posttoday

ปฏิรูปปราบทุจริต มุ่งเด็ดหัว "ข้าราชการโกง"

18 เมษายน 2561

ส่องแผนปฏิรูป 5 ปี 4 ด้านของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ส่องแผนปฏิรูป 5 ปี 4 ด้านของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

********************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยนานนับหลายสิบปี โดยปัญหา อยู่ในลักษณะซับซ้อนและทับซ้อนหลายปัญหา แต่ละปัญหาล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกันและกัน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดทำแผนปฏิรูปมีประเด็น 4 ด้าน ระยะเวลา 5 ปี ดังนี้

ด้านที่ 1 การป้องกันและเฝ้าระวัง เร่งผลักดันให้มีกฎหมายรองรับการรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบ ภายใน 2 ปี คือ ปรับปรุงระเบียบการรักษาความลับของทางราชการให้คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส การทุจริต และปรับปรุงระเบียบการบริหารงานบุคคลในภาครัฐ ให้คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันรังเกียจการทุจริต และมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตด้วยการชี้เบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำความผิด การสร้างลักษณะนิสัยไม่โกงและไม่ยอมให้ผู้ใดโกง เพื่อต่อต้านการทุจริตฯ โดยเริ่มจากเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง และเสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณดำเนินการ 6,310 ล้านบาท จากงบประมาณปกติ และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งปีละไม่น้อยกว่า 5% ของงบประมาณของท้องถิ่น

ด้านที่ 2 การป้องปราม เน้นให้มีการลดการใช้ดุลพินิจเจ้าพนักงานของรัฐในการใช้อำนาจรัฐที่ได้รับมอบ ให้ส่วนราชการต้องมีการกำหนดมาตรการลดการใช้ดุลพินิจเจ้าพนักงานของรัฐในสังกัด ด้วยการปรับปรุงกรอบแนวทางการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอยู่เสมอ และประกาศให้ประชาชนทราบ ผ่านสื่อสาธารณะ ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะภายใน 2 ปี ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องร้องขอ (ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 59,253) ให้มีการแสดงฐานะทางการเงินของเจ้าพนักงานของรัฐที่เปิดเผย ตรวจสอบได้ และให้มีมาตรการที่เป็นไปได้ในการสืบหาและกำกับดูแลการเคลื่อนย้าย ข้ามพรมแดนของตน ซึ่งเงินสดและตราสารเปลี่ยนมือได้ พร้อมกับการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิม คือ ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนและรางวัลจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ และปรับปรุงกฎหมาย เพื่อยกเลิกการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาตให้เหลือเท่าที่จำเป็น ในส่วนที่ดำเนินการต่อไปให้พัฒนาเป็นการยื่นด้วยระบบออนไลน์ งบประมาณดำเนินการ 520 ล้านบาท

ด้านที่ 3 การปราบปราม ผลักดันให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินมาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง เช่น กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐละเลย ละเว้น รู้เห็นเป็นใจ หรือมีสถานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในกรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่โดยแจ้งให้ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนใช้อำนาจทางปกครอง (ย้าย/พักราชการ/พ้นจากราชการ) ทันที และให้มีกฎหมายว่าด้วยวินัยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และบุคลากรในองค์กร อิสระ รวมถึงองค์กรตุลากร และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และจัดทำกฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม จัดทำกฎหมายว่าด้วยการยักยอก การเบียดบัง หรือการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินคืนจากการทุจริต อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ จัดทำกฎหมายว่าด้วยการเรี่ยไร การรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จัดทำกฎหมายว่าด้วยการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในคดีการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณดำเนินการ 1,180 ล้านบาท

ด้านที่ 4 การบริหารจัดการ คือ ปรับปรุงกลไกการประสานการบริหารกับส่วนประสานการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยจัดตั้งสถาบันการสร้างเสริมสมรรถนะด้านการป้องกันและปราบปราม การทุจริต และปรับปรุงกฎหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการ ต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ในทุกระดับ งบประมาณดำเนินการ 250 ล้านบาท