posttoday

ปรับหลักสูตรทุกระดับ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

06 มิถุนายน 2561

แม้จะผ่านพ้นวันสิ่งแวดล้อมโลกไปเพียงแค่ 1 วัน แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หมักหมมในทุกวันนี้ ยังไม่อาจสลายได้อย่างรวดเร็ว

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์ 

แม้จะผ่านพ้นวันสิ่งแวดล้อมโลกไปเพียงแค่ 1 วัน แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หมักหมมในทุกวันนี้ ยังไม่อาจสลายได้อย่างรวดเร็ว และอาจกล่าวได้ว่า บนพื้นที่ประเทศไทยที่มีอยู่ราว 320 ล้านไร่ ในชั่วยามนี้ยังคงมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง “ครอบคลุม” ในทุกด้านทีเดียว

บนเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ เรื่อง “การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งระดมข้อคิดเห็นตั้งแต่บุคคลระดับสูง นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป มาสะท้อนข้อคิดเห็นเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และผลสรุปออกมาว่า การสร้างองค์ความรู้ผ่านการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ และคนยุคปัจจุบันที่จะอยู่เพื่ออนาคต น่าจะเป็นทางออกสำคัญในการต่อลมหายใจของประเทศ

เฉกเช่น พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี บอกเล่าถึงมุมมองของปัญหาผ่านเวทีเสวนานี้ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย และที่สำคัญ คือ การเมือง

“การเมืองมีการเอาใจฐานเสียงรากหญ้าโดยให้ที่ดินทำกิน แต่สุดท้ายชาวบ้านเอาไปเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ จากนั้นมาขอที่ดินจากการเมืองรอบใหม่ ปัญหาจึงวนเวียนอยู่อย่างเดิม และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม” พล.อ.ดาว์พงษ์ สะท้อนถึงปัญหา

เมื่อปัญหาเกิดขึ้นการเรียนรู้เพื่อแก้ไขจึงเกิดตาม ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว พล.อ.ดาว์พงษ์ สะท้อนว่า จะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ฝึกทักษะทางความคิด ความสามารถ และสติปัญญาเพื่อพัฒนาศักยภาพ ผ่านการจัดทำรายวิชา “เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา” มุ่งเน้นเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเกษตรอาหาร บนพื้นฐานการใช้และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต

พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ และผู้จัดทำ CHULA MOOC ด้านสิ่งแวดล้อม ให้ภาพว่า การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างความตระหนักทำให้เยาวชนเห็นว่าขณะนี้แทบไม่เหลือแหล่งน้ำมีคุณภาพแล้ว อีกทั้งบ้านเรายังติดอันดับ 6 ที่มีขยะมากที่สุดของโลก จึงต้องทำให้คนเห็นปัญหา จากนั้นทำให้มุมมองปัญหานั้นลงมือแก้ไขจริงๆ

“การสร้างองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะต้องเข้าให้ถึงคน 3 กลุ่ม คือ 1.เด็กอนุบาล ต้องเริ่มปลูกฝังแต่เด็ก 2.ครู สำคัญมากที่จะนำองค์ความรู้ไปปลูกฝัง และ 3.พระ คือการเข้าถึงจุดศูนย์รวมจิตใจแหล่งชุมชนทุกแห่งได้เป็นอย่างดี”

ไม่ต่างจากมุมมองของ นงรัตน์ อิสโร ตัวแทนกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เห็นว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มทำให้เยาวชนให้ใฝ่รู้ และสิ่งแวดล้อมอาจจำต้องแฝงอยู่ในทุกวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เป็นต้น และเหนืออื่นใด ต้องไม่ทำให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ในทางกลับกันต้องทำเป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” เพื่อให้เด็กหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง

“อาจจะเริ่มด้วยการรณรงค์ยุติการใช้พลาสติก จากนั้นก็ขยับไปสู่การรณรงค์ให้ห้างสรรพสินค้าเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งพลังเยาวชนจะขับเคลื่อนได้” นงรัตน์ ฉายภาพความคิดเห็น