posttoday

เร่งปฏิรูปการศึกษาจากล่างสู่บน พบโรงเรียนคุณภาพต่ำสุดอยู่ในกทม.

18 มิถุนายน 2561

ทางออกปัญหาการศึกษาไทยในมุมองของ "นพ.จรัส สุวรรณเวลา" ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

ทางออกปัญหาการศึกษาไทยในมุมองของ "นพ.จรัส สุวรรณเวลา" ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

*******************************

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

“ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันมาจากการศึกษา และเราเห็นแล้วว่าการศึกษานี่แหละจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงจำต้องเกิดขึ้น และต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ” คำพูดจาก นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมของปัญหาประเทศด้วยคำจำกัดความข้างต้น

ปัญหาด้านการศึกษาของไทยที่ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักในการพัฒนาความเจริญของบ้านเมือง นพ.จรัส ให้ภาพกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า เกิดจาก 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.คุณภาพการศึกษาที่ต่ำ 2.ความเหลื่อมล้ำ 3.ความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก และ 4.ประสิทธิภาพและระบบธรรมาภิบาล และผลของทั้ง 4 ด้าน ก็นำไปสู่คำว่า “วิกฤตอย่างร้ายแรง”

“คุณภาพการศึกษาต่ำอย่างมาก หลักฐานคือผลสอบคะแนนโอเน็ตอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ได้ค่าเฉลี่ยกันเพียงแค่ 29% ภาษาไทยก็ได้แค่ 52% ทั้งๆ ที่เป็นการสอบเนื้อหาสาระ การท่องจำ ยังมีปัญหาเด็กนักเรียนออกกลางคันอีกปีละกว่า 6 หมื่นคน กลุ่มนี้ก็ไปเป็นแรงงาน แต่เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ การศึกษาก็ไม่ได้ทำให้คนมีฝีมือได้เลย”

หลักฐานอีกชิ้นที่ทำให้ภาพการศึกษาไทยนั้นตกต่ำอย่างแท้จริง นพ.จรัส สะท้อนว่า ผลการจัดอันดับ PISA ที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก ก็พบว่าการศึกษาบ้านเรายังต่ำกว่า “เกณฑ์ขั้นต่ำ” ถึง 46% ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ต่ำกว่าแค่เพียง 7% ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่สูงกว่าเราอย่างมาก จึงไม่แปลกที่หากจะไม่ปฏิรูปการศึกษาในอนาคต เพื่อนบ้านจะแซงหน้าเราในแง่ของการพัฒนาอย่างแน่นอน

อีกปัจจัยปัญหาคือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งมาตรฐานคุณภาพโรงเรียนของไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษายังมีความแตกต่างกันอย่างมาก และโรงเรียนที่สามารถต่อกรบนเวทีโลกได้ในประเทศไทย คือโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเท่านั้น ขณะที่โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีคุณภาพเพียงแค่คาบเส้นมาตรฐาน และไม่จำเป็นต้องมองโรงเรียนยังหัวเมืองต่างๆ ว่าจะอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานเท่าใด

“แต่ที่น่าตกใจคือโรงเรียนที่คุณภาพต่ำที่สุดกลับอยู่ในกรุงเทพมหานคร ข้อมูลมันบอกชัดเจนเลย ผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไร มีปัญหาคอร์รัปชั่นกันหรือเปล่า” นพ.จรัส ตั้งคำถาม

ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสริมอีกว่า ประเทศที่กำลังจะแซงเราคือเวียดนามที่จะไปข้างหน้าแน่ๆ และหากอีก 5-10 ปีข้างหน้าเรายังย่ำอยู่ที่เดิมแล้วกัมพูชาแซงเราไปอีกเราจะว่าอย่างไร นี่คือสภาพที่น่าตกใจอย่างมาก ยังไม่รวมอีกปัญหาคือมหาวิทยาลัยที่เรายังไม่ก้าวกระโดดในแง่ของงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ ดูอย่างมาเลเซียที่พัฒนาหลังเราแต่ก้าวกระโดดงานวิจัยไปไกลมาก และไปลิ่วด้วย ผมถามว่ามหาวิทยาลัยกำลังทำอะไรอยู่ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปล่อยให้ประเทศอื่นๆ แซงเราไปได้อย่างไร

กระนั้นก็ตามเมื่อเล็งเห็นปัญหาที่ดูแล้วมากโขไม่น้อย หนทางแก้ไขที่สำคัญที่สุด ทีมปฏิรูปการศึกษาอย่างอิสระในชุดนี้ก็วางเอาไว้พร้อมแล้ว ซึ่งแนวทางของการแก้ไขปัญหา คือ การแก้ปัญหาจากข้างล่าง คือระบบการศึกษาตั้งแต่แรกเริ่ม หาใช่การแก้ปัญหาจากข้างบน หรือกระทรวงศึกษาฯ ที่จะสั่งการลงไป นั่นเพราะว่าเราหลงลืมศรัทธาที่มีต่อครูและเด็กนักเรียน และต้องให้อิสระในการเรียนการสอนกับพวกเขา ข้างบนจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเนื้อหาสาระ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคอยสนับสนุนให้ระดับล่างได้มีอิสระในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งก็คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการศึกษา

“อย่างเด็กปฐมวัย เราต้องเลิกการสอบแข่งขันเข้า ป.1 และต้องลงทุนในแง่การพัฒนาทางความคิดให้มาก มีทักษะการทำงานร่วมกัน คิดให้เป็น และผลการวิจัยก็ชี้ชัดแล้วว่าหากลงทุนกับเด็กกลุ่มนี้จะได้ผลที่ดีอย่างยิ่ง ต้องเลิกระบบปัจจุบันที่สร้างเด็กให้เข้าสู่การแข่งขันก่อนวัยอันควร ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเด็กจะผูกกับคำว่าแข่งขันเพื่อเอาชนะคนอื่นจนถึงเติบใหญ่ ถามจริงๆ ว่าเราต้องการสังคมที่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือต้องการให้เกิดสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ทำงานร่วมกันได้ เราต้องเปลี่ยนอุดมการณ์” นพ.จรัส ชูแนวทาง

อย่างไรก็ตาม การเป็นอิสระทางการเรียนการสอนใช่ว่าจะไม่สอนเลยก็ได้ หรือละเลยปล่อยทิ้งขว้างก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะจะมีเกณฑ์กลางที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะใช้ชี้วัดคุณภาพของเด็ก และยังเป็นรูปแบบใหม่ ใจของเกณฑ์กลางนี้ คือ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั้ง 1-6 ที่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ชานพัก” คือระดับชั้นการศึกษาที่ 1-3 จะมีชานพักที่จะวัดเกณฑ์คุณภาพของเด็ก ถ้าถึงตรงนี้แล้วก็จะไปต่อได้ในระดับ 4-6 ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอังกฤษในเกณฑ์กลางจะต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี แต่เด็กบางคนเรียนรู้ได้เร็วก็อาจใช้เวลา 1-2 ปีก็ได้ แต่ขณะเดียวกันเด็กบางคนอาจจะช้า ก็ใช้เวลา 4 ปีก็ได้ แต่ผลลัพธ์ไม่ได้แปลว่าแตกต่างกัน เพียงแต่เกณฑ์กลางนี้จะเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อการสร้างคุณภาพของเด็กนักเรียนให้เท่าเทียม

“เราเห็นภาพชัดเจนว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ นั้นมีคุณภาพที่ดีกว่า นั่นเพราะอะไร เพราะเขาสอนแบบไม่สนใจเนื้อหาสาระของกระทรวงศึกษาธิการ เขาจัดการเรียนการสอนเอง ใช้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอนและตรงกับความต้องการของเด็ก และสอดรับกับบริบทของสังคม เด็กก็มีคุณภาพ ทำให้เห็นว่าเด็กบ้านเราถ้ามีโอกาส มีระบบที่ดี ก็จะเก่งขึ้นมาได้”นพ.จรัส กล่าวทิ้งท้าย