posttoday

มาตรา77คุมออกกฎหมาย เปิดทางประชาชนเข้าถึงเนื้อหา

18 กรกฎาคม 2561

มาตรา77 ทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้สะดวก ซึ่งก้าวหน้ากว่าเพื่อนในปัจจุบัน

มาตรา77 ทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้สะดวก ซึ่งก้าวหน้ากว่าเพื่อนในปัจจุบัน

******************************

โดย.....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้จัดสัมมนาเสนอความเห็น เรื่อง “หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย มาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมบรรยาย

มีชัย ระบุว่า ภูมิหลังของการเขียนมาตรา 77 เนื่องจากมองเห็นอันตรายของการมีกฎหมาย ซึ่งความจริงกฎหมายในอดีตนึกว่ามันดี เพราะว่ามันตัววางกฎเกณฑ์ ให้สังคมปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน และสร้างให้เกิดความเป็นธรรม ระบบ ระเบียบใหม่ๆให้ประชาชนปฏิบัติตาม

“เรามีกฎหมาย 2 พันกว่าฉบับ ถามว่าสังคมสงบหรือไม่ คนอยู่อย่างเป็นระบบหรือไม่ ไม่เลย นับวันยิ่งแย่ขึ้น ความเป็นระเบียบน้อยลง แต่มันสร้างขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกับใคร คือ คนทุกคนในสังคมนั้นๆ ถ้าใช้แสมอต้นเสมอปลาย อย่างถูกต้องตามครรลองครองธรรม สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เจ้าหน้าที่ใช้เสมอต้นหรือไม่ เพราะทุกคนทำผิดหมด รู้บ้างไม่รู้บ้าง เพราะกฎหมายมีเป็นจำนวนมาก”

ทั้งนี้ ในฐานะเป็นคนหนึ่งทำให้กฎหมายออกมา และกลับมาคิดที่ออกไป ไม่ได้เป็นไปอย่างตั้งใจไว้ คิดว่าทำให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อย เป็นธรรม แต่มันสร้างความไม่เป็นธรรม อึดอัด ขัดข้อง ต่อการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ทั้งหมดเป็นตัวทำลายชีวิตความเป็นอยู่ เริ่มคิดว่าการออกกฎหมายมากๆไม่น่าเป็นของดี

“วันหนึ่งก็สำนึกบาปว่าที่ออกไปไม่เป็นที่คิด ไปตกในมือคนโลภ โกรธ หลง พรรคพวก มีวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่ได้เป็นตามกฎหมายแบบที่บังคับ ผมคิดเรื่องนี้มา 20 ปี แต่กฎหมายไม่มีไม่ได้ แต่ควรมีเท่าที่จำเป็น จึงวางหลักการใหญ่ มาตรา 26 แต่เมื่อมาตรา 26 ไม่เพียงพอ จึงสร้างแนวใหม่ขึ้นที่มาตรา 77 เพื่อทำกฎหมายให้เหลือน้อย”

มีชัย ขยายความว่า วิธีทำกฎหมายให้เหลือน้อย เริ่มต้นที่มาตรา 77 คือ รัฐบาลพึงออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น โดย เขียนละเอียดล้วงลึกไปถึงพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ และต้องคำนึงถึงความยากลำบากต่อการใช้กับประชาชน ขณะเดียวกัน มาตรา 77 ยังให้ไปดูกฎหมายเก่า ว่าสมควรยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่

นอกจากนี้ มาตรานี้ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้สะดวก ซึ่งก้าวหน้ากว่าเพื่อนในปัจจุบัน เพราะขึ้นในเว็บไซด์ แต่ยังขาดเรื่องทำอย่างไรให้เข้าใจง่ายกับประชาชน อีกทั้ง ระบบอนุญาต ส่วนตัวมีความกังวลกับเรื่องนี้ เพราะจากการศึกษาพบว่านำไปสู่การทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้มงวดกับการอนุญาตตรงตามเทคนิคกำหนดไว้ หรือ เวลากำหนดหลักเกณฑ์เกินความจริง จนคนทำไม่ได้ หรือทำได้ต้องเอาเงินมาจ่าย

อย่างไรก็ตาม การประเมินไม่ได้มุ่งหมายความสำเร็จตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ประเมินให้รู้ภาระเกิดกับประชาชนหรือความสะดวกสบายเจ้าหน้าที่ ถ้ามันไม่คุ้มค่า ก็ไม่สามารถรับผลอย่างนั้นได้ เพราะต่างประเทศคิดละเอียดมาก การออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ พวกนี้เป็นตัวตัดสินว่ากฎหมายไม่อำนวยความสะดวกหรือเป็นอุปสรรคหรือไม่

สาระสุดท้าย รูปแบบกฎหมายต้องไม่ใช้ระบบคณะกรรมการโดยไม่จำเป็น เพราะเป็นระบบไม่มีใครทำงาน ไม่มีใครรับผิดชอบ แม้การตั้งเอาคนจากหลากหลายสาขา มาร่วมคิด ร่วมทำ แต่งานทั้งหมดมาจากฝ่ายเลขานุการ ที่สำคัญมักตั้งคนที่คิดว่าพึ่งพาได้ แต่ลืมนึกไปว่าไม่ได้ช่วย เพราะมาในฐานะเป็นกรรมการ

อย่างไรก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ไปทำงานแล้วราษฎรต้องอำนวยความสะดวก ถามว่าการให้ราษฎรอำนวยความสะดวกนั้นเป็นภาระหรือ เพราะเจ้าหน้าที่กินเงินเดือนประชาชน ดังนั้น ต้องอำนวยความสะดวก หากไม่ก็ต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ก็ทางแพ่ง เนื่องด้วยราชการทำงานไม่มีต้นทุน ไม่ต้องรับผิดชอบ

“ถึงเวลาปรับใหม่ จากเคยลงโทษราษฎร มาลงเจ้าหน้าที่กับบางเรื่องที่มันเกินไป หากไม่ลงโทษอาญา ก็ต้องแทรกแซงด้วยการลงโทษทางปกครอง เพื่อไม่เป็นภาระต่อคนทำผิดนั้น อาจมีประวัติทางอาชญากรรม เปลี่ยนโทษเป็นตัวเอง ซึ่งบางเรื่องละเอียดอ่อน แต่กลไกนี้สร้างความเดือดร้อนพอสมควร ถ้าไม่ระแวดระวัง และกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมอีกระดับหนึ่ง”มีชัย ระบุ