posttoday

หมดเวลาเบี้ยว! "กยศ."ตั้งเป้าหักหนี้ล้านรายผ่านเงินเดือน

06 สิงหาคม 2561

กยศ.ลุยบังคับใช้กฎหมาย หักหนี้ผ่านเงินเดือนลดปัญหาการเบี้ยวหนี้-ฟ้องร้อง คาดลูกหนี้ทั้งข้าราชการและทำงานบริษัทเอกชนที่เข้าข่ายถูกหักหนี้ผ่านเงินเดือนมี 1 ล้านราย

กยศ.ลุยบังคับใช้กฎหมาย หักหนี้ผ่านเงินเดือนลดปัญหาการเบี้ยวหนี้-ฟ้องร้อง คาดลูกหนี้ทั้งข้าราชการและทำงานบริษัทเอกชนที่เข้าข่ายถูกหักหนี้ผ่านเงินเดือนมี 1 ล้านราย

******************************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่อง การเบี้ยวหนี้ไม่ยอมชำระ จนเดือดร้อนไปถึงผู้ค้ำประกันเงินกู้ กระบวนการติดตามหนี้ ฟ้องร้อง ไกล่เกลี่ย จัดจูงใจ รณรงค์ชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับกรณีค้างชำระ และให้ส่วนลดเงินต้นผู้ที่มีประวัติชำระหนี้ดีก็ยังไม่สามารถลดจำนวนยอดค้างชำระหนี้ยังสูงเฉียดแสนล้านบาท จากที่เริ่มปล่อยกู้มาตั้งแต่ปี 2539

อย่างไรก็ตาม ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ระบุว่า ในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์ของ กยศ.กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

“การชำระหนี้กำลังดีขึ้นทุกปี มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นๆ จากปีก่อน ชำระแล้ว เป็นเงิน 2.1 หมื่นล้าน ล่าสุดเพิ่มเป็น 2.6 หมื่นล้าน สาเหตุที่มีการคืนเงินกู้มากขึ้น เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ผู้กู้เริ่มตระหนักว่าการคืนเงิน กยศ.เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้กู้คนอื่นๆ จึงคืนกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับการเร่งรัดดำเนินคดี ซึ่งสื่อต่างๆ ช่วยกันนำเสนอ ทำให้หลายคนตัดสินใจที่จะเข้ามาชำระหนี้เพิ่มขึ้น

และอำนาจตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ให้อำนาจเราที่เข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ได้มากขึ้น เช่น มีหมายเลขโทรศัพท์ผู้ที่ค้างชำระ เบื้องต้นได้นำร่องหักหนี้ กยศ.จากบัญชีเงินเดือนข้าราชการกรมบัญชีกลางไปแล้วเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยกระทรวงการคลัง และขยายไปสู่ข้าราชการทุกสังกัด รวมถึงในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในปี 2562” ผู้จัดการ กยศ.ระบุถึงสถานการณ์การชำระหนี้ของ กยศ.

ทั้งนี้ มีผู้กู้ทั่วประเทศ 5.4 ล้านราย ยอดเงิน 5.7 แสนล้านบาท มีผู้กู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงิน 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย และผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 6.8 หมื่นล้านบาท ในส่วนกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ยังแยกย่อยเป็นกลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.2 ล้านราย

“เราประเมินว่า ลูกหนี้ที่อยู่ในระบบ ทั้งที่เป็นข้าราชการและทำงานในบริษัทเอกชนที่เราสามารถหักหนี้ผ่านเงินเดือนได้มีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย จากลูกหนี้ที่ถึงเวลาต้องชำระทั้งหมดประมาณ 3 ล้านราย คนที่ไม่อยู่ในระบบและไม่ยอมชำระหนี้ ก็จะใช้วิธีสืบทรัพย์ เช่นเดียวกับกรณี ฟ้องร้อง ถึงขั้นบังคับคดี กับครูวิภา บานเย็น ผู้บริหารโรงเรียนใน จ.กำแพงเพชร ในฐานะผู้ค้ำประกันนักเรียนที่กู้ยืม 60 ราย แต่ลูกศิษย์ค้างชำระ กยศ.ฟ้องร้อง 21 ราย คดีที่ฟ้องไปยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งปกติเราต้องยึดทรัพย์ของผู้กู้ก่อน แต่กรณีนี้เมื่อสืบทรัพย์ของผู้กู้ทั้ง 4 รายไม่พบทรัพย์สิน จึงจำเป็นต้องยึดทรัพย์สินของผู้ค้ำประกัน

แต่กรณีดังกล่าว กยศ.จับมือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดกำแพงเพชร ชะลอยึดทรัพย์ และพร้อมจัดหาทนายให้ครูวิภาเพื่อไล่เบี้ยคืนจากลูกศิษย์ กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อมีการบังคับกฎหมายให้หักจากเงินเดือนได้ เชื่อว่าปัญหาการฟ้องร้อง บังคับคดี และการเบี้ยวหนี้จนจะทำให้เดือดร้อนไปถึงผู้ค้ำประกันลดลง”

ปัจจุบัน กยศ.ปล่อยกู้ให้กับนักเรียนนักศึกษาไปแล้ว 5 ล้านราย เป็นวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ปิดบัญชีชำระหนี้ไปแล้ว 1 ล้านราย และลูกหนี้ที่เรียนจบจะอยู่ในช่วงเวลาปลอดชำระหนี้ 2 ปี อีก 1 ล้านราย ลูกหนี้ที่ครบกำหนดชำระหนี้อีก 3 ล้านราย ในจำนวนนี้ชำระหนี้ปกติ 1 ล้านราย และผิดชำระหนี้ 2 ล้านราย ซึ่งการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ผ่านบัญชีจะทำให้ยอดการผิดชำระหนี้ที่มีอยู่จำนวนมากลดลง

“ทุกคนที่เป็นลูกหนี้จะทราบตัวเลขหนี้ ตัวเลขที่ต้องถูกหักแต่ละเดือนเท่าไหร่ ตามที่ได้ไกล่เกลี่ยกันไว้กับ กยศ. แต่ใครที่ไม่สามารถแบกรับตัวเลขหนี้แต่ละเดือนได้ ก็ต้องติดต่อกลับมา มาคุยกันว่าต้องหักเท่าไหร่เพื่อให้ผู้กู้อยู่ได้ แต่โดยหลักการตัวเลขโดยประมาณ ที่ต้องหักสำหรับผู้กู้ที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เลย คือ หักเฉลี่ยรายเดือน เพียงประมาณ 125 บาท/อัตราเงินต้น 1 แสนบาท เท่านั้นเอง

หากดูที่อัตราว่างงาน จะพบว่าประเทศไทยมีอัตราว่างงานที่ต่ำมาก เชื่อว่าผู้กู้ส่วนใหญ่มีงาน และมีรายได้ก็ขอให้มีวินัยทางการเงิน มีน้อยก็ชำระน้อย แต่ไม่ใช่ไม่ติดต่อ กยศ.กลับมาเลย ใครที่จ่ายตามเงื่อนไขไม่ได้ ก็มาดูว่าจ่ายได้ที่ตัวเลขเท่าไหร่ ขอให้ติดต่อมาที่กองทุน จะได้ทราบปัญหากัน” ชัยณรงค์ กล่าว

นอกจากนั้น ปัญหาการเรียนในบางสาขาโดยเฉพาะสายสังคมสุ่มเสี่ยงที่จะตกงานมากขึ้นในอนาคต การตัดสินใจที่จะกู้ยืมเรียน จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการว่างงานในอนาคตอีกด้วย

“เรื่องนี้เราได้ประชาสัมพันธ์ไปยังสถาบันต่างๆ ให้แนะนำนักเรียนเรื่องนี้ เพราะเราไม่อยากให้ใครเรียนจบแล้วว่างงาน หรือตกงาน หลายคนควรหันไปเรียนสายอาชีพที่มีงานรองรับ และสุดท้าย อยากฝากไปถึงคนที่ยังเบี้ยวหนี้ว่า ขอให้รีบติดต่อกลับมา ปัจจุบันสามารถชำระผ่านคิวอาร์โค้ด โดยไม่กำหนดเวลา ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ข้อมูล หรือการตอบคำถามข้อข้องใจต่างๆ ก็สามารถหาได้จากเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของเรา” ผู้จัดการ กยศ.กล่าวทิ้งท้าย