posttoday

กฎหมาย สว.ผ่านฉลุยทุกฝ่ายแฮปปี้ลุยเลือกตั้ง

25 พฤษภาคม 2561

นาทีนี้ โล่งอกกันถ้วนหน้าภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

นาทีนี้ โล่งอกกันถ้วนหน้าภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 พ.ค.

เหตุผลสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าร่างกฎหมาย สว.ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญอยู่ที่การเห็นว่าบทบัญญัติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขใน 3 ประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การให้สมัคร สว.ผ่านองค์กรนิติบุคคล การไม่ใช้ระบบการเลือกไขว้และจัดกลุ่ม สว.เหลือเพียง 10 กลุ่มจากทั้งหมด 20 กลุ่ม อยู่ในบทเฉพาะกาล และมีระยะเวลาบังคับใช้เพียงชั่วคราวเป็นเวลา 5 ปีเท่านั้น จึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตัวเป็นหนังสือ พร้อมแถลงวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 91, 92, 93, 94, 95, 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น ทั้งยังเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” สาระสำคัญของการแถลงจากศาลรัฐธรรมนูญ

นับว่า สนช.พ้นปากเหวไปอีกครั้ง เนื่องจากเดิมที สนช.พยายามจะเอากระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง สว.ที่ตัวเองต้องการนั้นไปใส่ไว้ในบทหลักของกฎหมายไม่ใช่แค่เอาไว้ในบทเฉพาะกาลอย่างที่เห็น แต่เมื่อเสียงกระแสต่อต้านและแรงกดดันจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มากขึ้น จึงต้องยอมถอยหนึ่งก้าวด้วยการนำบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาล มิเช่นนั้นแล้วผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ออกมาในรูปนี้ก็เป็นได้

ลองนึกดูว่าหากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอย่างที่ออกมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค. การเมืองไทยในวันนี้จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าย่อมทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอีกครั้ง เนื่องจากต้องนำกฎหมายให้ สนช.แก้ไข และมีความเป็นไปได้ที่กติกาอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีก ซึ่งจะมีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกสักระยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อศาลตัดสินออกมาแบบนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสุขและสมหวังของทุกฝ่าย

1.พรรคการเมือง ย่อมรู้สึกว่าการเลือกตั้งกำลังเข้าใกล้ไปอีกหนึ่งก้าว พอสัญญาณชัดเจนมากขึ้น พรรค การเมืองจะสามารถกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อลงสนามเลือกตั้งได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ พรรค การเมืองไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเข้าสู่สนามเลือกตั้ง หากต้องกลับเข้ามาสู่อำนาจอีกครั้ง การเมืองที่เคยจะเล่นนอกสภาก็จะกลับเข้ามาในสภาเพื่อสู้กับทหารในสนามที่นักการเมืองและนักเลือกตั้งถนัด

2.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้ด้านหนึ่งจะดูเหมือนว่า เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้วจะทำให้ คสช.ไม่ค่อยยินดีเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.เองก็อยากลงเลือกตั้งไม่แพ้กัน เพราะสถานการณ์ ในตอนนี้ตัวเองได้เปรียบฝ่ายอื่น ทั้งในเรื่องของอำนาจและบารมีทางการเมือง เหลือแต่เพียงเรื่องคะแนนความนิยมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะสามารถซื้อใจประชาชนได้แค่ไหนก่อนถึงวันลงสนาม

คสช.เองก็รู้ถึงโจทย์ข้อนี้ ถึงได้ลงพื้นที่ต่างจังหวัดแบบถี่ยิบทั้งในรูปแบบของการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรและการตรวจราชการ พร้อมกับอัดงบประมาณไทยนิยมและประชารัฐลงไปมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนกับช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ประเคนงบประมาณเพื่อทำโครงการประชานิยมช่วงโค้งสุดท้ายก่อนประกาศวันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ กลุ่มภาคประชาชน ที่เรียกร้องให้การเลือกตั้งก็จะหมดเงื่อนไขในการออกมาชุมนุมกดดัน คสช.ไปอีกระดับหนึ่งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลและ คสช.ได้รับออกซิเจนตาม ที่ตัวเองต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อหาเสียงเลือกตั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกอย่างดูเหมือนจะเดินหน้าก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและมีนัดตัดสินกันในวันที่ 30 พ.ค.

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ที่ สนช.แก้ไขนั้นก็มีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นของการให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งบางฝ่ายมองว่า อาจขัดต่อหลักการที่ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ต้องเป็นการลงคะแนนลับ

ถึงบางฝ่ายรวมไปถึง กรธ.จะเห็นเป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามองไปถึงแนวทางและทิศทางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ สนช.ได้แก้ไขแล้ว จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักในทำนองว่าการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของ สนช.

ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ผลของคำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายน่าจะมีผลออกมาในลักษณะไม่แตกต่างกัน

ประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่เลือกตั้ง เงื่อนไขของการเลื่อนการเลือกตั้งกำลังสลายไปทีละข้อ ทุกฝ่ายตอบรับ เว้นแต่ คสช.จะเกิดเปลี่ยนใจและกลืนน้ำลายลูกผู้ชายขออยู่ในอำนาจต่อไป