posttoday

อานิสงส์ "ทรัมป์-คิม" ดันไทยค้าขายคล่อง

14 มิถุนายน 2561

มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ หลังประชุมประวัติศาสตร์ "ทรัมป์-คิม" และผลที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย

มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ หลังประชุมประวัติศาสตร์ "ทรัมป์-คิม" และผลที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย

*************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกกับการประชุมครั้งแรกระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ “คิมจองอึน” แห่งเกาหลีเหนือ ลงนามร่วมกันในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ด้านการเมืองและความมั่นคง เมื่อเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ากระบวนการปลด อาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์บนคาบสมุทรเพื่อนำไปสู่สันติภาพโลก ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองและความมั่นคงไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า นับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลกใหม่ทั้งของโลกและของไทย ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดมีด้วยกัน 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ ภาพรวมความขัดแย้งด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคนี้จะผ่อนคลายลงไป โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งผลกระทบระยะสั้นที่เห็นได้ทันทีอยู่แล้ว ณ ตอนนี้ เมื่อตลาดหุ้นและค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวดีขึ้น แน่นอนย่อมจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนในชาติอาเซียนจะเกิดตามมา รวมถึงด้านการท่องเที่ยวด้วย

ประการที่สอง เมื่อเกิดข้อตกลงการปลดอาวุธของเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกายอมยกเลิกซ้อมรบกับเกาหลีใต้ย่อมส่งผลดีต่อไทย เพราะในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ผลดีที่ตามมาต่อประเทศไทย คือ จะเป็นการช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองและความมั่นคงของปัญหาระหว่างสหรัฐกับประเทศในภูมิภาคนี้ลงไปด้วย จึงทำให้ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะได้ไม่หนักใจมากนักในการทำหน้าที่ในการเป็นประธานการประชุมอาเซียน

“สหรัฐกับเกาหลีปรองดองกันย่อมส่งผลดีต่อไทยมากๆ เพราะในปีหน้าไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน จะได้ไม่ต้องรับบทหนักกับปัญหาระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ แต่ไทยยังต้องรับบทหนักเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าหนักใจอยู่”ปณิธาน กล่าว

ประการต่อมา ผลของข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ สิ่งสำคัญจะเป็นการเพิ่มบทบาททวิภาคีด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือย่อมเพิ่มสูงขึ้น เพราะทราบดีว่าเกาหลีเหนือประสบปัญหาขาดแคลนอาหารที่บริโภคในประเทศอย่างมาก จึงมีความต้องการสินค้าเกษตรจำนวนมากจากไทย โดยเฉพาะการส่งออกข้าวไปเกาหลีเหนือมีความต้องการสูงมาก เพราะที่ผ่านมาเกาหลีเหนือเคยนำเข้าข้าวจากไทย

“ผลดีระยะสั้นๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ค่าเงิน กับตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นทันที รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือจะเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ยิ่งสินค้าเกษตรไทยจะส่งออกได้ดีขึ้น เพราะเกาหลีต้องการสินค้าเกษตรหรือสินค้าประเภทอาหารจากไทยจำนวนมาก เกษตรกรไทยจะได้มีรายได้” ปณิธาน กล่าว

เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มองว่า สันติภาพระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือไม่ได้ส่งผลดีต่อไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสันติภาพไปทั่วโลก เพราะไทยเป็นทั้งมิตรประเทศกับสหรัฐและเกาหลีเหนือมาโดยตลอด ยิ่งสองประเทศนี้ปรองดองต่อกันย่อมส่งผลให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐจะดียิ่งขึ้น เพราะไทยสามารถทำการค้าการลงทุนกับเกาหลีเหนือและสหรัฐได้มากขึ้น แต่หากสองประเทศนี้ทะเลาะกันเมื่อไร แน่นอนไทยไม่อาจค้าขายกับเกาหลีเหนือได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการค้ากับเกาหลีเหนือสูงมาก

แต่สิ่งที่ยังเป็นกังวลอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ปัญหาความขัดแย้งทะเลจีนใต้ที่ยังคุกรุ่นอยู่ ยิ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีหน้า ย่อมทำให้ประเทศไทยต้องรับบทหนัก เพราะปัญหาทะเลจีนใต้เกี่ยวข้องกับหลายๆ ประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐกับเกาหลีเหนือเท่านั้น แต่ยังผูกโยงกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นบทบาทไทยในการประชุมผู้นำอาเซียนย่อมต้องมีความสำคัญในการเป็นตัวกลางในการหาข้อหารือข้อขัดแย้ง แม้ว่าปัญหาดังกล่าวไม่อาจจะยุติลงได้ง่ายๆ แต่ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติอาเซียนมาโดยตลอด เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทะเลจีนใต้ให้ลดน้อยถอยลง

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า สหรัฐกับเกาหลีเหนือคุยกันได้นับเป็นเรื่องดีมากที่จะเกิดสันติภาพด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ รวมถึงไทยด้วย แต่ก็ยังเหลือเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้อยู่ที่ต้องหาทางแก้ไข ยิ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า แต่ไม่ได้เป็นห่วง เพราะไทยเป็นประเทศเป็นกลาง ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอะไรด้วย และไม่ใช่คู่ขัดแย้งในปัญหาบนหมู่เกาะที่มีข้อพิพาทกันอยู่โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยเป็นประธานอาเซียนมาแล้วครั้งหนึ่งเพื่อหาทางให้ทุกชาติหันหน้ามาคุยกัน ทางรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศย่อมมีนโยบายที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพในภูมิภาคนี้ ด้วยการทำให้ประเทศที่มีข้อพิพาทหันหน้ามาคุยกันอย่างสันติ เพื่อให้ปัญหาจบลงเหมือนกรณีสหรัฐกับเกาหลีเหนือ เพื่อนำไปสู่สันติภาพในภูมิภาคแห่งนี้ในที่สุด