posttoday

เปิดแผนรับมือฝนถล่ม ทุกมาตรการพร้อมป้องกทม.

29 พฤษภาคม 2561

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนปลายเดือน พ.ค. ทำให้ กทม. เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนปลายเดือน พ.ค. ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

มาตรการที่ออกมาถูกกำหนดและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่ากทม. อาทิ พื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมเป็นประจำ รวมถึงแผนการแจ้งเตือนประชาชนให้ได้เกาะติดสถานการณ์ไปพร้อมกัน

จักกพันธุ์ เปิดเผยว่า ระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กทม. เริ่มต้นด้วยมาตรการ 12 ข้อดังนี้ 1.สร้างคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 77 กิโลเมตร (ระดับคัน 2.8-3 เมตร) พื้นที่ 450 ตารางกิโลเมตร และคันกั้นน้ำพระราชดำริ ระยะทาง 72 กิโลเมตร พื้นที่ 650 ตารางกิโลเมตร

2.วางระบบท่อระบายน้ำ 6,400กิโลเมตร 3. ขุดลอกคูคลอง 1,682 คลอง ความยาว 2,600 กิโลเมตร 4.เตรียมสถานีสูบน้ำ 176 แห่ง ประตูระบายน้ำ 232 แห่ง บ่อสูบน้ำ 271 แห่ง รวมทั้งสิ้น 679 แห่ง 5.เตรียมพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ 8 แห่ง (กำลังสูบ 215.5 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 1 แห่ง คือ อุงโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ความยาว 9.4 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพระบายน้ำ 60 ลูกบาศ์เมตร/วินาที จะแล้วเสร็จต้นปี 2562

6.พื้นที่ทำแก้มลิง 26 แห่ง โดยในปี 2561 จะก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ หรือธนาคารน้ำ จำนวน 5 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 2.7 หมื่นลูกบาศก์เมตร และพัฒนาบึงสาธารณะเป็นแก้มลิงจำนวน 5 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 2.9 แสนลูกบาศก์เมตร 7.ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สถานีเรดาร์ตรวจฝน 3 แห่ง ประกอบด้วย เรดาร์เขตหนองจอก เขตหนองแขม และเขตหนองบอน

8.ตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ทั้งหมด 1,593 เครื่อง (ใช้งานได้ 1,443 เครื่อง อยู่ระหว่างซ่อม 57 เครื่อง รอยุบสภาพ 93 เครื่อง และในปีงบประมาณ 2561 จะซื้อใหม่อีก 47 เครื่อง 9.ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 37 ลำ (มีทั้งหมด 75 ลำ) 10.หน่วยบริการเร่งด่วน กทม. รวม 108 หน่วย เจ้าหน้าที่ 700 คน 11.เตรียมวัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ กระสอบทราย 3.6 ล้านใบ รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่ 17 คัน และ 12.ควบคุมระดับน้ำในคลองให้คงที่ -0.50 ถึง -0.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

“ต้องยอมรับว่าปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งเกิดจากฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ของ กทม.มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยถนนที่ต่ำที่สุดคือถนนรามคำแหง หากไม่มีบ่อสูบหรือคันกั้นน้ำ ลำพังน้ำในเจ้าพระยาก็ล้นเข้ามาอยู่แล้ว จึงต้องใช้อุโมงค์ระบายน้ำจากจุดต่ำสุดมาออกที่แม่น้ำ ฉะนั้น กทม.จึงต้องอาศัยทุกมาตรการทำงานประสานกันเพื่อป้องกันน้ำท่วมน้ำ กทม. และชี้วัดด้วยการระบายน้ำที่ต้องเร็วกว่าปี 2561 ให้ได้” จักกพันธุ์ กล่าว

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ด้านการแจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนให้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำฝนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง จะมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ (สนน.) ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มหาดไทย) ทหาร (กลาโหม) และจังหวัดรอยต่อ กทม.

จากนั้นนำข้อมูลส่งต่อให้ผู้บริหารและหน่วยงานทุกสำนักของ กทม. หน่วยปฏิบัติการภาคสนาม พร้อมด้วยกระจายข่าวสารไปยังสื่อมวลชน และประชาชน ทุกช่องทางสื่อสารโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ กทม. ที่สำคัญประชาชนสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 02-248-5115

จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตเตรียมความพร้อมในจุดต่างๆ ทั้งจุดอ่อนน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวัง โดยหากพื้นที่ใดไม่สามารถแก้ปัญหาแบบถาวรได้ ให้ดำเนินการดูแลพื้นที่แบบชั่วคราว ทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำระบบระบายน้ำสำรองรูปแบบต่างๆ

ในปัจจุบันยังคงมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังจำนวน 17 จุด ได้แก่ 1.ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ (หน้า สน.บางเขน) 2.ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร 3.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ 4.ถนนพหลโยธินบริเวณหน้าตลาดอมรพันธุ์และแยกเกษตรศาสตร์ 5.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน 6.ถนนราชวิถี บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน 7.ถนนพญาไทบริเวณหน้ากรมปศุสัตว์  8.ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท 9.ถนนเจริญกรุง ช่วงจากถนนแปลงนามถึงแยกหมอมี

10.ถนนเยาวราชฝั่งเหนือ ช่วงจากถนนทรงสวัสดิ์ถึงถนนราชวงศ์ 11.ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศลถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา 12.ถนนสวนพลู ช่วงถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่ 13.ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกถนนจันทน์ 14.ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงคลองสามวาถึงคลองแสนแสบ 15.ถนนเพชรเกษม ช่วงจากคลองทวีวัฒนาถึงคลองราชมนตรี

16.ซอยถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ จากถนนเพชรเกษมถึงวงเวียนกาญจนาภิเษก 17.ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม ในจุดดังกล่าวหากเกิดฝนตกปริมาณเกินกว่า 60 มิลลิเมตร มักประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกเขตเตรียมความพร้อมเร่งระบายน้ำในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อทำให้ระยะเวลาสำหรับการระบายน้ำไม่เกิน 1 ชั่วโมง

สำหรับความกังวลของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้แนวโครงการเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง กลัวว่าจะเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมขัง ทาง กทม.เห็นถึงปัญหาเรื่องนี้จึงประสานงานร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการอย่างใกล้ชิด ที่มีการสร้างตอม่อสถานี ส่งผลกระทบต่อระบบท่อระบายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กทม.จึงทำข้อตกลงให้การรถไฟฟ้าฯ ว่า ต้องทำท่อระบายน้ำชั่วคราวให้กลับมาเชื่อมต่อระบบท่อหลักให้ได้เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง