posttoday

ฝนถล่มทั่วทุกภาค ปภ.เตือน 61 จังหวัดรับมือ

05 มิถุนายน 2561

ฝนที่ตกกระหน่ำทั่วประเทศจากอิทธิพลพายุดีเปรสชันทำให้ ปภ. ออกประกาศเตือนให้พื้นที่ 61 จังหวัดทั่วทุกภาคเตรียมพร้อมรับมือ

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ฝนที่ตกกระหน่ำทั่วประเทศจากอิทธิพลพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ออกประกาศเตือนให้พื้นที่ 61 จังหวัดทั่วทุกภาคเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกและตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล

ทั้งนี้ 61 จังหวัดดังกล่าว แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง 18 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต และกระบี่

อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกต่อเนื่องส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังแล้วในหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

ที่ จ.ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ โดยเฉพาะถนนมิตรภาพทั้งขาขึ้นขาล่อง เส้นทางขอนแก่น-นครราชสีมา บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลไปจนถึงทางลอดอุโมงค์ระดับน้ำท่วมสูงถึง 60 เซนติเมตร ทำให้การจราจรติดขัดอย่างมาก สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น ได้สั่งการให้สูบน้ำออกจากบึงหนองโคตร ซึ่งเป็นบึงสาธารณะรับน้ำขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของเขตเมือง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่คลองส่งน้ำให้ไหลลงสู่บึงทุ่งสร้าง แล้วไปลงสู่แม่น้ำพองและแม่น้ำชี

ส่วนในเขตเทศบาลนครสกลนคร พื้นที่ต่ำถนนบางสายน้ำท่วมขังสูง 20-30 เซนติเมตร การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีเศษขยะจำนวนมากอุดตันบริเวณท่อระบายน้ำ ทำให้ไปลดประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตเทศบาล

วิชาญ แท่นหิน ปภ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้ประกาศเตือนให้ทั้ง 18 อำเภอติดตามข่าวสาร หากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำฝนสะสมทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และเอ่อล้นตลิ่งให้แจ้งปกครองในพื้นที่ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกล และแผนปฏิบัติการเผชิญเหตุ รวมถึงกำลังเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน จ.ตราด ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องก็ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ถนนสุขุมวิท ช่วงกิโลเมตรที่ 315-316 บ้านหนองบัว ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด ช่วงหน้าโรงแรมตราดซิตี้ ถึงปั๊มน้ำมันบางจากความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร รถยนต์ไปมาด้วยความลำบาก นอกจากนี้ยังเกิดฝนตกหนักในอีกหลายพื้นที่ แต่ยังไม่มีรายงานน้ำท่วมขัง ขณะที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องฝนตกหนัก และอาจจะเกิดดินสไลด์ในพื้นที่เสี่ยงทั้งใน อ.บ่อไร่ และ อ.เกาะช้าง ในระยะ 2-3 วันนี้

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงการรับมือพายุฝนในปีนี้ ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 นี้ จะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 5-10% ซึ่งน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วง ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนพายุ 1-2 ลูก จะเข้ามาในช่วงเดือน ส.ค. หรือเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งได้เฝ้าระวังอยู่และได้มีการพร่องน้ำและทำแก้มลิงบางพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอดีต จำนวน 28 แห่ง ทั้งนี้ เบื้องต้นได้เตรียมแผนรองรับและนำเครื่องมือไปติดตั้งประจำจุดไว้อยู่แล้ว

สำหรับแผนการรองรับสถานการณ์น้ำหลากในปีนี้นั้น เลขาธิการฯ สทนช. บอกว่า มีพื้นที่เสี่ยงอยู่ประมาณ 10 พื้นที่ ซึ่งได้ชี้เป้าให้ไปเตรียมการรับมือแล้ว ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชี้เป้า

เลขาฯ สทนช. กล่าวว่า การคาดการณ์จะเป็นหน้าที่ของส่วนหน้า คือ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) และกรมทรัพยากรธรณี หลังจากนั้นหน่วยงานที่บริหารจัดการที่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง คือกรมชลประทาน กทม. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จะลงพื้นที่เพื่อกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่า หากมีการเกิดน้ำหลากจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งทุกแหล่งน้ำจะต้องมีเจ้าภาพหลัก

อย่างไรก็ตาม เลขาฯ สทนช.ห่วงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ประมาณ 40-50 แห่ง เนื่องจากมีปริมาณเกิน 80% ของความจุ จึงได้สั่งการให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนว่าถ้าน้ำเข้ามาฝนตกจำนวนมากจะมีมาตรการอะไรบ้าง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งจังหวัดจะต้องรับทราบเรื่องนี้ด้วย

เมื่อเข้าหน้าฝน การรับมือน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเตรียมพร้อม


บรรยายภาพ - น้ำท่วมขังถนนสุขุมวิท ในพื้นที่ จ.ตราด