posttoday

มันแค่วิกฤตของความกลัว สถานศึกษาจะไม่มีทางปิดตัว

08 พฤษภาคม 2561

"ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เยอะกำลังตื่นกลัวกับอนาคต แต่เราไม่เคยถามเด็กเลยว่าพวกเขากลัวด้วยหรือไม่ เด็กทุกวันนี้ไม่ได้คิดเหมือนกับผู้ใหญ่แล้ว"

"ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เยอะกำลังตื่นกลัวกับอนาคต แต่เราไม่เคยถามเด็กเลยว่าพวกเขากลัวด้วยหรือไม่ เด็กทุกวันนี้ไม่ได้คิดเหมือนกับผู้ใหญ่แล้ว"

*************************

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ท่ามกลางความกังวลว่าอุดมศึกษาไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงวิกฤต ผลจากอัตราการเกิดที่น้อย แม้แต่การปิดตัวของบางมหาวิทยาลัย และการยุบบางคณะวิชาเพราะไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน

บนความก้าวย่างของความกังวล มหาวิทยาลัยเอกชนยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถูกตอบอย่างกระจ่างผ่าน ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งมองสิ่งที่ถูกเรียกว่าวิกฤต เป็นแค่ความตื่นกลัวเท่านั้น

ทิพรัตน์ ขยายความว่า ข่าวคราวที่ว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปิดตัวไปแล้ว 500 แห่ง ขณะที่มหาวิทยาลัยในไทยก็ทยอยปิดตัวไปนั้น เป็นความวิกฤตของความตื่นกลัวเท่านั้น แต่หากมองให้เป็นปกติ ก็จะเห็นภาพของมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เป็นสถานที่เรียนรู้ ซึ่งเรามีมาแต่โบราณกาล แน่นอนว่าในวันข้างหน้าจะต้องมีอยู่ สถานเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ที่ต้องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แล้วเช่นนี้จะวิกฤตไปได้อย่างไร

“หากเราไปตีกรอบว่ามหาวิทยาลัยจะปิดตัว แสดงว่าเรากำลังดูเพียงโครงสร้างเท่านั้น แต่หากมองในเนื้อหาลึกๆ แล้ว สถานศึกษาไม่มีคำว่าวิกฤตหรอก นี่คือมุมมองของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คำว่าวิกฤต เราไปโยงกับคำว่าเด็กเกิดน้อยลง เข้าเรียนน้อย ก็ไม่แปลก เพราะจริงๆ แล้วสถานศึกษาขอให้มีคนเข้าเรียน และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเด็กเสมอไป เพราะคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต นี่คืออนาคตที่เราต้องเห็นภาพ แม้แต่คนที่เรียนจบแล้วยังต้องเรียนรู้ต่อไปอีก”

สิ่งที่ทำให้ ทิพรัตน์ ในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยกรุงเทพมองเช่นนี้ ก็เพราะทุกวันนี้หากมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สถานศึกษาต่างๆ ไม่เลือกวัยของกลุ่มคน หรือวัยที่อยากจะเรียนรู้ สถานเรียนรู้ก็ไม่อาจจะปิดตัวลงได้ เพราะหลักคิดของสถานศึกษาจะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อแสวงหาความอยู่รอดร่วมกันในอนาคต

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ความกลัวของผู้ใหญ่ยังมีผลต่อเด็กอยู่ไม่น้อย

“ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เยอะกำลังตื่นกลัวกับอนาคต แต่เราไม่เคยถามเด็กเลยว่าพวกเขากลัวด้วยหรือไม่ เด็กทุกวันนี้ไม่ได้คิดเหมือนกับผู้ใหญ่แล้ว เขาไม่ได้มองว่าอนาคตน่ากลัว ผู้ใหญ่กำลังใส่ความกลัวให้กับเด็กตามมุมมองของผู้ใหญ่ แต่เด็กเกิดมาเพื่อโลกยุคอนาคต เราอย่าลืมตรงนี้”

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เสริมว่า ความกลัวของผู้ใหญ่นั้นสะท้อนได้จาก หากเด็กตัดสินใจว่าจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ผู้ใหญ่รอบข้างจะรีบห้ามทันที แต่ผลลัพธ์ที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็คือเด็กก็เรียนได้ จบออกมาก็มีอาชีพ เด็กมีความกล้าที่จะมาเรียน แต่ทำไมผู้ใหญ่ต้องใส่ความกลัวให้กับเด็ก นั่นเป็นเพราะสังคมไทยมีกรอบของผู้ใหญ่ที่ตีไว้ให้กับเด็กๆ ทั้งๆ ที่เด็กไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกับเราแล้ว

“อาจารย์ใน ม.กรุงเทพ ตกลงกันว่า ใน 1 วันที่ทำงานจะต้องคุยกับเด็กให้ได้ถึง 80% เพื่อทำให้มุมมองของผู้ใหญ่เปลี่ยนไป มันทำให้เราสรุปออกมาได้ว่า ที่มันเกิดวิกฤตอุดมศึกษาในขณะนี้เป็นเพราะผู้ใหญ่ใช้ประสบการณ์ตัวเองจนเกินเหตุ คือเราหวังดีกับเด็ก กลัวว่าเด็กไม่มีอาชีพ ไม่มีอนาคต แต่เราเคยถามเด็กหรือยังว่าเขากลัวหรือไม่

“เด็ก ม.กรุงเทพ เราก็ถามเขา คำตอบที่ได้มาคือ อะไรคือตกงานคะอาจารย์ อะไรคือไม่มีอาชีพ เพราะทุกวันนี้เด็กๆ มีรายได้ขณะเรียน อย่างนี้เรียกอาชีพได้หรือไม่ เขาพิสูจน์ตัวเองได้ ถึงแม้ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ก็ยังหาเงินได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ดังนั้น นิยามอาชีพของผู้ใหญ่ที่ให้ความหมายคือ จบไปต้องไปสมัครงานในตลาดงานใช่หรือไม่ หรือเราต้องการทักษะการทำมาหากินกันแน่”ทิพรัตน์ ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนกับสังคมในสายพานของอาชีพแต่ละแขนงนั้น อาจารย์ผู้นี้มองต่างมุม เพราะตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการคนที่เก่ง และสามารถทำงานได้หลากหลายมากกว่าเดิม และมหาวิทยาลัยเอาแต่พร่ำบอกว่าจบไปให้ไปสมัครงาน เมื่อเด็กไปสมัครงานก็ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด แต่หากเปลี่ยนมุมไม่ต้องบอกให้เขาไปสมัครงาน แต่ฝึกและสอนและเสริมเขาในฐานะ “โค้ช” ไม่ใช่ “อาจารย์” ที่เมื่อจบออกไปแล้วต้องพึ่งพาตัวเองได้ เขาจะไม่สนใจตลาดงาน และสามารถสร้างอาชีพของตัวเองขึ้นมาได้เช่นกัน

“ในอนาคตไม่มีงานแบบไหนที่มั่นคงหรอก ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่ต้องไปกังวลแทนเด็กในยุคนี้เลย เพราะเขากำลังจะพาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เราไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้แล้ว ต้องรอเด็กยุคนี้พาสังคมให้ดียิ่งขึ้น”

ท้ายสุด แม้ภายนอกจะมองว่าอุดมศึกษากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤต แต่ ทิพรัตน์ ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพและคณะอาจารย์ยังคงต้องหนักแน่น และเชื่อมั่นในแนวทางการสอนของตัวเองที่เปรียบอาจารย์คือโค้ช และนักศึกษาคือผู้เล่นที่ต้องฝึกฝนก่อนส่งสู่สนามชีวิตจริงๆ ในอนาคต และสิ่งสำคัญคือเด็กที่จบออกไปจะต้องไม่ไปเป็นภาระของพ่อแม่ เด็กต้องยืนได้ด้วยตัวเอง หากทำไม่สำเร็จ นั่นคือวิกฤตของอุดมศึกษาอย่างแท้จริง

“มหาวิทยาลัยกรุงเทพจะไม่ปิดตัวอย่างแน่นอน ตราบใดที่ยังมีคนมาให้สอน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน เราไม่ได้นั่งเฉยๆ มหาวิทยาลัยจะปิดตัวลงไปได้อย่างไร และหากวันใดไม่มีใครมาเรียนแล้ว นั่นสิ ถึงจะวิกฤตอย่างแท้จริง” ทิพรัตน์ ทิ้งท้าย