posttoday

ไม่ละความพยายามแม้ทางตัน

28 มิถุนายน 2561

ลุ้นปฏิบัติการช่วยเหลือ สมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อะคาเดมี่ และ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนรวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 27 มิ.ย. กำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และทีมกู้ภัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนธิกำลังเดินเท้าเข้าสำรวจปล่องถ้ำเหนือเขานางนอน เพื่อช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อะคาเดมี่ และ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนรวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 23 มิ.ย.

ขณะเดียวกัน ภายในถ้ำ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือหน่วยซีล สังกัดกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ 2 ชุด รวม 42 นาย ก็พยายามดำน้ำวางแนวเชือกพร้อม Chemical Light เพื่อไปยังจุดที่คาดว่าผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน ติดอยู่

การสำรวจปล่องถ้ำด้านบนเขานางนอน เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจปล่องถ้ำ 2 จุด หรืออยู่ในแนวใกล้เคียงกับจุดที่เรียกว่า หาดพัทยา ซึ่งคาดว่าทั้ง 13 คน ติดอยู่

การตรวจสอบปล่องถ้ำที่ 1 พบว่าเป็นทางตัน ส่วนปล่องถ้ำที่ 2 ทางลงจากปากปล่องค่อนข้างแคบ เมื่อลงไปได้ประมาณ 90 เมตร ทางเข้าก็แคบลงเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่จึงถอนกำลังเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง

การทำงานของทีมค้นหาทั้งภายในถ้ำและด้านบนเขานางนอน ต่างประสบปัญหาอย่างหนักจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ฝนและลมแรงส่งผลต่อการใช้เฮลิคอปเตอร์และโดรนสนับสนุนการค้นหาปล่องถ้ำ ขณะเดียวกันก็ทำให้น้ำที่ไหลเข้าไปภายในถ้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของหน่วยซีล

กระทั่งช่วงเย็น พล.ต.ฉลองชัย ชัยยะคำ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ได้สรุปสถานการณ์ว่า หน่วยซีลยังไม่ถึงหาดพัทยา ออกซิเจน 1 ถัง ไปได้แค่ 200 เมตร แต่ก็ยังทำตลอดไม่หยุด ขณะที่ด้านบนเขานางนอน เจ้าหน้าที่พบปล่องถ้ำที่ลงไปได้ แต่ไม่ถึงด้านล่างภายในถ้ำ กำลังพยายามค้นหาจุดอื่นๆ ทุกจุดมี เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชม.

รองแม่ทัพภาคที่ 3 ยืนยันว่า ยังมั่นใจว่าทั้ง 13 คน ยังมีชีวิต และจะหาจุดใหม่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือต่อไป

"การพบตัวเป็นความหวังของพวกเราทุกคน จะไม่ละความพยายามจนกว่าจะหาทางเข้าถ้ำช่วยเหลือน้องๆ ได้ มีการลาดตระเวนหาปล่องโพรงถ้ำเพิ่มเติม ส่วนที่พบแล้ว 3 ปล่อง กำลังเร่งตรวจสอบว่าสามารถโรยตัวลงไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ใดรู้ว่ามีช่องทางเข้าถ้ำได้เพิ่มเติม ให้รีบติดต่อ เจ้าหน้าที่" พล.ต.ฉลองชัย กล่าว

สำหรับการระบายน้ำออกจากภายในถ้ำนั้น รองแม่ทัพภาคที่ 3 บอกว่า ต้องการพร่องน้ำออกเพื่อให้มีช่องอากาศสำหรับผ่านไปได้ ไม่เพียงแต่สูบภายในถ้ำ แต่สูบจากอ่างเก็บน้ำด้านนอกด้วย แล้วตรวจสอบว่าน้ำภายในถ้ำลดลงหรือไม่ จะเร่งมือสูบน้ำทั้งข้างในและรอบนอก เพื่อให้หน่วยซีลทำงานได้ง่ายขึ้น และยอมรับว่ามีการพิจารณาแผนการเจาะถ้ำ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีกำลังหาวิธีการ

"28 มิ.ย.นี้ กองทัพสหรัฐก็จะส่ง เจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือทันสมัยที่สามารถตรวจจับสัญญาณสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำมา ก็จะดำเนินการ ส่วนชุดเดินเท้าบนยอดดอยเราก็เชื่อว่ามีปล่องอื่นๆ อีก เราก็จะสำรวจให้หมด" รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว

ก่อนหน้านี้ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.เชียงราย เปิดเผยว่า แม้จะระดมสูบน้ำแต่มีฝนตกต่อเนื่อง จึงสู้น้ำฝนไม่ได้ มีความพยายามใช้กระสอบทรายอุดตาน้ำธรรมชาติ แม้จะมีเครื่องสูบน้ำประมาณ 30 เครื่อง แต่ปริมาณของสายไฟฟ้าที่เข้าไปใช้กับเครื่องสูบน้ำได้ไม่เกิน 10 เครื่อง ส่วนที่เหลือใช้สำหรับสแตนด์บาย อีกทั้งต้องมั่นใจว่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อหน่วยซีล

"หน่วยซีลน่าจะอยู่ใกล้พัทยาบีช พบปัญหาน้ำขุ่น เจาะได้แล้วเจอโคลนอีก พยายามจะเจาะให้ได้อีก" ผวจ.เชียงราย กล่าว

พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า มีหน่วยซีลอยู่ในพื้นที่ถ้ำหลวง รวม 45 นาย โดยแบ่งทำงานชุดละ 8 นาย เข้าทำงานครั้งละ 3 ชุด ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่องไม่ได้พัก จะต้องช่วยทั้ง 13 คน ออกมาให้ได้ โดยกรมวิทยาศาสตร์ ทร.ได้นำเครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนติดไปกับผู้ปฏิบัติงานด้วย เพื่อดูว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร นอกจากนี้กรมแพทย์ทหารเรือก็เตรียมพร้อมทีมแพทย์สำหรับแก้ปัญหากรณีเกิดอุบัติเหตุใต้น้ำ อุปสรรคในการทำงานคือระดับน้ำ สภาพอากาศ มีฝนตกลงมาตลอด มีปัญหาเรื่องระดับน้ำ เพราะถ้าน้ำปกติจะไม่มีปัญหา แต่เป็นน้ำโคลนที่เป็นอุปสรรคอย่างมาก

"ผมเองก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง และจะไป จ.เชียงราย เยี่ยมลูกน้อง แม้จะมีอุปสรรค แต่เราไม่ได้ท้อถอย และพยายามทำต่อไป เราต้องช่วยให้ได้ เราทำเต็มที่ ไม่ได้พัก และเพิ่มเติมกำลังไปแล้ว ก็หวังว่าเราจะทำได้สำเร็จและช่วยทั้ง 13 คน ออกมาได้อย่างปลอดภัย" ผบ.ทร.กล่าว และว่าผลพวงจากครั้งนี้จะเป็นบทเรียนในเรื่องการทำงานและการฝึกของทหาร ควรมีแผนในการป้องกันภัย การกู้ภัย แม้เคยทำไว้แล้วหลายรูปแบบ แต่ควรจะเพิ่มเติมในเรื่องนี้ด้วย

ล่าสุด ในช่วงเย็นวานนี้ก็มีสัญญาณที่ดี การสูบน้ำในจุดซึ่งเป็นอุปสรรคของหน่วยซีลเริ่มทำได้แล้ว โดยตั้งเป้าลดระดับน้ำจากเพดานถ้ำลงประมาณ 30 ซม. เพื่อให้มีช่องอากาศสำหรับหายใจ สลับกับการใช้ถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพราะจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่แคบไม่สามารถใช้ถังออกซิเจนขนาดใหญ่ได้ ทำให้การดำน้ำไปได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น คาดว่าระยะทางที่จะต้องดำน้ำไปยังจุดที่คาดว่า ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนอยู่นั้นมีระยะทางประมาณ 1 กม.

ทั้งนี้ การสูบน้ำออกมาดังกล่าว ใช้วิธีติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาล หรือ ซัมเมอร์ส 20 เครื่อง ดูดน้ำจากพื้นที่หาดพัทยามายังโถง 2 จากนั้นใช้เครื่องสูบน้ำแรงดันสูงอีก 8 เครื่อง สูบจากโถง 2 ออกมาภายนอกถ้ำอีกทอดหนึ่ง ซึ่งสามารถสูบน้ำออกมาได้นาทีละประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้านาทีละ 10 ลบ.ม. หากไม่มีฝนตกลงมาก็จะสามารถพร่องน้ำได้ภายใน 2 ชม. ซึ่งจะทำให้หน่วยซีลสามารถเข้าไปยังหาดพัทยาและค้นหาช่วยเหลือทั้ง 13 คนต่อไปได้

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า จะเดินทางลง พื้นที่ถ้ำหลวงอีกครั้งในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ โดยยืนยันว่า ได้รับรายงานจากทหารหน่วยรบพิเศษที่พยายามโรยตัวเข้าโพรงถ้ำที่เชื่อว่าจะทะลุเข้าไปข้างในได้

ขณะที่ นิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ก็บอกว่า ในวันที่ 28 มิ.ย.จะใช้โดรนพิเศษ 3 ลำ ซึ่งมีซูเปอร์คาเมรา หรือกล้องพิเศษเพื่อสำรวจว่ามีโพรงถ้ำที่จะผ่านเข้าไปได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน โรเบิร์ต ชาร์ลส์ ฮาร์เปอร์ ริชาร์ด วิลเลียม สแตนตัน และจอห์น โวลันเธ็น ผู้ชำนาญการดำน้ำในถ้ำจาก British Cave Rescue Council แห่งสหราชอาณาจักร ก็เดินทางถึงถ้ำหลวงแล้วตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 27 มิ.ย. เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือทั้ง 13 คนต่อไป