posttoday

กกต.พร้อมเลือกตั้ง การันตีสุจริตยุติธรรม

17 มิถุนายน 2561

พูดคุยกับ "พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต." กับการเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งในช่วงเดือนก.พ.62

พูดคุยกับ "พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต." กับการเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งในช่วงเดือนก.พ.62

*****************************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถนนการเมืองทุกสายต่างพุ่งเป้าสู่สนามเลือกตั้ง หลังกฎหมายเกี่ยวข้องทั้ง 4 ฉบับ ได้คลอดออกมาอย่างเป็นทางการ เหลือเพียงแค่รอเวลาตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ คือ ในช่วงเดือน ก.พ. 2562 และแน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไม่พ้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.กับบทบาทหน้าที่และความพร้อมต่อการจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม ภายใต้กฎหมายใหม่ ซึ่งกำลังจะถูกนำมาใช้

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า ขณะนี้ กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีผู้มาใช้สิทธิ 80%

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ อธิบายว่า ในส่วนงานของ กกต.เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง แม้จะมีกฎหมาย 4 ฉบับออกมาแล้ว ทว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเวลา 90 วัน ถึงจะมีผลบังคับใช้หลังจากลงในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ กฎหมายเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก ประเด็นต่างๆ เพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าระบบการเลือกตั้ง การจัดการทุจริตเลือกตั้ง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา จำเป็นต้องปรับปรุงระเบียบ ซึ่งเป็นรายละเอียดของการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดรับกับกฎหมาย ที่สำคัญต้องปฏิบัติได้ หมายถึง พนักงานต้องไปปฏิบัติให้เหมือนกันทั่วประเทศ ต้องเข้าใจ

เลขาธิการ กกต. ยกตัวอย่างระบบการหาเสียงที่ กกต.ต้องเข้าไปควบคุม เช่น ป้ายหาเสียง ต่อไปนี้ห้ามติดเสาไฟกับต้นไม้ข้างถนน ทำได้ในเฉพาะพื้นที่ย่านชุมนุม รวมถึงเรื่องการสอบสวน การไต่สวนคดีต่างๆ ต้องมีคณะกรรมการไต่ส่วน และสำนวนต้องมีคุณภาพมากกว่าเดิม

“เพราะกฎหมายเขียนว่าให้ศาลฎีกาใช้สำนวนไต่สวนเป็นหลักในการพิจารณา นอกจากนั้น การดำเนินคดีอาญา สำนวนไต่สวนสามารถส่งอัยการได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปเริ่มต้นแจ้งความที่โรงพักใหม่ เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นจ่ายสินบนรางวัล คุ้มครองพยาน การกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน

รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จำเป็นต้องร่างระเบียบให้ชัดเจน เมื่อทำเสร็จแล้วก็ต้องไปอบรมพนักงาน ว่าทำอย่างไรให้เหมือนกัน หรืออาจประชุมทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน ทั้งหมดเป็นประเด็นสำคัญ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของคนให้พอเพียงต่อการทำงาน”

อย่างไรก็ดี ด้วยความเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ แต่เจ้าหน้าที่ กกต.ทั่วประเทศ มีเพียง 2,100 คน ซึ่งกำลังสำรวจแต่ละจังหวัดพอหรือไม่ เพราะบางจังหวัด 15 คน สามารถทำงานได้ดีกว่าหากมีคนเพิ่ม เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดต่างๆ หนึ่งคนต้องสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง ไม่ได้ปิดล็อกว่าทำหน้าที่นี้แล้วไม่ทำหน้าที่อื่น

ขณะที่กระบวนการจัดการเลือกตั้งหากจะเรียกพนักงานทั่วประเทศมาอบรมคงเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำในลักษณะเทรนด์ตรงกับพนักงานโดยจัดเป็นกลุ่มจังหวัด ส่วนการเทรนด์กรรมการประจำหน่วย จะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยใช้
ครู ก. ครู ข. ซึ่งเป็นพนักงานไปถ่ายทอดต่อ เพราะอย่าลืมว่าการจัดการเลือกตั้งหนึ่งครั้งใช้คนประมาณ 1 ล้านคน เนื่องจากมีแสนกว่าหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ

ส่วนความกังวลว่าในการจัดการเลือกตั้งจะไม่เกิดความยุติธรรมเพราะอาจถูกแทรกแซง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ย้ำหนักแน่นว่า อย่าลืมในหน่วยเลือกตั้งมีกรรมการประจำหน่วย นักศึกษา และชาวบ้าน หาก กกต.เข้าไปแทรก ข่าวก็ปิดไม่อยู่แน่นอน กกต.คงไปสั่งอะไรไม่ได้ และหากการแทรกแซงเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.ก็อาจถูกร้องเรียนได้

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรเอกชนที่ตรวจสอบเลือกตั้งแทบทุกจังหวัดก็อาสาเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม มีตัวแทนพรรคการเมืองเป็นผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งนั้น ที่ส่งมา กกต.ก็จะจัดที่ให้อยู่เฝ้าหน่วยเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากหากจะทำอะไรแบบนั้น

“ถ้าเกิดมีการทุจริต ซื้อเสียง อย่าลืมว่ามีสินบนรางวัล ถ้าเขาเอาพยานหลักฐานมาให้ กกต. คนเอาหลักฐานมาให้ มีเงินสินบนเป็นแสนบาท เขาคงไม่ทิ้ง และคงถาม กกต.แน่ ทำไมไม่ดำเนินการ เราต้องชี้แจงได้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมันเข้มข้นในเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วมและมีรางวัลตอบแทน มาเป็นพยานคุ้มครองเขา ซึ่งมีกระบวนการต่างๆ หลายอย่าง

กระบวนการซื้อเสียง กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง เรามีรางวัลตอบแทนให้เขาค่อนข้างจะสูง ถ้าเราไปบิดเบี้ยวคดีเขา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาต้องตามคดี และเชื่อมั่นว่าพนักงานของเรา ซึ่งไม่เคยเห็นว่าไปบิดเบี้ยวคดี ยิ่งมีรางวัลให้กับคนแจ้งเบาะแส เขาไม่ทิ้งแน่คดี เพราะเขาต้องการรางวัล”

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังยอมรับอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ คือ การพิมพ์บัตรเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา และอาจมีความสับสนบ้าง สมมติ พรรค ก.เขตนี้ เบอร์ 2 ไปอีกเขต เบอร์ 10 แต่ก่อนเข้าคูหา ก็ต้องดูหมายเลขที่เลือก พรรคอะไร ชื่ออะไร ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่จะสร้างปัญหาในการรวมคะแนนจากเขตต่อเขตก่อนมารวมที่ส่วนกลาง

“เกรงว่าจะสับสน แต่ต้องมีการอบรม กกต.เขต ซึ่งให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และการนับบัตรเลือกตั้งแต่ละหน่วยจะต้องมีการบันทึกหมายเลข อาจจะชื่อพรรคของแต่ละหน่วย ต้องออกแบบอีกที เพื่อให้การส่งกลับของคะแนนมันดูง่ายขึ้น อาจจะมีการรวมคะแนนแต่ละเขต และส่งโดย ผอ.จังหวัด แต่อาจจะช้าหน่อย เพราะมันไม่เหมือนเบอร์หนึ่งทั่วประเทศ ยุ่งตอนรวม แต่ต้องทำให้ถูกต้องตรวจสอบได้”

ทว่า ประเด็นนี้ยังมีหลายแนวคิดว่าสมควรกระจายการพิมพ์บัตรหรือรวมพิมพ์เพียงที่เดียวแล้วค่อยกระจายออกไปตามหน่วยเลือกตั้ง แต่ไม่น่าหวั่น เพราะถ้ามีปัญหาจริงๆ อำนาจ กกต.คนเดียวสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ แต่บัตรหากกระจายไป ส่วนตัวมีความเป็นห่วง

“หากย้อนดูประวัติศาสตร์มีปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้งปลอม ก็ไม่อยากทิ้งประเด็นนี้ กกต.ต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าบัตรเลือกตั้งจริงหรือปลอม ฉะนั้นราคาบัตรจึงค่อนข้างสูง อาจพิมพ์ที่เดียวแล้วกระจายออกไป อาจแบ่งสีตามกลุ่มจังหวัด เชื่อมั่นว่าประชาชน 3 ปีหลังรัฐประหาร จิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างเยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะยังไม่ใช้เครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะกฎหมายมีเงื่อนไข และกระบวนการใช้ต้องมีเวลาให้กับประชาชนได้ศึกษา อาจนำไปใช้กับการเลือกอย่างอื่นที่เหมาะสม แล้วแต่กฎหมาย ถึงอย่างไรยืนยันว่าบัตรเลือกตั้งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างดี ไม่มีปัญหาเรื่องปลอม เนื่องจากสามารถพิสูจน์ได้

กกต.พร้อมเลือกตั้ง การันตีสุจริตยุติธรรม

สำหรับประเด็นที่ยังมีการพูดถึงโดยเฉพาะจากพรรคการเมือง คือ เรื่องการทำไพรมารีโหวต และการแบ่งเขต พ.ต.อ.จรุงวิทย์ มองว่า พรรคการเมืองถือเป็นสถาบันสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งการปฏิรูปหลังรัฐประหาร และมีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยปฏิรูปพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด คือ ต้องการให้เป็นของประชาชนไม่ใช่กลุ่มทุน

ทั้งนี้ ดูได้จากการผู้ก่อตั้งพรรคต้องจ่ายเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรค ฉะนั้นทุกคนที่จ่ายเงินคงไม่ยอมให้ใครเข้ามามีอำนาจ โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้สมัคร หรือไพรมารีโหวต ซึ่งสมาชิกพรรคเท่านั้นที่คัดเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น เป็นการปฏิรูประบบพรรคการเมือง

ส่วนการทำไพรมารีโหวตจะทันหรือไม่นั้น แม้นายกฯ ออกมาประกาศว่ามีการเลือกตั้งเดือน ก.พ.แน่นอน เลยมีการพูดคุยถึงเรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระเบียบแบ่งเขตถึงออกได้ ต้องมีผลบังคับใช้ นั่นคือ 90 วัน ถึงจะมีการแบ่งเขต

อย่างไรก็ตาม เลยมีการเสนอแนะความคิด ให้ใช้ช่วงเวลา 90 วัน มาตรา 2 ของกฎหมายดังกล่าว เมื่อลงราชกิจจาฯ แล้ว 90 วันอย่าทิ้งไว้ น่าจะมีกฎหมายพิเศษ ขอให้ กกต.แบ่งเขต เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำไพรมารีโหวตได้ก่อน เนื่องจากต้องใช้เวลาทั่วประเทศ 350 เขต แต่ละพรรคต้องไปทำ

“ปัญหาการทำไพรมารีโหวต คือ บางพรรค สมาชิกยังไม่ถึง 7,700 คน หรือ 77 จังหวัด คงต้องดูคำประกาศ คสช. 53/2560 ที่ออกมา ตรงนั้นที่เป็นอุปสรรค จะให้มีการประชุมพรรคได้หรือไม่ ในฐานะนายทะเบียนพรรค จริงๆ น่าจะให้มีประชุมพรรคได้ แต่ต้องเห็นใจผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยด้วย ไม่อยากให้เหตุการณ์ 4 ปีย้อนกลับมา

แต่จะปลดแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ คสช. ถ้าปลดหมด และมีการพูดอะไรทำให้คนเกิดความแตกแยกขึ้นมาอีก ทำอย่างไร ก็คงลำบาก ดังนั้น จึงอยากให้ดำเนินการตรงนี้ เนื่องจากการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้า มันจะไม่ทัน ท้ายที่สุดไม่ปลด การเลือกตั้งยืดออกไป ประมาณนั้น เพราะการทำไพรมารีขึ้นอยู่กับสมาชิก”

สำหรับประเด็นความสัมพันธ์กับบิ๊ก คสช.นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยอมรับว่า ส่วนตัวรู้จักคนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าบิดเบี้ยวเพื่อให้ใครได้เปรียบ เพื่อให้คนมีอำนาจ 4 ปี คงทำไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง และองค์กรอิสระต้องยืนอยู่บนตัวของตัวเอง ถ้าเกิดมีกลุ่มไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วมีผลดีผลเสียอะไรกับเรา มันไม่มี ประโยชน์ก็ไม่ได้ แล้วทำไมต้องทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นแนวคิดองค์กรอิสระ มันต้องแฟร์

“ผมมาจากโรงเรียนนายร้อย ทหาร ตำรวจ แต่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร สิ่งที่มันผิด โดยเฉพาะองค์กรอิสระจะไม่ทำ เพราะอยู่ได้ด้วยตัวเอง อำนาจนอกเหนือคงมาบีบอะไรไม่ได้ภายใต้องค์กรอิสระ ก็ต้องเป็นอิสระ คนสงสัยได้ในเรื่องนี้” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย