posttoday

ปฏิรูปกฎหมายเพื่อ"สตรีทฟู้ด" ทางเท้ายุคใหม่ใช้ประโยชน์คุ้ม

27 สิงหาคม 2561

กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพจัดทำผังใช้ประโยชน์จากทางเท้าสาธารณะ เริ่มจากสำรวจกำหนดพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน

กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพจัดทำผังใช้ประโยชน์จากทางเท้าสาธารณะ เริ่มจากสำรวจกำหนดพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน

*********************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

เป็นที่ทราบกันดีในระดับสากลโลกว่า “ทางเท้า” หรือ “บาทวิถี” คือเส้นทางเล็กๆ ข้างถนนที่ยกระดับสูงขึ้นจากพื้นผิวช่องทางจราจร ใช้สำหรับเดินเท้าได้อย่างอิสรเสรี ทว่าทางเท้าของประเทศไทยมักถูกนำมาใช้ตั้งร้านค้าหาบเร่แผงลอย จอดรถยนต์ หรือแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่ลัดเลาะ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ได้สะสมมายาวนาน จึงทำให้เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับความเดือดร้อน

กระนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าตามระเบียบการบริหารเมือง โดยอาศัย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เป็นที่มาของนโยบายจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอย รวมถึงสิ่งกีดขวางทุกชนิดที่บดบัง กีดขวางทางเท้า เพื่อทวงคืนเส้นทางสาธารณะให้กับประชาชนได้ใช้อย่างปลอดภัย

ด้วยการจัดระเบียบของ กทม. ซึ่งประกาศห้ามผู้ค้าตั้งร้านโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งยกเลิกจุดผ่อนผันในหลายพื้นที่ จนได้ผลตอบรับดีจากประชาชนว่า นโยบายนี้สามารถทวงคืนความสะอาดเป็นระเบียบให้กลับคืนมา แต่ด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึง “เสน่ห์” ของกรุงเทพฯ เมืองสตรีทฟู้ด จุดหมายปลายทางของเหล่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
รวมถึงผู้มีรายได้น้อยกำลังได้รับผลกระทบตามไปด้วย เสมือนเป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่า

นำมาสู่ความมุ่งหวังเพื่อแก้ปัญหาละเมิดสิทธิบนทางเท้า ผ่านการแก้กฎหมาย โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับหาบเร่แผงลอย ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯ กำลังหาทางออก เพื่อทำให้ผู้ค้ากับประชาชนคนเดินเท้าใช้ประโยชน์จากทางสาธารณะร่วมกันได้

วิชญะ เครืองาม อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายหาบเร่แผงลอย เปิดเผยว่า ในฐานะคนกรุงเทพฯ ที่เลือกใช้การสัญจรด้วยทางเท้าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รู้ว่ามีทางเท้าหลายแห่งใช้งานไม่ได้ อาทิ มีเสาไฟฟ้าขวางทาง ร้านค้าหาบเร่ รถจักรยานยนต์วิ่งย้อนศร จึงคิดว่ากฎหมายที่จะออกมาเป็นการจัดระเบียบทางเท้าให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ ทางเท้าที่ใดใช้การไม่ได้จะให้ กทม.ปรับปรุงอย่างมีแบบแผน จากนั้นเมื่อปรับปรุงเสร็จแล้ว ทางเท้าใดมีขนาดเล็กจะไม่ให้มีหาบเร่เด็ดขาด เพราะใช้สำหรับเดินเท่านั้น

สำหรับทางเท้าใดมีขนาดใหญ่สามารถจัดรูปแบบการใช้ประโยชน์ได้ ให้กำหนดโดยผ่านคณะกรรมการควบคุมบริหารจัดการพื้นที่นั้นๆ เพื่อทำให้เป็นพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งต่อจากนี้ต้องมาสรุปว่าขนาดของทางเท้ากว้างเท่าใดถือว่าเล็กหรือใหญ่ต่อไป

ปฏิรูปกฎหมายเพื่อ"สตรีทฟู้ด" ทางเท้ายุคใหม่ใช้ประโยชน์คุ้ม วิชญะ เครืองาม อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายหาบเร่แผงลอย

วิชญะ กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทางสาธารณะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้คณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่หาบเร่ เพื่อส่งให้ กทม.นำไปใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม ดูแลความสะอาด ทางสาธารณะอื่นๆ อย่างเพียงพอ เนื่องจากทุกวันนี้มีค่าใบอนุญาตตั้งแผงค้าในจุดผ่อนผันปีละ 100 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์อะไรเลย จึงต้องออกกฎหมายเก็บค่าใช้ประโยชน์ทางสาธารณะที่มากขึ้นจากเดิม โดยจากการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ค้าได้ผลตอบรับว่า เขายินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่ใช่ห้ามขายถาวร

ด้านคณะกรรมการบริหารจัดการหาบเร่ ซึ่งตั้งขึ้นโดย กทม. ต้องควบคุมไม่ให้ใครล้ำเส้นนอกเหนือกฎหมาย โดยใช้ย่านถนนข้าวสาร ถนนเยาวราช เป็นพื้นที่โมเดลที่เพิ่มจุดตรวจ ห้องน้ำ จุดทิ้งขยะและล้างทำความสะอาดจาน ชาม ทิ้งเศษอาหาร คราบไขมัน ไม่ให้ตกลงไปในท่อระบายน้ำเป็นไปตามมาตรฐาน

“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดมาก เพราะกรุงเทพฯ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสตรีทฟู้ดอาหารอร่อย แต่ความสะอาดแทบไม่มี แม้ว่าจะมีกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขควบคุมร้านอาหารริมทาง แต่ผู้ประกอบการต้องไปจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกกันเอง ดังนั้นถ้า กทม.ใช้เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ค้ามาสร้างห้องน้ำก็จะเกิดความสะอาด สะดวกต่อผู้ค้าและประชาชนด้วยซึ่งนำไปสู่การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่อไปแต่ละเขตพื้นที่อาจไม่เท่ากันก็ได้” วิชญะ กล่าว

ทั้งนี้ อยากให้ กทม.เป็นเจ้าภาพจัดทำผังใช้ประโยชน์จากทางเท้าสาธารณะ เป็นการรวมจากหลายภาคส่วน เริ่มจากสำรวจกำหนดพื้นที่ใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน จากนั้นทำแผนปรับปรุงให้น่าเดิน น่าใช้ยึดหลักใช้ทางเท้าเพื่อเดินเป็นสำคัญ จึงจะเสริมเรื่องร้านค้าเข้าไป ส่วนปัญหารถจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่ต้องห้ามมีเด็ดขาด

อีกส่วนหนึ่งคณะกรรมการจัดทำผังใช้ประโยชน์ทางเท้าสาธารณะนี้ ต้องกำหนดพื้นที่ใดห้ามขายเด็ดขาด เช่น บริเวณใกล้สี่แยก เขตพระราชฐาน หรือล้นออกจากตลาดไม่ได้ หากใครฝ่าฝืนต้องโทษทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด

“ไอเดียที่กำลังทำอยู่คือ ส่งเสริมให้หน่วยราชการ เอกชน จัดสรรพื้นที่ใต้อาคารในช่วงเย็นสามารถจัดเป็นพื้นที่ร้านค้าได้ ซึ่งใครร่วมโครงการ กทม.อาจมีสิทธิประโยชน์ในบางเรื่องให้ก็ได้หากทำได้ผู้ค้าที่อยู่บนทางเท้าจะเปลี่ยนที่เข้ามาขายในพื้นที่รองรับด้วยความสมัครใจเบื้องต้นได้หารือกับ กทม.และผู้ค้าแล้วมีความเห็นร่วมกันกับแนวทางนี้”วิชญะ กล่าว

วิชญะ กล่าวอีกว่า การทำกฎหมายเรื่องหาบเร่แผงลอยให้ชัดเจน สามารถขจัดปัญหาด้านนโยบายที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของผู้ว่าฯ กทม.

เปลี่ยนไปตามความเข้มงวดที่ไม่แน่นอน หรือเปลี่ยนไปตามนโยบายทางการเมือง แต่หากเป็นกฎหมายควบคุมชัดเจนแล้วจะสามารถเดินหน้าต่อไปไม่หยุดชะงัก หรือสลายกลุ่มมาเฟียพื้นที่ได้อีกด้วย

“ส่วนตัวรู้สึกรับไม่ได้เหมือนกันที่ทางเท้ากว้างแค่ 2 เมตร ถูกเบียดด้วยร้านผัดไทย หอยทอดไปด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ตั้งโต๊ะ แล้วพื้นก็ลื่นเต็มไปด้วยน้ำมันทอด อย่างนี้ต้องเอาประโยชน์คนเดินเป็นหลักสำคัญ ในตอนแรกผมก็อยากให้ทางเท้าใช้เดินเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาเรื่องนโยบายที่อาจเปลี่ยนไปมาได้ จึงหาทางออกด้วยการกำหนดข้อกฎหมายให้เป็นรูปธรรมปฏิบัติ ก็จะยั่งยืนต่อไปในอนาคต” วิชญะ กล่าวทิ้งท้าย