posttoday

หวั่นอำนาจนอกกติกา แทรกแซงเลือกตั้ง

08 มิถุนายน 2561

ผู้แทนพรรคการเมืองห่วงเลือกตั้ง ครั้งหน้ายังไม่สุจริตเที่ยงธรรมแม้มีกลไกใหม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ผู้แทนพรรคการเมืองห่วงเลือกตั้ง ครั้งหน้ายังไม่สุจริตเที่ยงธรรมแม้มีกลไกใหม่ โดยในเวทีเสวนา "กลไกปราบโกงเลือกตั้ง ใช้กับใคร ใช้ได้จริงหรือ?" ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งมี จุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย  และ เจษฎ์  โทณะวณิก นักนิติศาสตร์และที่ปรึกษา กรธ. เป็นวิทยากร โดยมีสาระน่าสนใจดังนี้

จุรินทร์ ระบุว่า การเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่นั้นต้องถาม คสช.  แต่ถ้าดูเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญนับนิ้วได้ว่าอีก 11 เดือนไกลกว่านั้นไม่ได้ แต่ที่ห่วงคือเงื่อนไขนอกรัฐธรรมนูญที่มีคำพูดว่าไม่สงบก็ไม่ต้องเลือก ซึ่งไม่ได้ระบุในมาตราไหน แต่กระทบหากมีคนคิดเอาว่าใช้จริงๆ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับปราบโกงและบังคับใช้มา 1 ปีแล้ว  ถามว่าปราบโกงได้จริงหรือ ซึ่งความจริงจะปราบโกงได้ต้องควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ใช่การปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้

"การมีกลไกปราบโกงอย่างเดียวก็ยังไม่เที่ยงธรรมเต็มใบยังต้องมีอย่างน้อย 3 ปัจจัย 1.กติกาต้องเป็นธรรม  2.การบังคับใช้กติกาต้องเป็นธรรม  3.การใช้อำนาจรัฐของผู้มีอำนาจต้องเป็นธรรม  ความสุจริตเที่ยงธรรมทั้งองคาพยพจึงจะเกิดขึ้น  และเชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่มีโอกาสสุจริตเที่ยงธรรมเต็มร้อย  เพราะทั้ง 3 ปัจจัยยังมีเครื่องหมายคำถาม"

จุรินทร์ อธิบายอีกว่าตัวกติกายังมีปัญหา รัฐธรรมนูญเองไม่สุจริตเที่ยงธรรมตั้งแต่ต้นหลายมาตรา โดยเฉพาะรูปแบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไปกำหนดให้พรรคเดียวกันคนละเบอร์  อาจมีเป้าหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นเบี้ยหัวแตก  เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างบทเฉพาะกาล 5 ปี  ให้ สว.มาเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย  เพราะผู้ที่คัดกรอง สว. 250 เสียง คือ คสช.เอง  ซึ่งการไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้แปลว่าเที่ยงธรรม ยิ่งมีการเซตซีโร่พรรคและสมาชิกพรรค ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น  เกิดข้อวิจารณ์ว่าเอื้อพรรคใหม่บอนไซพรรคเดิม

ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็มีทีท่าเปลี่ยนจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นในสนามเอง การยื้อเวลาปลดล็อก  ข่าวใช้พลังดูดทางการเมือง รวมทั้งความเป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจเหนือองค์กรอิสระ ล้วนเป็นคำถามถึงความสุจริตเที่ยงธรรม

"กลไกปราบโกงต้องใช้กับทุกคนทุกพรรคทุกฝ่าย  ส่วนจะใช้ได้จริงหรือไม่ก็ขึ้นกับ กกต.ว่าต้องไม่เป็นเสือหมอบ หรือเสือกระดาษ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่าการจะปราบโกงได้ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองลงไปดำเนินการแข่งขันกันด้วยนโยบาย จะได้ไม่เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำแบบนั้น เมื่อพรรคการเมืองทำอะไรไม่ได้ไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมือง แต่เป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่จะใช้พรรคการเมืองแก้ปัญหา

"การเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะเจอปัญหาการใช้อำนาจรัฐผ่านราชการ ซึ่งจะเป็นที่หนักใจของ กกต. ซึ่งน่าเห็นใจ มีบางองค์กรถูกเซตซีโร่ บางองค์กรไม่ถูกเซต ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นี่คือการใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซง เช่นเดียวกับการใช้อำนาจพิเศษปลดกรรมการบางท่าน ซึ่งอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสร้างความหนักใจให้แก่ผู้ใช้กฎหมาย"

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อก้าวเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง คนเป็นห่วงในเรื่องของการใช้อำนาจที่อาจทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม เพราะวันนี้ผู้เขียนกติกาบอกจะไม่เป็นกรรมการแล้ว แต่จะลงมาเป็นผู้เล่น ทั้งที่ยังเป็นผู้ที่ยังมีอำนาจในการตัดสิน แบบนี้จะเที่ยงธรรมได้จริงหรือไม่

"เป็นความผิดปกติและไม่เป็นไปตามครรลอง และไม่เป็นไปตามหลักการ การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่หนักหน่วงสำหรับการจัดการเลือกตั้ง กกต.ควรคุมทุกอย่างได้ แต่วันนี้ท่านกลับถูกคุมด้วยมาตรา 44 วันนี้คงไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมืองที่โดนยุบอยู่พรรคเดียวอีกแล้ว แต่เป็นปัญหาของทุกพรรค นอกจากพรรคที่จะไปอยู่กับผู้มีอำนาจ" คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ

ขณะที่ เจษฎ์ มองว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกลากไปอีกไม่มีอีกแล้ว ถ้าพูดว่าจะมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม ยังไม่เห็นว่าจะมีการทุจริต แต่สิ่งที่ได้สัมผัสจากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน คือ เมื่อมีการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีการทุจริตเลือกตั้งทุกหน่วย  ดังนั้นต้องเริ่มจากกลไกจากเสรีภาพของการตั้งพรรคการเมือง ซึ่งถ้าหากพรรคการเมืองนั้นไม่มีสมาชิกที่มีอุดมการณ์และจรรยาบรรณที่ดีก็ย่อมจะมีผลต่อการคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม หรือไม่สามารถหลุดพ้นพรรคที่เป็นของนายทุน และจะกระทบต่อการทำไพรมารีโหวตซึ่งเป็นหน้าด่านของการปราบโกง เพราะว่าจะไม่ได้ ผู้สมัครที่ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง

"ตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวติดอาวุธให้กับประชาชนแล้ว โดยในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าในการเลือกตั้งบางเขต ถ้ามีประชาชนไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่าการประสงค์ลงคะแนนบุคคลใดในพื้นที่นั้น จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่และผู้สมัครในตอนแรกก็ห้ามลง และเชื่อว่าประชาชนเป็นกลไกที่ดีที่สุด และจะต้องอาศัยข้าราชการด้วย เพราะการทุจริตของนักการเมืองจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีข้าราชการเข้ามาร่วมด้วย" เจษฎ์ กล่าว