยการต่อยอดจากสิ่งที่มีเข้าสู่ระบบ 4จี ไม่ใช้กระดาษ (Paperless) ออนไลน์ โมบาย และคลาวด์ โดยวิเคราะห์และจัดกำลังพลรุ่นใหม่เข้าเสริมอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้กับทั้งแพทย์และประชาชน

มิติที่สอง เรื่องจริยธรรมและกฎหมาย จะปรับปรุงระบบการทำงานและขั้นตอนใหม่ให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนรวดเร็วและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แก้ไขระเบียบที่ล่าช้าไม่ทันสมัยวางระบบไอทีเต็มรูปแบบตั้งแต่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามคดีแบบโปร่งใส นำข้อมูลต่างๆ ที่เป็นปัญหาการให้การรักษาไปสื่อสารกับแพทย์และประชาชนในรูปแบบต่างๆ ที่ง่ายต่อการเข้าใจ ทั้งการ์ตูน เรื่องสั้น อินโฟกราฟฟิก ผ่านโซเชียลมีเดียควบคู่กันไป เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกให้สอดคล้องความเป็นจริง

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ให้ความรู้ผ่านทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กควบคู่กันไป ทั้งข้อมูลข้อกฎหมายให้ทั้งแพทย์และประชาชนรู้ทันและเข้าใจ สามารถปกป้องสิทธิตนเองได้ในกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการให้หรือรับการบริบาลทางการแพทย์ ขณะเดียวกันมีการยกร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับโดยเฉพาะเทเลเมดิซีน หรือระบบแพทย์ทางไกล ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลไม่ต้องมาหาหมอในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

วงการแพทย์ยุคใหม่ "หมอ-ผู้ป่วย" ต้องเข้าใจกันมากขึ้น

มิติที่สาม สนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้ดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ นอกจากองค์ความรู้ทันสมัย ยังต้องดูแลคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีให้แก่แพทย์ก่อน ให้แพทย์มีความมั่นใจ และพร้อมไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยควบคุมปริมาณงานที่เหมาะสม ไม่หนักเกินกำลัง เกินเวลา จนเกิดความเสี่ยง เพราะเมื่อเสี่ยงรัฐต้องคุ้มครอง บนข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ

“เราทุกคนต่างอยู่ในระบบที่ไม่สมบูรณ์” โดยเฉพาะระบบการแพทย์ไทยที่ยังขาดแคลน ซึ่งความท้าทายคือต้องแก้ปัญหาบนระบบที่ไม่สมบูรณ์นี้ให้เข้าใจกันทุกฝ่ายให้ได้ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำของขนาดสถานพยาบาล อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ และกองทุนต่างๆ ที่ไม่พอเพียง และโรงพยาบาลที่ขาดทุน เป็นต้น

“หากมัวแต่ไปไล่จับผิดข้อไม่สมบูรณ์ก็จะไม่มีวันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ แม้เราไม่สามารถทำระบบให้สมบูรณ์ได้ทั้งหมด แต่เราสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจความจริง สร้างกำลังใจให้แก่แพทย์เพื่อทำงานในระบบด้วยจิตใจอาสา ช่วยกันรักษาระบบได้ ซึ่งวันนี้เรามีการขับเคลื่อนทั้งแพทย์และประชาชนร่วมกัน

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ซับซ้อน เป็นหน้าที่ของหลายหน่วยงานตามกฎหมาย นอกเหนือจากแพทยสภา วันนี้ถึงเวลาที่ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และเดินไปด้วยกันด้วยธรรมาภิบาลในระบบที่ไม่สมบูรณ์นี้ มากกว่าการจ้องความผิดกัน”

มิติที่สี่ เรื่องสังคม ทุกวันนี้วงการแพทย์ไทยมีเรื่อง “สังคม” เข้ามาเกี่ยวข้องมาก ทั้งองค์ความรู้ การรักษา การสื่อสารที่เปลี่ยนไปความเชื่อผิดๆ แพทยสภายุคนี้มุ่งเน้นการเข้าใจและตามสังคมรุ่นใหม่ให้ทัน ขณะเดียวกันพยายามสื่อให้สังคมเข้าใจข้อเท็จจริง ข้อจำกัดของวงการแพทย์ในการรักษาบริบาล พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เพื่อดูแลตนเองก่อนป่วย ตลอดจนการป้องกันความเจ็บป่วยด้วยตนเอง ไม่ใช่เน้นการรักษาขณะป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเช่นปัจจุบัน แต่ต้องทำให้สังคมมีความรู้ด้านสุขภาพ และเข้าใจวงการแพทย์

อย่างไรก็ตาม ยุคต่อไปต้องทำให้สังคมและวงการแพทย์เกิดความเข้าใจ มั่นใจ แล้วเกิดความร่วมใจกัน เพราะหากจะให้ฝ่ายใดเดินแต่เพียงผู้เดียวคงเป็นไปไม่ได้ การพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้ระบบการแพทย์ของประเทศมีประสิทธิภาพมากที่สุดแบบยั่งยืน ในงบประมาณและบุคลากรที่มีจำกัด และประชาชนต้องมีสุขภาพดี

คุณหมอจ๊วด อธิบายถึงบทบาทแพทย์แต่ละกลุ่มด้วยว่า ประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ 1.แพทย์กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ดูแลประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย และชนบท 2.อาจารย์แพทย์ มีหน้าที่ผลิตแพทย์เพิ่มพร้อมกับนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทำให้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น 3.แพทย์รัฐกลุ่มภารกิจเฉพาะ เช่น แพทย์ทหาร ตำรวจ กทม. มีภารกิจของตนเองตามสังกัด และ 4.แพทย์ภาคเอกชน ดูแลประชาชนที่มีฐานะให้สามารถดูแลตัวเองได้เพื่อไม่ต้องเข้ามาใช้ทรัพยากรในระบบรัฐที่ขาดแคลน

ทั้ง 4 เสาหลักภายใต้แพทยสภา มีภารกิจดูแลประชาชน 65 ล้านคน โดยแยกออกจากกันไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงไปพร้อมกันทั้ง 4 เสา หากจะให้แยกหรือให้ความสำคัญฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง วงการแพทย์ทั้งระบบก็ไม่สามารถพัฒนาให้มีความยั่งยืนได้

วงการแพทย์ยุคใหม่ "หมอ-ผู้ป่วย" ต้องเข้าใจกันมากขึ้น

เปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสร้องเรียน "หมอค้าความงาม"

กระแสไหลบ่าของวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการศัลยกรรมความงามเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่วิชาชีพแพทย์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการที่แพทย์ส่วนหนึ่งลงไปทำธุรกิจนี้เสียเองด้วย ซึ่ง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ หรือทุกคนเรียกติดปากว่า “หมอจ๊วด” เลขาธิการแพทยสภา บอกว่า จากการตรวจสอบการขายหรือโปรโมทสินค้าความงามผ่านในโลกออนไลน์จริงๆ แล้วมีจำนวนแพทย์ไปเกี่ยวข้องไม่ถึง 10% ส่วนใหญ่มักเป็นบุคลากรสายวิชาชีพอื่นที่แอบอ้างความเป็นแพทย์

ในแง่การตรวจสอบหรือควบคุมการจำหน่ายสินค้าเสริมความงามในสังคมออนไลน์ หากเป็นแพทย์ดำเนินกิจการเองสามารถร้องเรียนผ่านแพทยสภาได้ทันที ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และหากพบว่ามีความผิดจะดำเนินการเอาผิดทั้งทางวินัยและกฎหมาย แต่หากตรวจสอบพบว่าไม่ใช่แพทย์จริง ประชาชนสามารถแจ้งความกับตำรวจ โดยเรื่องเหล่านี้มีกฎหมายหลายฉบับดูแล ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ยาและเครื่องมือแพทย์ และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เป็นต้น

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ระบุอีกว่า การรับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ในอนาคต แพทยสภากำลังร่วมกับ สคบ. อย. และกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียนของวิชาชีพต่างๆ ไว้ด้วยกันในรูปแบบคณะกรรมการวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่คอยรับเรื่อง ไกล่เกลี่ย ตลอดจนดำเนินการคดีจริยธรรม บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในกฎหมายหลายฉบับพร้อมๆ กัน เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยาก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงศึกษาเตรียมการข้อมูลก่อนเริ่มดำเนินการจริง

สำหรับปัญหาจากการใช้โซเชียลมีเดียนั้น คุณหมอจ๊วด คิดว่าวันนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะศาสตร์การแพทย์เท่านั้น แต่มีปัญหากับทุกวิชาชีพ ทุกเรื่องเป็นการสื่อในที่สาธารณะ แม้จะลับเท่าใดก็ตาม ในที่สุดสามารถบ่งบอกตัวตนได้ ดังนั้นแนะนำว่าคุณหมอจะโพสต์ข้อมูลอะไรที่เกี่ยวกับคนไข้และการรักษาลงไปควรใช้สติให้มาก

“ฝากเตือนว่าอะไรที่ลงในโซเชียล ขอให้จำไว้ว่ามันจะไม่ใช่ความลับแน่นอน ขอให้เข้าใจไว้ว่า ยิ่งเป็นแพทย์ก็จะเป็นที่จับตามองของสังคมมากขึ้น ฉะนั้นหากจะสื่ออะไรออกไปก็ต้องพร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่สื่อออกไปด้วยจะทำอะไรก็ขอให้นึกว่ามันอาจส่งผลต่อสถานะหน้าที่ของตนเองในอนาคต ที่ไม่สามารถลบออกได้ และกลับมาทำร้ายท่านได้ในอนาคต”

นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำด้วยว่า หากประชาชนพบเจอบุคคลที่อ้างเป็นแพทย์ไปทำให้มีปัญหา เบื้องต้นสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา www.tmc.or.th ซึ่งจะทำให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นแพทย์จริงหรือไม่ หากเป็นแพทย์จริงก็มาร้องเรียนได้ทันที แต่หากไม่ใช่สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ได้ทันทีเช่นกัน

เลขาธิการแพทยสภา ย้ำว่า การตัดสินความผิดของแพทย์กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ในทางความจริงเมื่อผลการตรวจสอบออกมาจะต้องมีฝ่ายหนึ่งถูก ฝ่ายหนึ่งผิดเสมอ ฝ่ายที่ชนะย่อมพึงพอใจ ฝ่ายไม่สมหวังย่อมเสียใจกลับมาร้องเรียนแพทยสภา ทำให้แพทยสภาตกอยู่ในที่นั่งลำบากและอาจเป็นจำเลยในทุกคดี ซึ่งแพทยสภาพยายามปรับปรุงแก้ไขด้วยการให้ข้อมูลแก่ทุกฝ่ายให้เข้าใจข้อเท็จจริงมากที่สุด และเน้นป้องกันก่อนเกิดปัญหา

ท้ายนี้วิชาการแพทย์ของไทยวันนี้ถูกจัดเป็นชั้นนำในระดับโลก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าในยุคแพทยสภาครบรอบ 50 ปี คือความเชื่อมั่นของแพทย์และประชาชน กรรมการทุกคนภายใต้การนำของนายกแพทยสภา พร้อมใจปรับทิศทางให้องค์กรสามารถสร้างความเข้าใจเชื่อใจ มั่นใจให้สังคม และสุดท้ายนำไปสู่ความร่วมใจกันกับประชาชนในการดูแลระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ที่สำคัญแพทยสภาไม่ใช่องค์กรของแพทย์เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นของประชาชนไทยทุกคนเพราะแพทย์ก็คือลูกหลานของประชาชนที่เรียนรู้วิชาแพทย์กลับมาดูแลรับใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคนนั่นเอง