posttoday

ผ่า "TCAS" อุดรูรั่วหาทางออก

11 มิถุนายน 2561

ทปอ.ยืนยัน "TCAS" ทำให้การกั๊กที่นั่งลดลง เดินหน้าปรับปรุงอุดรูรั่วป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย

ทปอ.ยืนยัน "TCAS" ทำให้การกั๊กที่นั่งลดลง เดินหน้าปรับปรุงอุดรูรั่วป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย

****************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีเสวนาเรื่อง "ทีแคส- ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย" โดยมีนักวิชาการด้านการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องและเชี่ยวชาญเรื่องระบบสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ประจำปีการศึกษา 2561 ร่วมแสดงความคิดเห็นและทางออกให้กับระบบทีแคสซึ่งกำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง

มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมินเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม ระบุว่า ระบบทีแคสบอกเป็นระบบที่บอกให้เด็กทราบล่วงหน้าเพียง 4 เดือนก่อนใช้จริงทำให้เด็กรุ่นนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นหนูทดลอง และระบบนี้ทฤษฎีดี แต่การจัดการและนำไปใช้ยังมีปัญหามาก เช่น ทีแคสต้องการให้เด็กม. 6 อยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษา ซึ่งทำให้เด็กกดดันมาก เพราะ 4 สัปดาห์หลังจบม.6 เด็กจะเข้าสู่การสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด และเป็นการสอบหลายวิชา เช่นหากเด็กต้องการสอบเข้าแพทย์ต้องสอบทั้งหมด 15 วิชา ,สอบเข้าเภสัชศาสตร์ต้องสอบ 18 วิชา

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากบางวิชาสอบซ้ำ 3 รอบ ส่วนการลดค่าใช้จ่าย ในทางปฎิบัติกลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น การยื่นแฟ้มสะสมงานพบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดแฟ้มสะสมงานต่างกัน เด็กยื่นหลายที่ก็ต้องทำแฟ้มสะสมงานหลายเล่ม ทำให้เกิดธุรกิจจัดทำแฟ้มสะสมงาน หรือการห้ามมหาวิทยาลัยจัดสอบทำให้ต้องไปใช้คะแนนของหน่วยงานเอกชนที่จัดสอบ เช่น สมัครแพทย์ ใช้การสอบ BMAT ซึ่งค่าสมัครประมาณ 7,100 บาท เป็นต้น

มนัสกล่าวว่า สำหรับปัญหาการกั๊กที่ แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนในอดีตแต่ปัจจุบัน กลายเป็นการกั๊กแบบลูกโซ่ คือระบบทีแคสแต่ละรอบ มีการกั๊กที่นั่งและกระทบไปสู่รอบอื่นๆ โดยในส่วนของการเลือกที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ พบว่า เป็นการกั๊กคะแนนกั๊กคณะ ขณะที่ต่างจังหวัด กั๊กเป็นมหาวิทยาลัยปัญหาการกั๊กที่นั่ง ซึ่งปัญหาติดที่นั่งได้มากกว่า 1ที่นั่ง และควรมีระบบตัวสำรอง

"ปัญหาทีแคส เกิดจากการสื่อสารไม่ชัดเจน ตั้งแต่เกิดทีแคสเด็กก็มีความเครียด และสิ่งที่กังวลตอนนี้ คือ เด็กหลายคนเลือกคณะจากคะแนนที่ตัวเองติด แต่ไม่ได้เรียนคณะที่ตนเองชอบนอกจากนั้น เด็กหลายคนต้องการซิ่วเพื่อไปเรียนปีนี้ ดังนั้นเข้าใจว่าระบบใดระบบหนึ่งทำให้เด็กพึงพอใจทั้งหมดได้ยาก แต่อยากให้ระบบดังกล่าวมีความยุติธรรมกับเด็ก"มนัส กล่าว

ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่าขอยืนยันว่าทีแคสช่วยทำให้การกั๊กที่นั่งลดน้อยลง แต่การจัดลำดับคงไม่สามารถทำได้ เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเกณฑ์ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาทุกครั้งทปอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น

"ทีแคสไม่ได้มีการเปลี่ยนอะไร แต่เป็นการจัดระเบียบในสิ่งที่มหาวิทยาลัยเคยรับและซ่อนไว้มาเป็นข้อมูลสาธารณะ จึงทำให้เป็นที่มาของการเกิดปัญหามากมาย เพราะทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน ส่วนทีแคสจะเปลี่ยนหรือไม่ในอนาคต ต้องถามมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพราะระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมหาวิทยาลัยกำหนด ตอนนี้มีข้อมูลเยอะมากที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็น โควตาพื้นที่ มีการกำหนดชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น ไม่มีการเปิดรับเด็กม.6 ทั่วประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาทีแคสรอบ 3 นั้น ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เช่น ปัญหารูปแบบที่ 3 กสพท.กันที่นั่ง ปีหน้าทปอ.จะจัดการปัญหานี้แน่นอน ตอนนี้เห็นวิธีแล้วแต่ต้องขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำได้มหาวิทยาลัยต้องช่วย รวมถึงจัดการเรื่องระยะเวลาให้ดีขึ้น เพราะขณะนี้ รอบที่ 1 ไปจนถงรอบที่ 5 ใช้เวลานานเกินไป "ประเสริฐ กล่าว

อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าปรากฎการณ์ทีแคส มีมิติด้านอารมณ์ค่อนข้างสูง และทุกคนพยายามชี้นิ้วหาคนผิด ซึ่งจริงๆ แล้ว ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยที่ปรับไปตามโจทย์ของประเทศ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่จะพัฒนาคนเพื่ออะไร เพราะขณะนี้ มหาวิทยาลัยผลิตคนตามความต้องการตลาด หาผู้เรียนที่ดีที่สุดมาเรียน ทำให้ระบบการรับเข้าต้องปรับตาม และมหาวิทยาลัยต้องแย้งเด็กเข้ามาเรียนให้ได้

"โจทย์ท้าทายที่ควรมองอนาคตการศึกษาไทยให้ไกลกว่าทีแคส คือ มหาวิทยาลัยต้องมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยอย่างไร และควรทำให้เด็กรู้ว่าอยากเรียนเพื่อเป็นอะไร เพราะตอนนี้เมื่อโจทย์ไม่ชัด มหาวิทยาลัยไม่ชัด ทำให้ทปอ.ซึ่งทำงานบนเงื่อนไข ความคาดหวังของสังคม แต่มีผู้เล่นมหาวิทยาลัยบางแห่ง ไม่ทำตามกติกา และเด็กเองก็แทงกั๊ก ระบบก็ต้องปรับเปลี่ยนและเป็นปัญหาไปเรื่อยๆ"อรรถพลกล่าว

พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่าทีแคสเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับทุกชีวิต เพราะเป็นเรื่องการแข่งขันและโอกาส ซึ่งเมื่อใดก็ตามจำนวนที่นั่งรับกับจำนวนคนไม่เท่ากัน ทุกคนจะเครียด โดยเฉพาะเด็กที่ผิดหวังซ้ำๆ กับการสมัครหลายรอบ เพราะเกิดวงจรที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าคุณค่าของเด็กลดลง เพราะสังคมกำหนดว่าต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย

"พ่อแม่ ที่คิดว่าลูกต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ โดยลืมมองว่า มีประตูอีกหลายทางให้เดิน ดังนั้น อยากให้พ่อแม่ทุกคนคิดว่าถ้าลูกสอบไม่ติดเข้ามหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร อย่าปล่อยให้ชีวิตของพ่อแม่และลูกติดอยู่กับประตูเดียว และพ่อแม่ควรเป็นแบคอัพที่สำคัญของลูก อย่าลงไปเล่นทีแคสเอง เพราะเป็นเกมของเด็ก ที่ต้องไปด้วยตนเอง พ่อแม่อย่าเอาความฝันของตัวเองไปฝากลูกไว้ แต่พ่อแม่ควรบอกว่ารักกอด ให้ความมั่นใจแก่ลูก อย่ารักลูกแล้วเหน็บ อย่ารักลูกแล้วพูดจาประชด "คณบดีคณะจิตวิทยา กล่าว