posttoday

ปรับทัพสู้สุเทพ มั่นใจพื้นที่ภาคใต้เป็นของ ปชป.

27 พฤษภาคม 2561

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ขุนพลประชาธิปัตย์ภาคใต้ มั่นใจเลือกตั้งครั้งหน้า ปชป.จะยังรักษาพื้นที่ไว้ได้ทั้งหมด แม้ “สุเทพ” ตั้งพรรค

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ขุนพลประชาธิปัตย์ภาคใต้ มั่นใจเลือกตั้งครั้งหน้า ปชป.จะยังรักษาพื้นที่ไว้ได้ทั้งหมด แม้ “สุเทพ” ตั้งพรรค

***************************

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของ “ประชาธิปัตย์” กับการยืนหยัดรักษาฐานที่มั่นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งกำลังสั่นคลอนจาก “คู่แข่ง” อย่าง กปปส. ถึงขั้นทำให้แกนนำออกมายอมรับว่า “หนักใจ” กับการต้องถูกแบ่งฐานคะแนนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

อีกฝั่งหนึ่งปรากฏการณ์ “กลุ่มวาดะห์”ก้าวออกจากพรรคเพื่อไทย มาฟอร์มทีมพรรคประชาชาติ ภายใต้การนำของ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ย่อมทำให้ประชาธิปัตย์ไม่อาจประมาท

ในฐานะดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินสถานการณ์ว่า เป็นเรื่องธรรมดา และเหมือนกับการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประชา ธิปัตย์มีคู่แข่งทุกครั้งเพียงแต่เปลี่ยนหน้ากันไป สมัยก่อนก็พรรคพลังธรรม ความหวังใหม่ ชาติไทย ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

ทั้งนี้ หลายคนวิตกตรงที่ประชาชนส่วนหนึ่งจะไปสนับสนุนพรรคที่แกนนำ กปปส.สนับสนุนเพราะเขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ตั้งพรรค แต่เป็นสิทธิที่จะไปสนับสนุนพรรคการเมือง ดังนั้น ต้องยอมรับว่าคนที่หนุนประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งก็คือ กปปส. พอเขามีพรรคหลักหรือพรรคที่จะสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง

“เราก็อาจเสียมวลชนได้บางส่วน​ แต่ประเมินว่าไม่ถึงขั้นทำให้เราต้องพ่ายแพ้ เว้นแต่แพ้ก็เป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวของ สส.ในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องของบางคนที่ไม่ติดพื้นที่ ไม่เยี่ยมเยียนประชาชน เลือกตั้งเสร็จแล้วหายหน้า​อย่างนี้ก็อาจแพ้ได้”

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินว่า คะแนนที่จะเสียไปอาจจะอยู่ที่เขตละ 4,000-5,000 หรือเต็มที่ก็ไม่เกิน 1 หมื่น ซึ่งไม่ใช่คะแนนที่เยอะถึงขั้นจะทำให้ กปปส.ได้รับเลือกตั้ง แต่เขาก็อาจจะสะสมคะแนนเหล่านี้เพื่อหวังจะได้เป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่ สส.เขตก็ไม่ได้หวังขนาดนั้น

สำหรับ​ประเด็น สส.ที่อาจไม่ลงพื้นที่ตรงนี้ ทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษา ได้กำชับมาตลอดว่าต้องดูแลพื้นที่ โดยให้ ​สส.สำนึกว่าเราชนะเลือกตั้งมาโดยไม่ต้องซื้อเสียง ดังนั้นบุญคุณต้องตอบแทนตลอดชีวิต ต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนเขา มีการมีงานต้องไปตลอด ​ส่วนใครทำได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล​

ทุกวันนี้คำเปรียบเปรยที่ว่า “ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้งก็ชนะ” อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้วหรือไม่ นิพิฏฐ์ มองว่า ประชาธิปัตย์ตระหนักเรื่องนี้มาตลอด สส.ถึงต้องให้เกียรติ เข้าถึงประชาชน เข้าถึงพื้นที่ สส.ต้องอยู่พื้นที่ตลอด ​

อย่างไรก็ตาม อาจมี สส.บางคนที่ถนัดอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ แต่เมื่อมาลง สส.เขตแล้วไม่ถนัด ดังนั้น เวลาที่ต้องมีการแข่งขันเข้มข้นในพื้นที่ก็จะกลายเป็นปัญหา ดังนั้น หากมีปัญหามาก​ก็อาจต้องปรับแผนขยับคนเหล่านี้ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ และเอาคนที่ขยัน เป็นที่รักในพื้นที่มาลงระบบเขตแทน

“ท่านก็ต้องเลือกเอาว่า ลง สส.เขตแล้วเสี่ยงสอบตก กับการไปขึ้นบัญชีรายชื่อแล้วมีโอกาสได้ จะเลือกแบบไหน ท่านจะต้องเลือก ต้องตัดสินใจเอง เรื่องประเด็นการลงบัญชีรายชื่อ ลงเขต นี้ไม่น่าจะเป็นประเด็นให้เกิดปัญหาเกิดรอยร้าวในพรรคแต่อย่างไร”​

ยิ่งระบบเลือกตั้งใหม่มี​การกำหนดให้ทำ “ไพรมารีโหวต” ​ก็จะต้องให้สมาชิกพรรคเลือกกันรอบแรกก่อน ซึ่งตรงนี้จะมีผลกับ สส.ที่ไม่ลงพื้นที่ แล้วมีคนอื่นที่เป็นสมาชิกแต่ลงพื้นที่มากกว่า ก็ต้องมาลงแข่งกัน หากคนที่ลงพื้นที่ต่อเนื่องก็ไม่น่าจะเป็นห่วง ซึ่งกฎหมายเป็นอย่างนั้นและถือเป็นข้อดี

นิพิฏฐ์​ มองว่า ​สำหรับระบบเลือกตั้งให้มีเขตเดียว สส.เขตเป็นหลัก ไม่สามารถเลือกเฉพาะบัญชีรายชื่อได้ อีกด้านหนึ่งจึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบ เพราะบางพรรคที่ต้องการส่งผู้สมัครเพราะหวังว่าจะได้เสียงไม่กี่พันในพื้นที่เพื่อรวมแล้วไปได้ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อก็ไม่ง่าย

ทั้งนี้ การจะไปบอกชาวบ้านว่าไม่ได้หวังเป็น สส.เขต แต่ขอเสียงสัก 2,000-3,000 เพื่อหวังรวมให้ได้บัญชีรายชื่อนั้น อีกด้านหนึ่งชาวบ้านก็บอกว่าจะไปเลือกทำไม เพราะเลือกไปก็ไม่ได้เป็น สส.เสียดายคะแนนเปล่าๆ แถมคะแนนที่ลงไปเป็นบัญชีรายชื่อไปรวมแล้วได้ สส.ที่อยู่ภาคอีสาน ภาคกลาง กทม.บางคนยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ

ปรับทัพสู้สุเทพ มั่นใจพื้นที่ภาคใต้เป็นของ ปชป.

ถามถึงพื้นที่ “สุราษฎร์ธานี” ฐานของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว ​นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในสุราษฎร์ฯ ค่อนข้างแน่น เพราะท่านสุเทพทำพรรคไว้แน่นมาก ที่ผ่านมาก็บอกว่าออกจากพรรคไปแล้ว ประชาชนก็ไม่ต้องตามท่านไป

ดังนั้น ​ที่สุดแล้วคนสุราษฎร์ธานีก็ยังยึดติดกับพรรค ​ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่น่าจะแพ้เลือกตั้ง ​และหากดูคะแนนการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าพื้นที่ภาคใต้ ในส่วนของคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคจะสูงกว่าคะแนนของผู้สมัคร

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สุราษฎร์ฯ​ อาจดูมีปัญหาและสุ่มเสี่ยงมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ก็ตาม ก็มีสองพื้นที่ของสุเทพและธานี เทือกสุบรรณ สองเขตที่คิดว่าเราจะต้องไปจัดระบบอะไรกันใหม่

ส่วนเรื่องการหาตัวผู้สมัครมาลงในพื้นที่แข่งนั้น นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์มีคนเข้าแถวต่อคิวยาวรออยู่แล้ว ไม่ใช่ปัญหา จากนี้ก็จะเลือกผู้ที่เหมาะสมและมีโอกาสชนะมากที่สุด

ถามถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิพิฏฐ์​ กล่าวว่า ได้ไปพบกับอดีต สส.มาหมดแล้ว ไม่มีท่านใดประกาศจะไปอยู่กับพรรคอื่นๆ ส่วนที่เป็นกระแสข่าวว่าจะมีการย้ายพรรคตามที่ปรากฏในสื่อก็เป็นเพียงการคาดการณ์ โดยไม่มีการยืนยันว่าจะมีใครไปอยู่พรรคอื่น ​ซึ่งเวลานี้เหลือเพียงแค่ เจะอามิง โตะตาหยง ที่ยังไม่ยืนยันการเป็นสมาชิก แต่ก็ยังไม่ได้สอบถามถึงเหตุผล

ขณะที่กลุ่มวาดะห์นั้น ที่ผ่านมาเลือกตั้งแต่ละครั้งก็แข่งกับประชาธิปัตย์มาตลอดไม่น่ามีปัญหาอะไร ในส่วนของ 3 จังหวัดภาคใต้ 11 ที่นั่ง เลือกตั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้มา 9 ที่นั่ง เสียเพียงแค่ 2 ที่นั่งให้กับพรรคมาตุภูมิและภูมิใจไทยเท่านั้น

“เรากังวลแนวร่วม กปปส.มากกว่าเพราะมีฐานเสียงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ไม่น้อย ​อีกทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษที่ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งไม่เยอะ เพียงแค่หลักพันหรือหลักหมื่น แต่จังหวัดอื่นเราชนะ 5-6 หมื่น ​ถึงจะหายไปเป็นหมื่นไม่ทำให้เราเสียพื้นที่ แต่ 3 จังหวัดเราชนะหลักพันหรือไม่กี่พัน ถ้าแนวร่วมส่วนหนึ่งหันหลังไปอยู่พรรคอื่นจึงเป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่า”

นิพิฏฐ์ อธิบายว่า ในส่วนของพื้นที่ จ.สตูล ที่เคยเสียที่นั่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะนี้มีการพูดคุยกับคนที่ชนะเดิมซึ่งต้องการย้ายมาประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้การเป็นผู้แทนง่ายขึ้นหากมาอยู่กับประชาธิปัตย์ ​ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการดูด ​เพราะ​เดิมเขาอยากอยู่ประชาธิปัตย์ ไม่มีที่ว่าง คราวนี้ก็น่าจะคุยกันได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องใช้เวลา

ในแง่นโยบายที่ผ่านมาอาจถูกโจมตีว่าประชา ธิปัตย์สมัยเป็นรัฐบาลไม่ได้ดูแลพื้นที่ภาคใต้เท่าไหร่นัก นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านมากกว่า​ ซึ่งก็ทำงานตรวจสอบถ่วงดุลเสียงข้างมาก ปกป้องผลประโยชน์ให้คนใต้มาตลอด

อย่างไรก็ตาม การเป็นรัฐบาลช่วงเวลาสั้นๆ แม้จะไม่ยาวเหมือนพรรคอื่น แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจดี สมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล สินค้าราคาเกษตรสูงสุด ซึ่งไม่มีใครทำได้ ทั้ง ยาง ปาล์ม ส่วนที่หลายคนบอกว่าดวงดีก็ว่ากันไป แต่ส่วนเรื่อง อื่นๆ ที่ทำได้ไม่เยอะเพราะเป็นรัฐบาลได้ไม่นาน ​

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เล่าให้ฟังว่า ได้ให้การบ้านอดีต สส.ทุกคนไปทำนโยบายส่วนจังหวัดของตัวเอง ว่าจะทำอะไร สตูล นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา พัทลุง ฯลฯ แต่ละจังหวัดจะมีนโยบายอะไรบ้าง ​เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ​

ยกตัวอย่างเช่น ​บางจังหวัดมีน้ำท่วมทุกปี ชายทะเลมีปัญหา ต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ทำถนน แหล่งท่องเที่ยว ​เลนจักรยาน ​รถไฟจากสุราษฎร์ฯ ไปภูเก็ต ผ่านพังงา ต้องเกิด หรือระบบโมโนเรลที่หาดใหญ่ รถไฟฟ้า ทางยกระดับแก้ปัญหาจราจรที่ภูเก็ต ศูนย์ประชุมแห่งชาติรองรับการสัมมนา ผลักดันการใช้ปาล์มไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า นโยบายแต่ละจังหวัดเหล่านี้ก็จะไปใช้สำหรับบอกรัฐบาลว่าหากเป็นรัฐบาล หรือเป็น สส.ในสภาจะทำอะไรบ้างให้เกิดขึ้นในจังหวัดนั้น

ถามว่าประชาธิปัตย์คาดหวังแค่ไหนกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในส่วนของพื้นที่ภาคใต้​ นิพิฏฐ์​ กล่าวว่า ถ้า สส.ไม่แตกแถวไปอยู่พรรคอื่น เลือกตั้งครั้งนี้เราน่าจะได้มากกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งครั้งที่แล้วภาพรวม 52 ที่นั่ง ได้มา 49 ที่นั่ง เสียไป 3 ที่นั่ง เผลอๆ ครั้งหน้าเราอาจได้หมด