posttoday

4 ปีปฏิรูปไม่คืบ เสนอ"บิ๊กตู่"คุมทัพเอง

14 พฤษภาคม 2561

แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปประเทศตามสัญญา "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์" กลับดูท่าจะไปไม่ถึงฝั่ง

แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปประเทศตามสัญญา "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์" กลับดูท่าจะไปไม่ถึงฝั่ง

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทิศทางการปฏิรูปประเทศตามสัญญา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูท่าจะไปไม่ถึงฝั่ง หากอยู่ในสภาพนี้ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ออกโรงมาท้วงติงว่าแม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และตอบไม่ถูกว่า การปฏิรูปจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ในบทถาวร ซึ่งหมายความว่า จะต้องปฏิรูปต่อไป ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ แต่ในความเห็นจริงแล้วเราจะปฏิรูปไปตลอดชาติไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากจะปฏิรูปให้สำเร็จ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำมี 3 อย่าง คือ นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาเล่นเองเหมือนการปฏิรูปกฎหมายในเกาหลีใต้ ที่ประธานาธิบดีมาเป็นประธานนำการรื้อ ยกเลิก หรือทบทวนกฎหมายที่
ล้าหลังจนสำเร็จ พร้อมกับดึงผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำงานจนสามารถรื้อกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ไปได้กว่า 60% ที่ค้างอยู่ในระบบให้หายไปได้ ผลที่ตามมาคือสามารถช่วยลดต้นทุนประชาชนและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ดังนั้น ถ้าประเทศไทยจะ “กิโยตีน” กฎหมาย
ล้าสมัย ต้องทำเหมือนเกาหลีใต้

“ไม่รู้ปฏิรูปจะเสร็จเมื่อไร เพราะกระบวนการไปเรื่อยๆ ที่เห็นชัด คือ ปฏิรูปตำรวจ ข้อเสนอที่ออกมาไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจจึงสั่งให้ทำใหม่ โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ที่ต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้งและเป็นแนวทางที่ปฏิรูปจริงๆ”

แนวทางที่สอง คือ การปฏิรูปต้องเอาผู้ถูกปฏิรูปหรือกลไกราชการทั้ง 20 กระทรวง ออกไปเป็นแค่ผู้มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ให้ความเห็น ไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทาง เพราะที่ผ่านมาไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปใดๆ เพราะไม่มีทางที่ผู้ถูกปฏิรูปจะบอกว่าตัวเองไม่ดี ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน เสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานทางเลือก แต่กระทรวงพลังงาน กลับไม่สนองตอบและคัดค้านเสียด้วยซ้ำ เพราะยังต้องการดำเนินนโยบายแบบเดิมๆ ในเรื่องพลังงานฟอสซิล หรือจะปฏิรูปความเป็นธรรมด้านภาษี ควรให้กรมสรรพากรเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วม เพราะไม่มีหน่วยราชการใดจะบอกว่ากฎหมายตัวเองไม่ดี หรือไม่มีหน่วยงานใดอยากลดอำนาจตัวเอง นี่จึงเป็นเหมือนคอขวดในการเดินหน้าปฏิรูปให้สำเร็จ

และสาม คือ คณะกรรมการปฏิรูปทุกชุดต้องสามารถเสนอกฎหมายเองต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ดังนั้น จึงเตรียมเสนอให้มีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ ที่จะทำให้คณะปฏิรูปทั้ง 10 คณะ สามารถเสนอกฎหมายได้ พร้อมกับเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในทุกขั้นตอน เช่น ในชั้นกรรมาธิการรัฐสภา

“หลักการปฏิรูปกฎหมาย คือ ทำกฎหมายที่ดี มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย ซึ่งวันนี้แม่งานหลักมี 3 หน่วย คือ คณะปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งต่อไปการทำกฎหมาย ตั้งแต่เริ่มกระบวนการต้องทำตามมาตรา 77 มีการรับฟังความเห็น ประเมินผลกระทบก่อนและหลังอย่างครอบคลุมรอบด้าน” บวรศักดิ์ กล่าว

คณะปฏิรูปกฎหมายเร่งคลอดกฎหมายระยะเร่งด่วน เน้นกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมแก่คนด้อยโอกาสในสังคม เช่น กฎหมายขายฝาก หรือกฎหมายป่าชุมชน โดยกรมป่าไม้เห็นด้วยและเป็นผู้ร่วมผลักดันร่วมกับภาคประชาชนซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยยึดหลัก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงกฎหมายรัฐวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

ดังนั้น กฎหมายที่คณะปฏิรูปเสนอในการผลักดัน หรือตัดสินใจต่างต้องให้ตัวแทนคณะปฏิรูปทุกคณะเข้าไปมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ เพราะหากไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกฎหมายดีๆ ที่เสนอไปจะวนเวียนอยู่แต่ในระบบราชการ เช่น ร่างกฎหมายการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ที่คณะปฏิรูปกฎหมายเสนอไป ทางสภากลับยังไม่เห็นชอบกลับดองแช่อยู่อย่างนั้น แม้จะผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาแล้ว

จึงเป็นที่มาที่นายกรัฐมนตรีตั้ง กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำวาระเร่งด่วนที่ต้องการทำเร็วให้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง โดยกำหนดคณะละ 3 เรื่อง ทั้งหมด 10 คณะ รวม 30 เรื่อง ซึ่งต้องทำให้เห็นเป็นผลงานปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับคะแนนนิยมรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ ในอนาคต