posttoday

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง แผนปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉิน

22 กรกฎาคม 2561

หนึ่งในบทเรียนน่าสนใจจากเหตุการณ์13ชีวิตติดในถ้ำหลวงก็คือ "แผนปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉิน" ที่เป็นหัวใจสำคัญในการช่วยเหลือ

หนึ่งในบทเรียนน่าสนใจจากเหตุการณ์13ชีวิตติดในถ้ำหลวงก็คือ "แผนปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉิน" ที่เป็นหัวใจสำคัญในการช่วยเหลือ

*************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

จากกรณีที่เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี่ พร้อมผู้ช่วยผู้ฝึกสอน รวมทั้งสิ้น 13 คน ติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย จนนำไปสู่การระดมความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกระทั่งประสบความสำเร็จ เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนต่อการจัดการเพื่อช่วยชีวิต ซึ่งในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงเป็นที่มาของการถอดบทเรียนเพื่อศึกษาและพัฒนาเตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาถอดบทเรียนได้ คือ 1.การบริหารระบบให้ความช่วยเหลือทั้งระบบ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานและบัญชาการเหตุการณ์ที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ อาทิ ผู้ว่าฯ เชียงราย ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์สามารถควบคุมสั่งการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีการฝึกผู้นำในแต่ละจังหวัดให้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในลักษณะนี้ให้ได้

ประเด็นที่ 2.การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคล ผ่านการคัดเลือกและร้องขอหน่วยงานที่เข้าทำการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยซีล ที่ถูกเลือกให้เข้ามาช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำ เนื่องจากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเรื่องการดำน้ำ และ 3.เรื่องของการรวบรวมทรัพยากรทั้งภาครัฐ ทหารพลเรือน ภาคประชาชน ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันทำงานสนับสนุนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ระบบการช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุข ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ต้องเข้ามาดูภาพรวมในพื้นที่ประสบเหตุ อาจแบ่งสายงานตั้งแต่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัด จัดตั้งทีมเข้าไปช่วยเหลือด้านสาธารณสุขภายใต้คำสั่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ส่วนบางจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัด ควรมีทีมแพทย์จากทหารของกองทัพบก กองทัพเรือหรือจากตำรวจเข้าไปเสริม

นอกจากนี้ การเตรียมการเคลื่อนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยมีระบบกายสกายดอกเตอร์เมื่อหลายปีก่อน คิดว่าเรื่องนี้มีส่วนทำให้การช่วยเหลือมีความพร้อมมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ถอดบทเรียนถ้ำหลวง แผนปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉิน

ขณะที่ ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า สิ่งแรกที่หน่วยกู้ภัยต้องเร่งดำเนินการ คือ ปิดกั้นพื้นที่เพื่อควบคุมอาณาเขตเฉพาะทีมช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อให้ทำงานได้อย่างสะดวก ต่อมาคือการใช้ระบบกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อระดมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ภัย ดำน้ำ วิศวกร รวมถึงแพทย์และนักจิตวิทยา ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ อาจต้องทำเป็นแบบแผนจำลองหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เมื่อเกิดเหตุขึ้นสามารถกดปุ่มโทรหาผู้เกี่ยวข้องจากที่ไหนก็ได้ทันที

นอกจากนี้ บุคคลที่สำคัญที่สุดคือผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ ที่ต้องตัดสินใจได้เฉียบคม ต้องได้รับการฝึกฝนปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เพราะเหตุการณ์ถ้ำหลวงโชคดีที่ได้อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย มีประสบการด้านวิศวกรมาก่อน ทำให้วิธีคิดแก้ปัญหาเป็นลำดับขั้นตอนกู้ภัยที่ชัดเจน ดังนั้นระดับคนที่จะได้เป็นผู้บัญชาการ ต้องผ่านการซักซ้อมบรรเทาสาธารณภัยในระดับจังหวัดอยู่เสมอ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ด้าน ธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอว่า ให้ปรับกระบวนการเรียน การสอน เพิ่มเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความรู้ด้านความเสี่ยงทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ครอบคลุมทุกภัยพิบัติ มุ่งเน้นให้มีทักษะที่จำเป็นตามบริบทพื้นที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งจัดกิจกรรมผ่านรายวิชาลูกเสือ เนตรนารี โดยร่วมกับศูนย์กู้ชีพนเรนทร ฝึกปฏิบัติการกู้ชีพ ฝึกการทำซีพีอาร์ ช่วยปั๊มหัวใจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทำให้ทุกกิจกรรมสามารถปฏิบัติได้จริงเมื่อถึงคราวจำเป็น

นอกจากนี้ เสนอให้ตั้งทีมกู้ภัยฉุกเฉินหรือชมรมลูกเสือกู้ภัยในระดับพื้นที่ ระดับโรงเรียนที่มีความรู้ใช้อุปกรณ์ระบบสื่อสารสำรอง หรือวิทยุสื่อสารในสถานศึกษา เผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดภัยพิบัติสามารถติดต่อสื่อสารได้ไม่ขาดหายไปจะเป็นการดีเช่นกัน