posttoday

ส่องนวัตกรรมช่วยผู้สูงวัย 2 สิ่งประดิษฐ์จากค่ายจุฬาฯ

17 มีนาคม 2561

ปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมายถูกคิดขึ้นเพื่อเข้ามารองรับเตรียมการดูแลคนกลุ่มผู้สูงวัย

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ยากที่จะปฏิเสธว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ สังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยลงและประชากรที่อยู่ในยุคเบบี้บูมเมอร์กำลังเข้าสู่ช่วงอายุ 60-70 ปี ปัจจุบันจึงมีนวัตกรรมมากมายถูกคิดขึ้นเพื่อเข้ามารองรับเตรียมการดูแลคนกลุ่มนี้

พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวช่วยสำคัญในหลายด้าน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ในสังคมอีก 10-20 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพิงคนอื่นน้อยที่สุดและพึ่งตัวเองได้มากที่สุด

ทั้งนี้ การจัดสรรนวัตกรรมให้รองรับผู้สูงอายุต้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกคือ "กลุ่มติดสังคม" กลุ่มนี้ต้องส่งเสริมให้มีชีวิตนอกบ้านได้ มีอิสระอย่างปลอดภัย เช่น มีระบบติดตามตัว มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ติดแทร็กกิ้งซิสเต็มได้ เพื่อสามารถดูกิจกรรมในแต่ละวันได้ เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงนวัตกรรมเรื่องอาหาร เช่น น้ำผลไม้ที่มีวิตามินครบ แต่ไม่มีน้ำตาล

กลุ่มที่สอง คือ "กลุ่มติดบ้าน" คือกลุ่มที่เริ่มจะมีการออกจากบ้านได้น้อยลง มีข้อจำกัดอย่างการเดินหรือการขึ้นรถ กลุ่มนี้เราก็จะเน้นเรื่องของเทเลเมดิซีน หรือระบบการรักษาทางไกล เช่น มีเครื่องวัดสัญญาณชีพความสบายของคนไข้ ส่งไปหาแพทย์

กลุ่มที่สาม คือ "กลุ่มติดเตียง" ซึ่งเราต้องมีการดูแล เช่นเรื่องของอัลไซเมอร์ อาการสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมอง ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง มีการกายภาพบำบัดบริหารสมองด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ

"ตอนนี้เรามีผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่สามารถรอพึ่งพาเพียงการรักษาทางการแพทย์ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ช่วยแบ่งเบาปัญหานี้ได้คือ การออกกำลังสมอง ถ้าสามารถออกกำลังสมองได้ถูกวิธีก็ป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของสมองได้ จึงมีการคิดสิ่งประดิษฐ์เกมคลื่นสมอง ซึ่งเคยได้รางวัลเหรียญทองนวัตกรรมทางสมองระดับโลก ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ออกมา เป็นหมวกที่จะเก็บสัญญาณคลื่นสมองแล้วผ่านโปรแกรม ที่ต้องตั้งสมาธิให้เกมวิ่งเร็วผู้เล่นเองก็จะรู้ได้เลยว่า ตอนนี้ตัวเองสมาธิดีและจำได้ว่าสมาธิดีจะต้องทำอย่างไร ต้องฝึกตัวเองอย่างไร" อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

พญ.โสฬพัทธ์ เล่าด้วยว่า ผลตอบรับจากผู้สูงวัยที่ใช้บริการเกมคลื่นสมอง ระบุตรงกันว่า เมื่อก่อนลืมง่าย แต่หลังจากที่ใช้เครื่องนี้ก็สามารถจำได้หรือสามารถอ่านหนังสือได้จบเล่มเร็วขึ้น มีสมาธิจดจ่อได้ดีขึ้น เพราะการมีสมาธิจดจ่อน้อยลงหรือยากขึ้นเป็นธรรมชาติของผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์

ส่องนวัตกรรมช่วยผู้สูงวัย 2 สิ่งประดิษฐ์จากค่ายจุฬาฯ

 

ด้านอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ด้านกายภาพก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ดูแลและตัวผู้สูงอายุเองเช่นกัน

นวัตกรรมในส่วนนี้ ผศ.ไปรมา อิศรเสนา ณ อยุธยา ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า นวัตกรรมต่างๆ ที่ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คิดค้นกันขึ้นได้สำรวจพบว่าแต่ละบ้านที่ดูแลผู้สูงอายุประสบปัญหาอะไรบ้างที่ยังไม่มีเครื่องมือหรือนวัตกรรมเข้าไปช่วย ปัญหาดังกล่าวทำให้ได้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ กรณีที่อยู่ในช่วงอายุหรือเป็นผู้ป่วยขยับร่างกายไม่ได้

งานวิจัยการออกแบบเก้าอี้ช่วยยกตัวและเก้าอี้ล้อเลื่อนช่วยย้ายตัวผู้สูงอายุ เป็นผลงานวิจัยร่วมกับ รศ.นวลน้อย บุญวงษ์ อาจารย์พิเศษภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ร่วมกันพัฒนาออกแบบเก้าอี้ในการช่วยเคลื่อนย้ายตัวให้มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ช่วยเอื้อให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนย้ายตัวผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ภายในที่พักอาศัยได้ง่ายขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะมี 2 แบบ คือ เก้าอี้ช่วยยกตัว ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องการลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัย และช่วยกระตุ้นให้ออกกำลังแขนได้อย่างเหมาะสมในการโยกที่จับเก้าอี้เพื่อยกตัวขึ้นจากพื้น และเก้าอี้ล้อเลื่อนช่วยย้ายตัวจากเตียง มีโครงขาเป็นรูปตัวซี สามารถรับส่งตัว ผู้สูงอายุที่ระยะกึ่งกลางเตียง ซึ่งผู้ดูแลไม่ต้องใช้แรงยกตัว โดยกลไกของเก้าอี้จะช่วยสอดแผ่นรองนั่งเข้าไปซ้อนทับพื้นที่เตียงด้านข้าง และมีแผ่นรองนั่งติดกับแผ่นรองหลังและแผ่นรองเท้าที่สามารถปรับเลื่อนเข้าไปยังกึ่งกลางเตียง

นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น ศูนย์นวัตกรรมในภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นกลายเป็นงานวิจัยที่พร้อมผลิตในเชิงอุตสาหกรรม