posttoday

เหลื่อมล้ำเรื้อรัง รัฐแก้จริงแค่ไหน

22 มิถุนายน 2561

พล.อ.ประยุทธ์ หลังรัฐประหารได้ชูความเหลื่อมล้ำ คือ ปัญหาใหญ่ของประเทศ เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นที่ต้องแก้ไข แต่เมื่อความวุ่นวายจางหายเรื่องนี้จึงหลุดความสนใจ ไม่มีนโยบายใหม่เพื่อให้หลุดปัญหา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา Direk Talk ความขัดแย้งและสันติภาพ นโยบายรัฐ และประชาธิปไตย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ณ ห้อง ร.103 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปริศนาความเหลื่อมล้ำ” ว่า จากการศึกษามาตลอด 30 ปี และหากได้อ่านงานต่างๆ ที่อภิปรายในระดับโลก นักเศรษฐศาสตร์มองเรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจชะงัก

ทั้งนี้ ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาในหลายประเทศได้เผชิญกับเรื่องนี้แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาและจีน จนหันมาศึกษาเพื่อวิจัยทางออกเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบ โดยนักวิชาการฝรั่งเศสได้สรุปว่าความเหลื่อมล้ำทั่วโลกจะเจริญต่อไปและเลวร้ายลงเรื่อยๆ กลายเป็นสภาพปกติ

“ศตวรรษที่ 20 ความเหลื่อมล้ำลดลงได้อันเนื่องจากผลสงครามโลก 2 ครั้ง ทำลายความมั่งคั่งของผู้ร่ำรวยลง แต่เมื่อแนวคิดเสรีนิยมใหม่เสนอให้รัฐบาลเอื้อต่อกลุ่มผู้เป็นเจ้าของทุนมากกว่าผู้ใช้แรงงาน ความเหลื่อมล้ำเชื่อมกับโลกาภิวัตน์ร่วมสมัย จนในที่สุดไม่มีใครกำไรเสียหมด”

อย่างไรก็ดี ประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งโตช้าลง สังคมขาดความเชื่อมั่น ใช้นโยบายอะไรสังคมก็ขัดแย้ง เมื่อสังคมได้มาถึงจุดวิกฤต ไม่แฟร์ ความรู้สึกนี้ขยายวงไปมากขึ้นๆ ความต่างเป็นปัจจัยหนึ่งที่ได้รับผลตอบแทนแตกต่างกัน เว้นแต่นักอุดมคติเท่านั้น ที่เชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกันหมด

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังก่อรัฐประหารได้ชูความเหลื่อมล้ำ คือ ปัญหาใหญ่ของประเทศและเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นที่รัฐบาลต้องแก้ไข โดยชี้นำผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อความวุ่นวายจางหายเรื่องนี้จึงหลุดความสนใจ ไม่มีนโยบายใหม่เพื่อให้หลุดปัญหา

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและการปฏิรูปประเทศได้ทำ 2-3 เรื่อง ให้มีผลต่อความเหลื่อมล้ำ 1.ภาษีมรดก 2.บัตรคนจน และ 3.เห็นชอบกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศลดเหลื่อมล้ำ แต่กลับคุกคามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนักวิจัยชี้ว่าลดความเหลื่อมล้ำได้ผลและควรปรับปรุงให้ดีขึ้น

“ภายใต้สภาพการเมืองและนโยบายไม่อาจคาดหวังให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ในอนาคตของประเทศไทย และจากงานวิจัยในประเทศยุโรปชี้ว่าความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นรอบ 20 ปี จะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในเรื่องทรัพย์สิน การศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาจากกลุ่มสมาชิก โออีซีดี เมื่อปี 2557 และอาจจะเป็นปัญหาของเราในอนาคต ปัญหาและทางออก 4 ปีที่แล้วหายไป เพราะประชาชนถูกบอกให้เงียบ”

สำหรับการแก้ไขต้องใช้เงินมากหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดและคำถามที่ผิด เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นคอร์สมองไม่เห็น ดังนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการลดต้นทุนและผลกระทบต่อสังคม เพราะต้นทุนความเหลื่อมล้ำจากความขัดแย้งการเมืองตลอด 10 ปี ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า 1-2% ต่อปี

“ถ้าไม่มีปัญหานี้จีดีพีของประเทศเพิ่มอีก 15% คือทุกคนจะรวยขึ้น 15% โดยเฉลี่ย และจากการศึกษาของปัญหาความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อเศรษฐกิจให้โตขึ้นช่วงสั้นๆ ไม่ยืนยาว เพราะจากความขัดแย้งจึงไม่มีนโยบายชัดเจน”

ต้นทุนที่สอง มีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น สภาพจิต การใช้ยาเสพติด จึงเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นในการรักษา แต่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ และต้นทุนที่สาม ระบบเศรษฐกิจ เสียโอกาส ได้ผลงานจากประชาชนไม่เต็มประสิทธิภาพ คือ ไม่ได้เรียน หรือเรียนอย่างไร้คุณภาพ

อย่างไรก็ตาม สองเรื่องที่รัฐบาลต้องทำจริงจัง คือ การศึกษาระยะยาว เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มคุนภาพชีวิตได้ด้วยตัวเอง ทำให้ได้คุณภาพทุกระดับในทุกพื้นที่ ไม่ว่ารวยจนจะต้องได้เข้าเรียนโรงเรียน มหาวิทยาลัย ในมาตรฐานพอๆ กัน และธำรงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้อย่างยั่งยืน รายจ่ายไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนของสังคม

ผาสุก ยอมรับว่าการแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานานไม่สามารถทำได้รวดเร็ว แต่เรื่องสำคัญ คือ การศึกษาและสวัดิการสังคมสำคัญที่สุด เพราะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องนี้มาก จะเห็นได้จากประเทศพัฒนาที่รายได้ต่อประชากรสูง เช่น เยอรมนี ได้ลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพอย่างแข็งขัน ทำให้คนมีความมั่นคงในชีวิตสูงและตรงนี้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต

“รัฐบาลไทยจะมีเงินพอหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดเก็บภาษี เห็นได้จากการเก็บภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรจัดเก็บเงินเดือนผู้มีรายได้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ต่างจากรายได้ที่จากการลงทุนกลับเก็บได้น้อยกว่ามากๆ ซึ่งเป็นคนรวยที่สามารถจ่ายภาษีได้สูง และปัญหาที่เก็บได้น้อยเพราะมีการแทรกแซงทางการเมืองสูง ต่างจากประเทศตุรกีได้อุดช่องโหว่นี้จนเก็บได้ถึง 30% ของจีดีพี แต่ของเราทำได้เพียง 18% และอยู่ในระดับนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้น ประเด็นไม่ใช่หาเงินไม่ได้ แต่อยู่ที่รัฐบาลตั้งใจจะทำหรือไม่กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อม แม้จะต้องใช้เวลา แต่หากไม่เริ่ม ก็ไม่ถึงเป้าหมาย”