posttoday

"คสช.ออกไป...ทุกอย่างจบ สร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม" รังสิมันต์ โรม

01 เมษายน 2561

ทำไมเราไม่เอาความรู้สึกว่าที่เราอยากเห็นประเทศของเราเป็นแบบนี้มาทำให้เกิดขึ้นจริง ผมเลือกแล้ว ผมขอสู้เพื่อประเทศชาติ

“ทำไมเราไม่เอาความรู้สึกว่าที่เราอยากเห็นประเทศของเราเป็นแบบนี้มาทำให้เกิดขึ้นจริง ผมเลือกแล้ว ผมขอสู้เพื่อประเทศชาติ เราชอบไหมละกับระบบอุปถัมภ์ เราชอบไหมกับการทุจริต เราชอบไหมกับการที่นักการเมืองโชว์ความกร่างในสภา ถ้าเราไม่ชอบ ทำไมเราไม่เปลี่ยน”

*********************** 

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ภายใต้การควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกท้าทายอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มประชาชนในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”

เหตุที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกำลังมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลังในการขับเคลื่อนเริ่มมีมากขึ้นอย่างเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากการที่สามารถเคลื่อนการชุมนุมไปยังบริเวณกองบัญชาการกองทัพบกซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สื่อความหมายในทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

ในจังหวะนี้ “โพสต์ทูเดย์” ได้มีโอกาสสนทนากับ “รังสิมันต์ โรม” หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถึงทิศทางและการต่อสู้ในอนาคต รวมไปถึงเป้าหมายชีวิตส่วนตัว

“เป้าหมายใหญ่ของเราก็เป็นไปตามชื่อเลย คือต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ภายใต้บรรยากาศที่โปร่งใสและเป็นอิสระ ลองจินตนาการดูว่านักการเมืองไปหาเสียง ข้อเสนอของการไปหาเสียงไปกระทบต่อผลประโยชน์ของกองทัพหรือ คสช. ถ้าเกิดเรายังสร้างบรรยากาศให้อยู่ในความกลัว เหมือนกับกำลังปรากฏอยู่ในตอนนี้ การพูดในเรื่องแบบนั้นเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้เลย”

รังสิมันต์ ยืนยันว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มทำได้ง่าย ถ้าสมาชิก คสช.ทุกคนลาออก คสช.จะหายไปทันที ไม่สามารถแต่งตั้งใครใหม่ได้ ทุกอย่างจบ ถ้าจะมีเรื่องยากก็คือจุดยืนของกองทัพและ คสช.ที่มีลักษณะไม่ยอมถอย

“คสช.พยายามใส่ร้ายพวกเราว่าการที่พวกเราออกมา เดี๋ยวสังคมไทยจะไม่สงบสุข พยายามเอาฝันร้ายของคนไทยเหล่านี้มาใส่ให้คนไทยกลัว แต่จริงๆ แล้วที่เราออกมา เพราะ คสช.ผิดสัญญา คสช.เคยสัญญาไว้ว่าจะให้มีการเลือกตั้งเดือน พ.ย. แต่ก็ไม่มี”

แกนนำหนุ่มรายนี้มองสถานการณ์ว่า “กองทัพไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับ คสช. กองทัพเป็นสถาบันที่มีมาก่อน คสช. แล้ว คสช.คืออดีตทหารที่เกษียณอายุจากการทำงานในกองทัพ ยังไงก็ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน ท่านสามารถแยกออกมาได้ ท่านสามารถยืนเคียงข้างประชาชนได้เหมือนในอดีต”

“การที่ คสช.อยู่แบบนี้ต่อไปมันไม่ดีต่อกองทัพด้วยซ้ำไป เพราะทำให้กองทัพเสียชื่อ ถึงที่สุดแล้วเมื่อพูดแบบสัจธรรม ประวัติศาสตร์สอนเราเยอะ พวกที่สนับสนุนระบบแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันจบไม่สวยหรอก เราเองก็ไม่อยากเห็นลูกหลานคนไทยที่อยู่ในกองทัพต้องได้รับความขมขื่นจากสิ่งที่คนเป็นรุ่นพี่ทำ”

“สุดท้ายเราต้องยอมรับว่าถ้ากองทัพยังเลือกจุดยืนแบบนี้ ก็คือการเอาสถาบันกองทัพไปสูญเสียชื่อเสียงแน่นอน แล้วเป็นการทำลายกองทัพอย่างที่ไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นรู้ตัวหรือไม่”

 

"คสช.ออกไป...ทุกอย่างจบ สร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม" รังสิมันต์ โรม

ท่ามกลางสนามของการต่อสู้นั้น “โรม” ยอมรับว่ามีบางช่วงที่ท้อเหมือนกัน

“มันก็มีบ้างนะ เราทำทั้งหมดเพราะเราหวังดีกับประเทศชาติ แต่สิ่งที่เราได้รับคือคดีความ ผมมี 7 คดี ถ้าศาลลงโทษผมสูงสุด ผมจะต้องโทษ 32 ปี มีนักศึกษากฎหมายกี่คนที่เพิ่งเรียนจบได้ไม่กี่ปี แล้วเจอคดีแบบนี้”

“มันอาจจะมีบ้างในเรื่องท้อ แต่เราต้องมองต่อไปว่าก็ควรรีบจัดการให้เร็วที่สุด มันจะได้อยู่ในระบบที่เข้าที่เข้าทางและเข้าร่องเข้ารอยสักทีหนึ่ง การปล่อยให้ระบบแบบนี้ ซึ่งสามารถใช้องคาพยพของรัฐในการรังแกใครสักคนหนึ่งได้ เรายิ่งต้องทำให้มันกลับมาเป็นระบบปกติให้เร็วที่สุด เพราะมันไม่ใช่หมายความว่ามันรังแกแค่ผม แต่มันจะสามารถรังแกคนอีกจำนวนมากได้ เพราะมันไม่สนใจเรื่องความยุติธรรม ความถูกต้อง ความชอบธรรม”

ขณะเดียวกัน โรมยังเปิดเผยอีกว่าก่อนหน้านี้เคยมีผู้ใหญ่ของ คสช.ติดต่อมาขอให้ยุติการเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดความสงบ

“เขาชอบมาบอกว่าขอให้รอโรดแมปก่อน ถึงเวลานั้นก็แสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็โดนจับอยู่ดี อะไรที่เขาพูดไว้ก็ถูกเปลี่ยนตลอดเวลา จนบางทีหลักเกณฑ์มันอยู่ตรงไหนกันแน่”

“เอาง่ายๆ แค่เรื่องโรดแมป โรดแมปคือคำสัญญาอันใหญ่ของประเทศไทยและคนไทย หลังปี 2558 ผมไม่เคยเห็นโรดแมปจริงๆ แล้วทุกอย่างเลื่อนไปหมด ดังนั้นถามว่าวันนี้คนไทยรู้จริงๆ เหรอว่าโรดแมปของ คสช. คืออะไรกันแน่ และไม่มีใครสนแล้วว่าโรดแมปของ คสช.เป็นอย่างไร เพราะสนใจแค่ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ โอเค คสช.อาจจะบอกว่าช่วง ก.พ. เดี๋ยวรอดูนะ พอเราอยู่ช่วงใกล้ๆ ก.พ. คสช.จะบอกว่า เม.ย.”

“คือไม่เลื่อนยาว เพราะถ้าเลื่อนเยอะๆ มันจะเป็นเรื่องใหญ่ คสช.จะเดือดร้อน แต่พอมาเลื่อนแบบนี้ คนจะรู้สึกก้ำกึ่งว่าอีก 2 เดือน อีก 3 เดือนเอง แต่ขอโทษเถอะ การที่เรารอแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะมีความเสียหายมากขนาดไหน ยกตัวอย่าง ครม.ผ่านงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนเท่าไหร่ ดังนั้นผมคิดว่าไม่ได้แล้ว ต้องสู้ตอนนี้ คสช.สัญญาไว้แล้ว แต่ผิดสัญญาอีก แล้วเราจะเชื่ออะไรได้อีก”

“ผมเคยคุยกับ คสช.ที่เป็นฝ่ายกฎหมาย เขาจะบอกว่าเขาเข้าใจพวกเราเสมอ และบอกว่าเขาเป็นทหารประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เพิ่งทำการรัฐประหารมาเมื่อไม่นาน ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจอะไรเลย แต่เขาพยายามใช้จิตวิทยาว่าเราก็เป็นพวกของคุณ”

“ผมคิดว่าเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย เขาไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองด้วยซ้ำ ถ้าเขาเข้าใจ เขาจะเรียนรู้ว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการ และไม่สนใจกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

 

"คสช.ออกไป...ทุกอย่างจบ สร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคม" รังสิมันต์ โรม

นอกจากนี้ “โรม” ยังเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว ซึ่งหล่อหลอมและเป็นปัจจัยตัดสินใจให้เข้ามาทำกิจกรรมทางการเมือง

“บ้านแม่ผมเป็นครอบครัวทหาร ผมเคยอยู่ค่ายวชิราวุธที่นครศรีธรรมราช ผมรู้ดีว่าค่ายทหารเป็นอย่างไร แต่ที่ต้องออกมานั้น เราเรียนหนังสือที่มีหลักการขั้นพื้นฐาน พอออกมาจากห้องเรียน อ้าว ไม่ได้เป็นอย่างที่เรียนกันหรือเปล่า เราคิดแบบง่ายๆ ทำไมเราไม่ทำให้มันเกิดขึ้นในแบบที่มันควรจะเป็น”

“ถ้าเราสามารถสร้างประเทศนี้ให้มันดีกว่านี้ได้ ทำไมเราไม่ทำให้มันเกิดขึ้น การที่เราอยู่ในประเทศนี้และเรารู้สึกสิ้นหวังว่าเราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรให้มันดีกว่านี้ได้ มันเป็นสิ่งที่เราถูกหลอกอยู่ตลอดเวลา ดูอย่างญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ทำไมเขาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ แสดงว่าความหวังมันยังมี”

“ทำไมเราไม่เอาความรู้สึกว่าที่เราอยากเห็นประเทศของเราเป็นแบบนี้มาทำให้เกิดขึ้นจริง ผมเลือกแล้ว ผมขอสู้เพื่อประเทศชาติ เราชอบไหมละกับระบบอุปถัมภ์ เราชอบไหมกับการทุจริต เราชอบไหมกับการที่นักการเมืองโชว์ความกร่างในสภา ถ้าเราไม่ชอบ ทำไมเราไม่เปลี่ยน”

“ผมคิดว่าคนที่คิดคล้ายๆ ผมว่าสังคมไทยมีปัญหาและควรเปลี่ยนแปลงน่าจะมีเยอะ คนรุ่นๆ ผมเรารู้หมดและต้องการให้สังคมไทยดีกว่านี้ แต่ปัญหาของเรื่องคือ แต่ละคนไม่ได้มองวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตรงกัน อย่างผมมองว่าเราต้องลงมือทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วง แต่คนอื่นอาจไม่ได้มองอย่างนั้น”

พอถามถึงเป้าหมายในชีวิต “โรม” หัวเราะก่อนบอกว่า “เอาจริงๆ เปลี่ยนหลายครั้งมากเลย ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นทหาร ตอนเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมอยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการเลยมาเรียนนิติศาสตร์ เรียนไปได้หนึ่งเทอมเริ่มรู้สึกว่าอยากเป็นอาจารย์ ผมสามารถพูดได้ว่าคนที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ผมยังมีแรงทำอะไรเพื่อประเทศชาติ คือ อาจารย์ปิยบุตร และอาจารย์วรเจตน์ ถามว่าวันนี้ผมยังอยากเป็นอาจารย์หรือไม่ ผมก็ยังอยากเป็นอยู่นะ”

“ถ้าเราอยากจะทำให้การรัฐประหารในสังคมไทยหมดไป เราต้องเห็นการใช้กระบวนการยุติธรรมกับคณะรัฐประหารให้ได้ ถ้าเราใช้ได้ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าถ้าใครจะรัฐประหารต้องคิดให้ดี แล้วมันจะจบ”

สุดท้าย “โรม” เข้าใจดีว่าการต่อสู้ในครั้งนี้ไม่ได้ง่าย เพราะคนในสังคมไทยยังมีความระแวงต่อการเคลื่อนไหวชุมนุม แต่ยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพราะสังคมไทยไม่ควรอยู่ในสภาพแบบนี้อีกต่อไป 

“ยอมรับว่ามันไม่ง่าย เคยได้ยินว่าบางม็อบต้องใช้เงินวันละ 20 ล้านบาท เงินแค่ 1 ล้านบาทผมยังไม่มีเลย การทำม็อบคือการทำประชาสัมพันธ์ ที่คุณต้องบอกว่าการมาร่วมกันมีความสำคัญอย่างไร ถามว่าเราไปถึงจุดที่ส่งข้อมูลข่าวสารไปถึงทุกคนได้หรือไม่ เราก็ยอมรับว่ายังไม่ถึงจุดนั้น”

“คุณไม่มาร่วมชุมนุม ไม่มีทางหรอกที่คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คุณล่ารายชื่อ 3 แสนรายชื่อเพื่อแก้ไขกฎหมายคอมพิวเตอร์แล้วได้ผลหรือไม่ ไม่มีหรอก กลับกันถ้าคน 3 แสนคนมาเดินที่ราชดำเนิน คุณคิดว่าแบบไหนจะมีผลมากกว่ากัน”

“ผมอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมของคนทุกคน พูดแบบนี้ดูเหมือนง่าย เราอาจจะไม่ได้แก้ไขทุกเรื่องให้มันดีได้ทั้งหมด การทุจริตอาจจะยังอยู่ แต่ถ้าสังคมเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับเรื่องพวกนี้ เราจะไปได้ไกล”โรม ทิ้งท้าย