posttoday

ทางรอด‘เมืองริมน้ำ’ แก้ปัญหาน้ำท่วม ภูมิอากาศเปลี่ยน

01 กันยายน 2561

จ.สมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น มีการพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ จึงมีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม

จ.สมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น มีการพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ จึงมีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม

สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในเมืองใหญ่เป็นประจำ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในโครงการแนวทางการวางผังเมืองเพื่อรับมือความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในอนาคตจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรณีศึกษาเทศบาลนครสมุทรปราการ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นแบบอย่างในการศึกษาเมืองที่ใกล้เคียง

วนารัตน์ กรอิสรานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยและหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า จ.สมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น มีการพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตของจีพีพีในภาคอุตสาห กรรมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ จ.ชลบุรี และระยอง แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ จึงมีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจนถึงบริเวณถนนสุขุมวิทถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมมากที่สุด 

สาเหตุนอกจากเกิดจากปริมาณน้ำทะเลหนุนที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงถึง 60-70% แล้วยังพบว่ามีแผ่นดินทรุดตัวร่วมด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

จากผลการศึกษาวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ในทางกายภาพพื้นที่ของเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำ ติดชายฝั่งทะเลมีระยะทางยาวถึง 47 กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และมีแนวคลองสาขา เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ และเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น ประกอบกับมีการทรุดตัวของแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความเสี่ยงรุนแรงมากถึงมากที่สุด อีกทั้งพบว่าปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่าปริมาณน้ำฝน และบริเวณที่มีความหนาแน่นของชุมชนมีแนวโน้มที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบของน้ำท่วมมากขึ้น ขณะที่เมืองมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสูง มีการขยายตัวทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์

“ในช่วงฤดูฝนมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคิดเป็น 10.91% ของพื้นที่ทั้งหมด ระยะเวลาเฉลี่ยที่น้ำท่วมขังประมาณ 1 วัน โดยช่วงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด คือ ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง

ทางรอด‘เมืองริมน้ำ’  แก้ปัญหาน้ำท่วม ภูมิอากาศเปลี่ยน วนารัตน์ กรอิสรานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ ยังพบว่าอาคารที่อยู่อาศัย 36% ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และมีอาคารราชการถึง 60% ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปานกลาง ขณะที่ถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินนท์ และถนนสายลวด อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมต่ำถึงปานกลาง ส่วนการประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม จากการจำลองภาพฉายอนาคตในอีก 50 ปี (พ.ศ. 2607) พบว่าการขยายตัวของประชากรและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน หากเกิดภาวะน้ำท่วมจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ถึง 30.5% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 9.7 หมื่นล้านบาท/ปี โดยมีอาคารที่จะได้รับผล
กระทบทั้งสิ้นจำนวน 1.7 หมื่นหลัง

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จะเห็นชัดว่าเทศบาลนครสมุทรปราการมีความเสี่ยงมากที่สุด แต่การลงทุนเพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่ยังไม่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจเพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงควรถูกผลักดันไปสู่นโยบายระดับประเทศ แต่เมืองจำเป็นต้องมีแนวทางในการป้องกันที่จะทำให้เมืองอยู่รอดได้จากศักยภาพที่มีและลดการสูญเสียในอนาคต

งานวิจัยนี้จึงเข้ามาช่วยในการศึกษาสำรวจลงพื้นที่เก็บข้อมูลระดมความคิดเห็นร่วมกับนักผังเมือง ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้อง และศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกทางรอดและแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสม ทำให้ได้แนวคิดออกมาเป็น “การวางผังเมือง และแผนการพัฒนาเมือง” เพื่อรับมือต่อความเสี่ยงน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ประกอบด้วย 1.การรับมือภาวะน้ำท่วมระยะยาวจากน้ำทะเลหนุน อาทิ การกำหนดรูปแบบอาคาร ยกระดับความสูงของอาคารที่อยู่ติดน้ำ ปรับรูปแบบอาคารให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ การสร้างเส้นทางเดินเท้ายกระดับ (Sky Walk) เชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้า การสร้างกำแพงกันน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณริมแม่น้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่กันชน และ 2.การรับมือต่อภัยพิบัติน้ำท่วม อาทิ การจัดหาเส้นทางอพยพ การจัดให้มีระบบเตือนภัย แผนที่หนีภัยและสถานที่รองรับ รวมทั้งจัดทำแผนฟื้นฟูหลังประสบภัยน้ำท่วม

ด้านแนวทางการพัฒนาเมืองที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเมืองที่ใช้ “ระบบขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลาง” พร้อมไปกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและหลากหลาย

วนารัตน์ กล่าวว่า กรณีศึกษาของพื้นที่เทศบาลนครสมุทรปราการ ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้แนวคิดด้านการวางผังเมืองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่ง จ.สมุทรปราการ มีความเสี่ยงในอนาคต