posttoday

ลงทุนออนไลน์ รวยลัด ระวังสารพัดกูรูเทียม

28 เมษายน 2561

การหลอกลวงมีหลากหลายรูปแบบไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องหลอกลงทุนหุ้น หรือหลอกรับสอนการลงทุน แต่ยังมีเรื่องแชร์ลูกโซ่ ลงทุนทองคำ สร้างเรื่องราวให้น่าเชื่อถือ

การหลอกลวงมีหลากหลายรูปแบบไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องหลอกลงทุนหุ้น หรือหลอกรับสอนการลงทุน แต่ยังมีเรื่องแชร์ลูกโซ่ ลงทุนทองคำ สร้างเรื่องราวให้น่าเชื่อถือ

***********************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู การเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียง่ายดาย แต่ก็แฝงอันตรายที่แยบยลไว้สารพัดวิธี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความร่ำรวยตั้งแต่อายุยังน้อย การลงทุนในตลาดหุ้น การฝากเทรด Forex ตลาดเงินดิจิทัลต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีและรวดเร็วจึงเป็นความหวัง

ไม่ต่างจากกรณีของ เอ็ม-ชัยชนะ ศิริชาติ วัย 25 ปี ผู้ต้องหาที่ซ้อมและทรมานแฟนสาว หลอกลวงเหยื่อร่วมลงทุนผ่านสื่อออนไลน์ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ตั้งตัวเป็นกูรู “เอ็ม” ทำแอดมินเพจ Global Fx Investment สอนการลงทุนฟอเร็กซ์ (Forex) ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสกุลเงิน มีคนหนุุ่มสาวสมัครเรียนกว่า 500 คน ค่าเรียนคนละ 1.5 หมื่นบาท สุดท้ายเหยื่อเหล่านี้ถูก เอ็มชัยชนะหลอกรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 6 ล้านบาท

พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ขยายประเด็นเรื่องดังกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทุกวงการมีหลายคนตั้งตัวเป็นกูรู ทั้งของจริงและของเก๊ ซึ่งปัญหาเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์

“สมัยก่อนจะซื้อของต้องเข้าไปร้านค้าที่น่าเชื่อถือ แต่พอขยับมาเป็นแบบออนไลน์สังเกตยากขึ้นระดับหนึ่ง เห็นว่าเว็บไซต์สวย เฟซบุ๊กสวย แต่ไม่รู้ของจริงเป็นอย่างไร ทั้งหมดต้องอาศัยการอ่าน ซักถามมากขึ้น หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขถือว่าอันตราย” พิเชษฐ ระบุ

พิเชษฐ ยังแนะนำนักลงทุนมือใหม่ว่า เมื่อตัดสินใจลงทุนควรดูข้อมูลจากบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง ภายใต้การกำกับของตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร ฯลฯ ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลถูกต้องเป็นทางการอยู่แล้ว ลักษณะนี้จะปลอดภัยกว่า เพราะหากมีการแนะนำสิ่งใดผิดสามารถร้องเรียนได้ เช่น ธนาคารให้ข้อมูลผิดพลาด ก็สามารถร้องเรียนธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ก็ร้องเรียน ก.ล.ต.จึงเป็นตัวช่วยว่า นอกจากจะดูข้อมูลดีหรือไม่ดีแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานที่ช่วยผู้ลงทุนได้

พิเชษฐ กล่าวอีกว่า ประชาชนทุกคนอยากเรียนรู้เรื่องลงทุน เพียงแต่ว่าต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง ยอมรับว่าในโลกออนไลน์มีคนตั้งใจดีและจริงก็มี แต่ก็มั่วเยอะต้องระวัง ทุกคนต้องป้องกันกระเป๋าเงินตัวเอง ไม่ใช่เห็นเพียงคำเชิญชวน คำโฆษณาสวยหรูแล้วไปลงทุนหรือไปเรียน ที่สำคัญกว่านั้นและดูแย่มากคือ คนส่วนใหญ่เห็นผลตอบแทนหรือกำไรดียิ่งกระโจนเข้าไปลงทุน แต่หารู้ไม่ว่ามันคือความเสี่ยง ส่วนนี้หลายคนยังไม่ได้มองว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งตามที่ ก.ล.ต.ระบุไว้ถือเป็นเรื่องจริง แต่ผู้ลงทุนไม่น้อยเมื่อเห็นผลตอบแทนดีแล้วรีบลงทุนโดยไม่ดูความเสี่ยง แบบนี้อันตราย

“เหมือนการโฆษณาเทรด Forex บอกว่าได้ผลตอบแทนดี จึงไปกระตุ้นความโลภคน ทำให้หลายคนคิดว่าเมื่อเรียนกับกูรูคนนี้แล้วต้องเก่งและต้องหาเงินได้เหมือนกับกูรูที่สอนแน่นอน ที่ไหนได้ ความจริงผลลัพธ์อาจเป็นสูญ และเสียเงินไปฟรีๆ น่ากลัวมาก”

สาเหตุที่มิจฉาชีพหลายคนเลือกช่องทางออนไลน์ฉ้อโกง หลอกลวงประชาชน พิเชษฐให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะเรื่องความสะดวก ยิ่งสมัยนี้มีเฟซบุ๊ก สื่อโซเชียลต่างๆ ทำให้สามารถปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาโกหกคนได้ง่าย แค่เขียนเว็บไซต์ เฟซบุ๊กสวยๆ เป็น หลายคนจึงคิดหารายได้จากตรงนี้ รวมถึงการติดตามตัวคนผิดบนโลกออนไลน์อาจยากลำบาก ที่ผ่านมามีคดีเกิดขึ้นมากมายในสังคมแต่ตามคนผิดไม่ได้ เมื่อคนจะโกงก็หาช่องทางจนได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ บล.บัวหลวง ที่มีการสอนหลักสูตรลงทุนเรียนแบบออนไลน์ ออฟไลน์ มีทุกรูปแบบ โดยกลุ่มเรียนมีตั้งแต่วัยรุ่นยันผู้สูงอายุ ลักษณะการเรียน เช่น เรียนพื้นฐานลงทุน เรียนดูกราฟ เรียนวิธีใช้เครื่อง ฯลฯ ที่สำคัญหากจะมีการลงทุนจริงต้องศึกษาให้เข้าถ่องแท้จริงจัง แต่ก็มีหลายคนอยากรวยเร็วรวบรัดจึงเป็นปัญหา สำคัญที่สุดของการขาดความรู้แต่มุ่งหวังเรื่องกำไรมากกว่าความเสี่ยง

สอดคล้องกับข้อมูลฝั่งตำรวจ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก ขยายภาพอาชญากรรมรูปแบบนี้ว่า หัวใจกลโกงหลักของอาชญากรรมรูปแบบนี้คือ “การให้เหยื่อโอนเงินให้ก่อน” จากนั้นจะปิดช่องทางการสื่อสารทุกอย่าง เช่นจากเคยไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว จะปิดหลบหนีไป บางครั้งมีการเปิดแอ็กเคานต์บัญชีใหม่หลอกลวงเหยื่อรายอื่นๆ ให้หลงเชื่อ

“ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากเข้าแจ้งความกับตำรวจ บก.ปอท.เกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุนผ่านสื่อออนไลน์จำนวนมาก ลักษณะแบบนี้ประชาชนต้องระมัดระวังให้มาก และหลากหลายรูปแบบไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องหลอกลงทุนหุ้น หรือหลอกรับสอนการลงทุน แต่ยังมีเรื่องแชร์ลูกโซ่ ลงทุนทองคำ สร้างเรื่องราวให้น่าเชื่อถือหวังให้เหยื่อตายใจมาร่วมลงทุน ที่สำคัญรูปแบบการหลอกลวงถูกพัฒนาอยู่ตลอด”

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ แนะนำวิธีดูกลโกงว่า ถ้าเห็นว่าการลงทุนมีผลตอบแทนมากผิดปกติ ส่วนใหญ่จะได้ช่วงแรกๆ แต่ช่วงหลังๆ จะหายไปลักษณะเหมือนงูกินหาง นโยบายการทำงานของมิจฉาชีพเหล่านี้จะคิดใหม่ทำใหม่หากลโกงสารพัดพัฒนารูปแบบอยู่ตลอดเวลาเพื่อไปสู่เป้าหมายหลักคือ เงินในกระเป๋า ดังนั้น ต้องดูบุคคลหรือสถาบันการสอนให้รอบด้านรัดกุม มีมาตรฐานรองรับน่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการถูกหลอกไม่ให้เสียเงิน