posttoday

รัฐต้องพัฒนา รร.ให้มีคุณภาพเท่ากัน ทางออกหรือฝัน ถ้าเลิกสอบเข้า ป.1

03 เมษายน 2561

ผลการสอบเข้า ป.1 โรงเรียนสาธิตชื่อดัง 3 แห่งใน กทม.ที่เชื่อว่ามีระบบการสอนที่ดี ประกาศออกมาเรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ผลการสอบเข้า ป.1 โรงเรียนสาธิตชื่อดัง 3 แห่งใน กทม.ที่เชื่อว่ามีระบบการสอนที่ดี ประกาศออกมาเรียบร้อยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จำนวนเด็กที่สมหวังมีเพียง 300 กว่าคน ผิดหวังถึง 8,000 คน เพราะโรงเรียนรับได้จำกัด ทว่าสิ่งที่ตามมานอกจากความผิดหวังของผู้ปกครองแล้ว เด็กจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากความเครียดที่ต้องติวสอบโรงเรียนกวดวิชาดังเป็นเวลาหลายเดือน

เกิดคำถามตามมา หลังจากที่คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา ชงทางออกปรากฏในร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัย กำหนดไม่ให้โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศสอบคัดเลือกเจ้าหนูอนุบาล 3 สอบแข่งขันเรียนต่อในชั้น ป.1 เพราะต้องการลดความเครียดที่ไม่ควรก่อเกิดขึ้นกับเด็กในวัย 5-6 ขวบ ซึ่งถ้าไม่ให้มีการสอบแล้ว การคัดเลือกเด็กควรเป็นในรูปแบบใด

ต้องไม่ลืมว่ามาตรฐานของโรงเรียนชั้นประถมศึกษาของประเทศไทย มัน ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน หรือแม้แต่ใกล้เคียงกัน

"ครูหยุย" หรือ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สะท้อนว่า ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับโรงเรียนอนุบาลหลากหลายแห่งตลอดเวลากว่า 7 เดือน หลักคิดการห้ามสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเดินมาถูกทางแล้ว

"ทุกวันนี้เราเร่งเด็กจนเกินไป เร่งให้เกิดการแข่งขันกันมากเกินจำเป็น พัฒนาการของเด็กปฐมวัยที่ถูกต้องก็ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันความ พร้อมของโรงเรียนอนุบาลที่ปลูกฝังเด็กให้เกิดการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจก็ทำได้ถูกต้อง แต่ต้องมาตกขบวนกับสนามสอบ เพราะเด็กเหล่านี้จะไปสู้เด็กที่ไปติวหนังสือเพื่อเข้าสอบ ป.1 ไม่ได้เลย"

ครูหยุย ให้ทางออกว่า หากเลิกสอบแข่งขัน ป.1 ก็ให้นำหลักเกณฑ์การคัดกรอง ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก ทั้งสายตา กล้ามเนื้อ ความพร้อมทางจิตใจ จินตนาการ เราเอาตรงนี้มาใช้เสียก็จะดีกว่าให้เด็กมาสู่การทำโจทย์ปัญหาเพื่อแข่งขันกันเข้าเรียน

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการด้านนโยบายการศึกษาต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในต่างประเทศจะเน้นในเรื่องทักษะสำคัญของเด็กรวม 4 ด้าน คือ 1.ทักษะการดูแลตนเองได้ เช่น เด็กรู้จักการล้างมือ ใส่เสื้อผ้าได้เอง 2.ทักษะด้านภาษา หมายถึงเด็กสามารถรู้จักชื่อตนเอง สามารถตั้งคำถามง่ายๆ ได้ มีทักษะการสื่อสารที่ดีเหมาะสมกับวัย  3.ทักษะการเคลื่อนไหวทางร่างกาย และ 4.ทักษะด้านการคิด คือ การรู้จักหนังสือ การนับเลขต่างๆ

"ประเทศไทยมาเน้นทักษะในข้อที่ 4 คือทักษะด้านการคิดมากจนเกินไป จึงนำไปสู่การทดสอบเด็กด้านสติปัญญามากกว่าด้านอื่นๆ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงหรือการคัดเลือกเด็ก เราต้องรักษาสมดุลในทุกทักษะทั้ง 4 ด้าน ไม่ใช่พุ่งเป้าไปที่ทักษะการคิดเพียงอย่างเดียว"

ธันว์ธิดา เสริมอีกว่า ข้อมูลในปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่า การทดสอบเด็กหรือการประเมินเด็กมีผลที่ไม่ดีกับเด็กอย่างมาก พัฒนาการก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะเด็กมีแต่ข้อมูลการคิดจึงทำให้เกิดความเครียด และเด็กปฐมวัยควรจะต้องถูกพัฒนาผ่านการเล่น หรือ Play and Learn มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ธันว์ธิดาฉายภาพข้อกังวลของผู้ปกครองที่ต้องพยายามผลักดันลูกหลานให้อยู่ในโรงเรียนดีๆ เป็นเพราะมาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมาก หากรัฐบาลต้องการแก้ไขในระยะยาว ก็ต้องพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ก็จะช่วยลดการดิ้นรนเข้าโรงเรียนดังๆ หรือที่คิดว่าดีๆ ทั้งจากเด็กและผู้ปกครองได้

ขณะที่อีกเสียงจาก นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล นักวิชาการจากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยพูดถึงการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย อธิบายถึงการสอบหรือไม่สอบในเด็กปฐมวัยว่า เด็กปฐมวัยมีอย่างอื่นที่ควรจะได้รับการฝึกหรือเพิ่มทักษะมากกว่าการอ่านออกเขียนได้ที่เรากำลังเร่งให้เด็กอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่าหากไม่มีการสอบแข่งขันสำหรับเด็กวัยนี้ ก็จะช่วยลดความเครียดของเด็กและผู้ปกครองลงไปได้ ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาสำหรับบ้านเรายังคงมีความเหลื่อมล้ำ และยังคงไม่มีการพูดถึงมากนัก

"หากไม่สอบก็ต้องปรับคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหากคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กดี การคัดเด็กเข้าเรียนก็ไม่มีความสำคัญ ไม่ต้องมาแย่งกันเข้าเรียนในโรงเรียนที่จำกัดจำนวน"

นวลจันทร์ เสริมอีกว่า หากการสอบแข่งขันไม่มีแล้ว เราจะประเมินเด็กได้ด้วยการดูพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก โดยเฉพาะทักษะการคิด เด็กสามารถเข้าใจตัวเอง รู้ว่าสิ่งใดชอบสิ่งใดไม่ชอบ หรือรู้ว่าอยากทำอะไรและเด็กสามารถหาวิธีการทำออกมาให้ได้ เหล่านี้เป็นความสามารถที่ไม่ใช่เรื่องวิชาการ หรือเชาว์ปัญญาที่วัดค่ากันได้ แต่เป็นการคิดกำกับตัวเอง ซึ่งเหมาะสมกับสมองและการพัฒนาของเด็กในวัย 0-8 ปี

"การที่เราไปตัดสินเด็กด้วยการอ่านออกเขียนได้ ต้องรู้กันว่าเด็กทุกคน ไม่ได้ทำได้ในอายุเดียวกันทั้งหมด เด็กแต่ละคนมีความช้าเร็วที่แตกต่างกัน และการอ่านออกเขียนได้ไม่ได้ส่งผลว่า อนาคตเด็กจะประสบความสำเร็จเมื่อเขาโตขึ้น หากแต่เด็กสามารถกำกับ ตัวเองได้ ควบคุมความคิดตัวเองได้ รู้ว่า เมื่อไหร่ควรทำอะไรบ้าง สิ่งนี้ต่างหากจะสัมพันธ์กับความสำเร็จของอนาคตเด็ก" นวลจันทร์ กล่าว