posttoday

"ไม่มีอะไรยากกว่านี้แล้ว" จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ

15 กรกฎาคม 2561

"จงคล้าย วรพงศธร" รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดใจถึงภารกิจช่วยเหลือ ทีมหมูป่า ซึ่งตลอดช่วง 2 สัปดาห์นั้นเรียกได้ว่าไม่มีอะไรยากกว่านี้อีกแล้ว

"จงคล้าย วรพงศธร" รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดใจถึงภารกิจช่วยเหลือ ทีมหมูป่า ซึ่งตลอดช่วง 2 สัปดาห์นั้นเรียกได้ว่าไม่มีอะไรยากกว่านี้อีกแล้ว

*************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 นักเตะจากทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จากความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน

ไม่เพียงแค่ทีมงานนักดำน้ำและผู้เชี่ยวชาญระดับต้นๆ ของโลกจากหลายประเทศที่มาร่วมกับหน่วยซีลของไทยจนสามารถพิชิตภารกิจครั้งนี้ได้อย่างงดงามแล้ว ฟันเฟืองแต่ละตัวที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเดินหน้าไปถึงจุดหมายนั้น ล้วนแต่มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ภารกิจภายนอกถ้ำทั้งการสำรวจโพรงถ้ำ เบี่ยงทางน้ำ ตลอดจนการสนับสนุนงานลำเลียงให้ทีมช่วยเหลือ นับเป็นอีกงานที่ช่วยให้ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ด้วยการผนึกกำลังจากทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่

จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดการทำงานที่ผ่านมาตลอด 17 วัน และหน้าที่ที่สำคัญต่อจากนี้กับแผนการฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ต่อไปในหลายมิติ

ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ระดมเจ้าหน้าที่ภาคเหนือทั้ง ตาก อุทัยธานี เชียงใหม่ เข้ามาร่วมภารกิจครั้งนี้ 657 คน โดยทำงานประมาณวันละ 200 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป 3-4 วัน ก็เปลี่ยนเป็นอีกชุดหนึ่งเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพเพราะหากให้คนเดิมทำงานทุกวันจะเกิดอาการล้าหรือแรงหาย

"ไม่มีอะไรยากกว่านี้แล้ว" จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ

ส่วนแรก​ทำหน้าที่อยู่หน้าถ้ำ ทั้งขนถังออกซิเจน และสัมภาระของหน่วยซีลเข้าไปในถ้ำประจำอยู่ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ส่วนที่สองคือ การสำรวจโพรงข้างบนถ้ำ ซึ่งมีหลายหน่วยงานไปช่วยกัน ทั้งทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน กรมอุทยาน กู้ภัย ทีมรังนกจากลิบง ซึ่งมี 100 กว่าโพรงในเนื้อที่ 4,000-5,000 ไร่ ส่วนที่สามคือสำรวจลำห้วยเบี่ยงเบนทางน้ำไม่ให้เข้าไปในถ้ำ ซึ่งมีทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพย์ฯ มาช่วยกันทำงาน

ด้านภารกิจหาโพรงถ้ำนั้นที่ผ่านมาพบว่าเป็นไปได้ยากที่จะเป็นทางเข้าไปสู่ภายในถ้ำด้านล่าง เพราะแต่ละโพรงมีความลึกมาก​บางช่วงลึกเป็นกิโลเมตร​ หรือบางช่องที่คิดว่าจะทะลุเข้าไปได้ก็ทำได้ยาก ซึ่งร้อยกว่าโพรงที่ไปสำรวจก็ตันหมด เราก็ต้องเน้นฝากความหวังไว้กับภารกิจด้านล่างในถ้ำ ​

​จงคล้าย อธิบายว่า เรื่องการเปลี่ยนทางน้ำถือเป็นอีกจุดที่สำคัญนอกจากการสูบน้ำออกจากถ้ำเพื่อให้ภายในถ้ำทำงานได้สะดวกขึ้น สำหรับตาน้ำนั้นผุดมาจากใต้ดินซึมเข้าไปในถ้ำได้แต่อีกส่วนคือลำห้วยที่จะไหลเข้าไปในแนวผนังถ้ำที่ชัดเจนว่าไหลเข้าไปในถ้ำ ซึ่งจากการสำรวจพบสองจุดใหญ่ ด้านบนได้แก่ ห้วยน้ำดั้น และด้านล่างเป็นทุ่งมะกอก

“เราทำงานโดยอาศัยหลักวิชาการ ผมชวนทั้งอธิบดีกรมทรัพย์ฯ กรมชลประทาน ไปเดินดูด้วยกัน สำรวจเลยว่าตรงไหนมีน้ำซึมตามโพรง ตามลำห้วยหากไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าน้ำหายไปไหน ​พอสังเกตเราก็ใช้เครื่องมือวัดที่พบว่ามีน้ำหายไปตลอด ถ้าเราเห็นเป็นรูเล็กเราก็ช่วยอุด ถ้ารูใหญ่เราก็ต้องเบี่ยงทางน้ำ”

สำหรับการเบี่ยงทางน้ำคือต้องสร้างฝาย​ แล้วเอาท่อไปต่อเพื่อเบี่ยงลำห้วยทั้งลำห้วยกว่า 300 เมตร ให้ไหลสู่ด้านล่างไม่ไหลเข้าถ้ำ ​ซึ่งมีชาวบ้านเข้ามาช่วยกันกับทหาร กรมอุทยานฯ ยกท่อซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน ท่อหนึ่งยาวเป็นร้อยเมตรซึ่งต้องใช้คนสามสิบคนมาช่วยกันยกทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

หลังจากเบี่ยงทางน้ำได้สำเร็จ ทำให้ด้านบนสามารถเบี่ยงได้ 18,000 คิว/วัน ด้านล่างเบี่ยงได้ 14,000 คิว/วัน ซึ่งแต่ละจุดใช้เวลาเพียงแค่วันครึ่ง ซึ่งหากทำเองไม่มีทางทำสำเร็จ แต่นี่ได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านมาช่วยเป็นกำลังหลัก ซึ่งช่วยได้เยอะมาก ​

“ผมเริ่มเข้าพื้นที่วันที่ 28 มิ.ย.กลับมาเอาของและกลับไปใหม่วันที่ 30 มิ.ย. จากนั้นก็อยู่กับลูกน้องมาตลอดเพราะขวัญกำลังใจเรื่องสำคัญ ลงพื้นที่ไปด้วยกันและชวนอธิบดีกรมชลฯ กรมทรัพย์ฯ ไปดูด้วยตาตัวเองเราต้องการความมั่นใจไม่ใช่เดา พอไปดูก็ฟันธงกันเลยใช่ไม่ใช่แล้วดำเนินการได้เลย”

....ตอนเข้าไปก็เอาเครื่องไม้เครื่องมือเข้าไป ไปกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน ​ผู้อำนวยการสำนักไปด้วยกันหมด เราตัดสินใจทำอะไรที่ทุกคนเห็นด้วย ถึงได้ลงมือดำเนินการ ต้องแน่ชัดว่าเป็นเรื่องปลอดภัย ไม่แน่ใจเราไม่ทำ โดยคนที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและประชาชน ไม่ได้พวกเขาการทำงานจะทำได้ลำบาก”

"ไม่มีอะไรยากกว่านี้แล้ว" จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ถ้ำหลวงอย่างจริงจัง มีเพียงแค่นักสำรวจที่ตั้งใจเข้าไปสำรวจ ส่วนนักท่องเที่ยวมีน้อย ส่วนน้องๆ ที่เข้าไปนั้นเพราะเขาคุ้นเคยกับพื้นที่มีปัญหาแค่น้ำมาเท่านั้นเอง การสำรวจก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะจีพีเอสไม่มีสัญญาณต้องใช้เข็มทิศอย่างเดียว ​​ และเป็นพื้นที่กว้างยาวหลายกิโลเมตร ทะลุเลยไปได้อีก

อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีแผนฟื้นฟูทั้งระบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกกรมที่จะมาช่วยกันทำงาน หนึ่งในนั้นคือเรื่องการสำรวจถ้ำหลวงที่จะใช้นักวิชาการจริงๆ ทำให้เกิดความสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ​

ส่วนแผนเร่งด่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ การสำรวจโพรงกว่า 100 โพรง ว่าจุดไหนต้องถมดินซ่อม​ซึ่งจะต้องร่วมมือกับกรมทรัพย์ฯ​หรืออีกร้อยกว่าจุดที่ต้องไปดูว่าไม่มีอะไรเสียหาย ขณะที่ลำห้วยซึ่งเคยเปลี่ยนทางน้ำก็ต้องกลับไปปรับให้อยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนที่จะไปเปลี่ยนทางน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบนิเวศ

รวมทั้งการทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ซึ่งจะดำเนินการวันที่ 14 ก.ค. หรือการเก็บท่อน้ำ ซึ่งมีชาวบ้านเป็นจิตอาสาเสนอตัวมาช่วยกันทำงาน วันสองวันก็เสร็จเรียบร้อย

จงคล้าย ระบุว่า สำหรับงานภายในถ้ำเวลานี้ต้องรอเวลาจนกว่าจะถึงช่วงหน้าแล้งประมาณปีหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการอะไรได้ทั้งการนำ​อุปกรณ์ เครื่องใช้ที่ถูกน้ำท่วม ออกมาไม่ว่าจะเป็นถังอากาศ ปั๊มอากาศ ดังนั้นเวลานี้จึงปิดไม่ให้ใครเข้าไปโดยรอน้ำแห้งสนิทจริงๆ

ขณะที่แผนอื่นๆ เป็นแผนระยะยาวซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะทำพิพิธภัณฑ์หรือไม่ ​รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังจากเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ศูนย์รักษาความปลอดภัย ทั้งหมดจะมาเป็นแผงใหญ่ที่จะมีรายละเอียดเยอะมาก

“บทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูล ​ซึ่งทางอธิบดีออกคำสั่งให้สำรวจถ้ำทั่วประเทศอย่างจริงจัง มาตรการต่างๆ ต้องออกมาเข้มงวดยิ่งขึ้น ท่ามกลางวิกฤตตรงนี้จะเป็นโอกาสทำให้ทั่วโลกเห็นความสามัคคีของคนไทย เป็นประชารัฐภาคปฏิบัติจริงๆ หน่วยงานภาครัฐ เอกชนเข้ามาหมด

...มีแต่เสนอเข้ามาไม่ต้องร้องขอเลย ภาคประชาชนในพื้นที่ ราษฎรในท้องถิ่น เขาเข้ามาช่วยกันหมด ไม่มีข้อแม้เลย งบประมาณของใครของมัน ไม่มีการเรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ช่วยกันอย่างเป็นระบบ ต้องชมผู้ว่าราชการจังหวัด บริหารจัดการค่อนข้างเป็นระบบที่ดี บริหารจัดการ แบ่งหน้าที่ชัดเจน ในถ้ำ นอกถ้ำ​”

"ไม่มีอะไรยากกว่านี้แล้ว" จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ

จงคล้าย ประเมินว่า ภารกิจครั้งนี้​ “ไม่มีอะไรยากกว่านี้อีกแล้ว”​ ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ​เคยติดตามคนหลงป่าก็แค่เดินเข้าไปหาในป่า แต่กรณีนี้อยู่ใต้ดิน มันมองไม่เห็นทางว่าอยู่ตรงไหน ทางปิดสนิท และถึงจะรู้ว่าอยู่ตรงนี้แต่ก็เข้าไปไม่ได้ ความยากลำบากอยู่ตรงนี้

ความยากครั้งนี้ทำให้ทั้งซีลและต่างชาติต้องเข้ามาช่วย ทั้งนักดำน้ำระดับโลก ​ซึ่งไปถามเขาเขาก็ยังเปรียบเทียบว่ากรณีดำน้ำถ้ำหลวงครั้งนี้ถ้าเทียบกับปีนเขาก็เป็นการปีนเขา เอเวอเรสต์ สำหรับนักดำน้ำเขาถึงชมหน่วยซีลไทยว่าเก่งสามารถทำงานร่วมกับเขาได้ทั้งที่ไม่เคยดำน้ำถ้ำมาก่อน ​

“เรื่องสำคัญคือเรื่องอาหารการกิน การมีโรงครัวพระราชทานที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องพวกนี้ ลองคิดดูว่าถ้าหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทีมงาน ​ผู้สื่อข่าวหลายพันคนต้อหากินกันเองจะเกิดความวุ่นวายขนาดไหน”

ถามถึงบทเรียนครั้งนี้กับการทำงานจนช่วยทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำได้ จงคล้าย ระบุว่า เราได้บทเรียนจากตรงนี้ เรากำลังนำวิกฤตมาเป็นโอกาส เห็นความร่วมไม้ร่วมมือ ส่วนอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกจะต้องทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ หน่วยงานทหาร แม่ทัพภาค 3 ที่ลงมาบัญชาการด้วยตัวเอง รัฐมนตรี 3 กระทรวง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายกรัฐมนตรี ​ปลัดกระทรวง อธิบดีลงมากันหมด เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ขนาดนายกฯ ยังมาสองครั้ง​

“คนในพื้นที่ไม่ต้องการอะไรต้องการขวัญกำลังใจเท่านี้ มุ่งมั่นจะช่วยน้องทั้งหมด ​มีเป้าหมายหนึ่งเดียว มีขวัญกำลังใจ จากที่แทบจะมองไม่เห็นทาง ที่สำคัญคือพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ท่านให้กำลังใจกับทีมงานตลอดเวลาตั้งแต่ต้นภารกิจ จนจบภารกิจ พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงเป็นใยพวกเราตลอด พอไปพูดกับเด็กที่ทำงานว่าพระองค์ท่านมองเราอยู่ กำลังวังชาก็มากันหมดทำให้งานมีประสิทธิภาพ​“จงคล้าย กล่าว