posttoday

ชาวบ้านระทม สิ่งแวดล้อมเน่า ทุนจีนทะลัก ปล่อยขยะซุกเขตอีอีซี

23 พฤษภาคม 2561

ชาวบ้าน ต.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบจากโรงงานประกอบกิจการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่หลอมตะกั่ว ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนมาตลอด

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ชาวบ้านในพื้นที่ ต.แปลงยาว อ. แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบมาร่วมปีจากโรงงานประกอบกิจการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง เนื่องจากโรงงานได้หลอมตะกั่ว ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนมาตลอด แม้มีการร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เข้ามาแก้ไข แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า

กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบุกเข้าไปที่โรงงานเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา และดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงาน 8 ข้อหา อาทิ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการโดยไม่รับแจ้ง ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมการปล่อยของเสีย นำคนงานต่างด้าวเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกับส่งเรื่องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมให้ลงนามคำสั่งปิดโรงงานทันที

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 แจ้งผลการตรวจสอบกรณีกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากโรงงานดังกล่าวพบว่า โรงงานแห่งนี้ประกอบกิจการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากประเทศจีนเพื่อนำโลหะมาหลอมใช้ใหม่ ยังพบว่าเตาหลอมแผงวงจร ไม่ได้มาตรฐานอาจกระทบต่อพนักงาน ที่สำคัญสภาพแวดล้อมโรงงานไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ มีการกองชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากไม่อยู่ในอาคารและไม่มีผ้าใบปกคลุม ไม่มีระบบระบายน้ำชะกองวัสดุ กองวัสดุที่ติดกับรั้วอยู่ในระดับสูงจนล้นรั้วสังกะสีทำให้บางส่วนหล่นออกไปนอกรั้ว

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับผล กระทบจากมลพิษทางอากาศและน้ำเสียของโรงงาน เช่น เวียนศีรษะจากกลิ่นเหม็นของเตาจนต้องเข้าโรงพยาบาล เด็กเล็กมีปัญหาผื่นคันที่ผิวหนัง

สมศรี วิเชียรชัย ชาวบ้าน อ. แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา สะท้อนความเดือดร้อนว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องทนกลิ่นเหม็นจากการหลอมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก แถมยังกองพวกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้นอกอาคารโรงงานโดยไม่มีการคลุมอย่างถูกต้อง อีกทั้งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน ซึ่งมีโรงงาน 3 แห่ง ตั้งใกล้เคียงกัน แต่ได้ใบอนุญาตแค่ 1 โรง ที่เหลือ 2 โรงยังไม่ได้ใบอนุญาต ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการให้ทางราชการออกใบอนุญาต เพราะได้รับความเดือดร้อน

สมศรี เล่าว่า เมื่อปีที่แล้ว โรงงานได้ทำข้อตกลงเอ็มโอยูกับชาวบ้านเพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ทำโรงเก็บขยะ และดับกลิ่นเหม็น แต่ปรากฏว่าก็ไม่ยอมทำจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้กังวลมากเพราะชาวบ้านทำนา แต่น้ำเสียก็ไหลลงดินจึงกลัวว่าดินจะเสีย และเกรงว่าจะเจือปนกับพืชที่เราปลูก ที่ผ่านมาร้องเรียนมาตลอด แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า ซึ่งเจ้าของโรงงานเป็นนักลงทุนชาวจีน

ชาวบ้านระทม สิ่งแวดล้อมเน่า ทุนจีนทะลัก ปล่อยขยะซุกเขตอีอีซี

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนี้พบว่า บริษัทบางแห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการโรงงานผิดเจตนารมณ์การจัดตั้งเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 อาจมีการเอื้อประโยชน์ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ส่งผลทำให้มีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลจากประเทศต่างๆ ที่มีศูนย์กลางที่ท่าเรือของเกาะฮ่องกง ขนมารวมกันเพื่อนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเป็นวัตถุดิบ และอาจจะเป็นการประกอบกิจการโรงงานที่ผิดวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับใบอนุญาต ร.ง.105 และ ร.ง.106 ตลอดจนยังพบข้อมูลอีกจะว่าเป็นนักลงทุนชาวจีนที่มาขออนุญาตประกอบกิจการ จึงส่งผลทำให้มีการ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง สิ่งสุดท้ายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการผลิตแล้วกากอุตสาหกรรมอันตรายว่าจะอยู่ในประเทศไทยเต็มไปหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า มีนักลงทุนชาวจีนที่มาขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขต จ.ฉะเชิงเทรา สังเกตได้จากโรงงานประเภท ร.ง.105 และ ร.ง.106 ที่ได้ใบอนุญาตจำนวนมากใน จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 15 ราย แต่มาจากชื่อผู้ขออนุญาตเพียงรายเดียวเท่านั้น โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตรองรับให้กับนักลงทุนชาวจีนจำนวนมาก

"ประเทศจีนออกกฎหมายกำหนดไม่ให้มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็ก ทรอนิกส์ในประเทศ จึงทำให้นักลงทุนชาวจีนต่างหลั่งไหลเข้าประเทศไทย เพื่อขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา ตอนนี้มีนักลงทุนจีนต้องการเปิดโรงงานเหล่านี้จำนวนมากโดยเข้ามาขอใบอนุญาตฯ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม" แหล่งข่าวคนเดิม ระบุ

ขณะเดียวกัน การออกใบอนุญาตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จากเดิมการส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีนี้ จะส่งเสริมใน 10 อุตสาหกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแบบสูงมากขึ้นโดยเฉพาะในเขต จ.ฉะเชิงเทรา จึงส่งผลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์จาก ทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาในไทย ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในประกอบธุรกิจในเขตอีอีซี